xs
xsm
sm
md
lg

คุ้ยโคตรโกงเอาให้เคลียร์ปิดเงื่อนไขป่วนอย่าหยุดแค่ 12 คดีฉาว !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

กลายเป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่งให้รื้อฟื้นดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับ 12 คดีสำคัญในอดีตขึ้นมาพิจารณากันใหม่ เนื่องจากยังอยู่ในความสนใจของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นภาระต้องใช้เงินงบประมาณไปชดเชยความเสียหายให้กับเอกชน รวมทั้งมีหลายคดีที่รัฐเป็นโจทก์กำลังหมดอายุความ แทบทั้งหมดเป็นไปในลักษณะของ “ค่าโง่” โดยหลายคดีเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 - 2536 เป็นต้นมา

สำหรับ 12 คดีดังกล่าว ประกอบด้วย 1. คดีค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ 2. การฟ้องร้องสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ผู้ถือหุ้นฟ้องหน่วยงานรัฐเรียกค่าเสียหาย 1.4 แสนล้านบาท 3. การทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ภาครัฐต้องเสียค่าโง่กว่า 9 พันล้านบาท 4. โครงการโฮปเวลล์ หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ที่บริษัทเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท 5. คดีโครงการทางด่วนสายบางนา - บางพลี - บางปะกง วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ที่เอกชนได้ฟ้องกว่า 6 พันล้านบาท 6. คดีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลต้องฟ้อง 7. คดีบริษัท วอลเตอร์ บาว จำกัด ฟ้องรัฐบาลในโครงการก่อสร้างโทลล์เวย์ เป็นมูลค่า 36 ล้านยูโร ฐานผิดสัญญา 8. คดีข้อพิพาททีโอทีกับเอไอเอสที่มีความเสียหาย 7.2 หมื่นล้านบาท 9. คดีโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ 10. คดีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในคดีการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 11. คดีของนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในคดีจีทูจี และ 12. คดีจีทูจีซึ่งมีภาคเอกชนเกี่ยวข้อง 14 ราย

แน่นอนว่า ทุกคดีล้วนเป็นเรื่องใหญ่ ล้วนคาราคาซังอยู่ในความจดจำของชาวบ้านมาตลอด เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่ไม่สะเด็ดน้ำสักที บางคดีรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายกับเอกชน เช่น กรณีค่าโง่คลองด่านจำนวนกว่า 9 พันล้านบาท ที่ในที่สุดก็ต้องสำรองเงินงบประมาณไปชำระ มีการเอาผิดกับข้าราชการได้เพียงบางคน ขณะที่นักการเมืองที่เป็นตัวการใหญ่กลับยังลอยนวล

อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้วหากพิจารณาจากคดีดังกล่าว นี่ล้วนเป็นสาเหตุที่ต้องมีการปฏิรูป “ล้างประเทศ” กันอย่างขนานใหญ่กันในตอนนี้ โดยเฉพาะการหามาตรการป้องกันการทุจริตกันอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันทุจริจจากนักการเมืองและข้าราชการ

ขณะเดียวกัน แม้ว่าหากพิจารณากันในมุมของชาวบ้านทั่วไป การสั่งรื้อฟื้นคดีทุจริตแบบ “โคตรโกง” แบบนี้ย่อมต้องชื่นใจ เพราะอยากเห็นมานานแล้วโดยเฉพาะความต้องการให้ลากคอคนทำผิดมาลงโทษ มีการยึดทรัพย์ใครก็ตามที่ร่วมกระทำผิด ไม่ว่าจะป็นนักการเมือง ข้าราชการรวมทั้งเอกชนก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้ลอยนวล ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปกับการกาลเวลา

แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่กลับกลายเป็นว่ามีบางกลุ่ม บางพวกเห็นว่าการตรวจสอบขุดคุ้ยเรื่องทุจริตดังกล่าวด้วยความไม่พอใจ มองด้วยสายตาหวาดระแวงว่านี่คือเจตนาของฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะกลุ่ม ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และครอบครัว

ล่าสุด มีเสียงตอบโต้ออกมาจากพรรคเพื่อไทย จากมวลชนของพรรคเพื่อไทย ของครอบครัวชินวัตรผ่านทาง จตุพร พรหมพันธุ์ และคนอื่น ๆ ที่เป็นแกนนำคนเสื้อแดง การรื้อฟื้นคดีทุจริตที่มี ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลย หรือถูกกล่าวหา จะเป็นชนวนทำให้ชาวบ้านฝ่ายสนับสนุนไม่พอใจและลุกฮือขึ้นมาได้

สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับครอบครัวชินวัตร ที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม ก็คือ คดีความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว การทุจริตจากโครงการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากองคมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ให้มีการกำหนดเป็นคุณสมบัติข้อห้ามนักการเมืองที่เคยมีคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจากคดีทุจริตห้ามเข้าสนามการเมืองตลอดชีวิต

พวกเขาก็อ้างว่าการออกข้อห้ามแบบนี้มีเจตนาทำลายฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นว่าคนพวกนี้ไม่เคยยอมรับว่ากระทำผิด รวมไปถึงไปยกข้ออ้างในเรื่องนโยบายประชานิยมที่ชาวบ้านชื่นชอบมากลบเกลื่อนความผิดเหล่านั้นไปเสียอีก กลายเป็นว่าคนในครอบครัวมีอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย โดยอ้างว่า “ไม่ยุติธรรม” หรือถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองเสียอีก

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากันอย่างรอบด้านก็พอเข้าใจอารมณ์อันพลุ่งพล่านของคนพวกนี้ และมีหลายคดีที่ยังไม่เคลียร์ยังคาใจชาวบ้านที่ไม่ยอมรับเรื่องการทุจริต และเมื่อมีการรื้อฟื้น หรือดำเนินคดีที่มีครอบครัวชินวัตรเข้าไปเกี่ยวข้องทุกครั้งก็มักจะมีการเปรียบขึ้นมาให้เห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนทั้ง 396 แห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจีที 200 เป็นต้นก็ต้องรื้อมาตรวจสอบกันทั้งหมดพร้อม ๆ กัน เพื่อความกระจ่างและลดเงื่อนไข ป้องกันการพูดกลบเกลื่อนในทำนองว่า “มึงก็ชั่ว”

ดังนั้น จะละเว้นไม่ได้เป็นอันขาด และเพื่อลดข้อครหาและลดเงื่อนไขการปลุกระดมแบบส่งเดชมันก็ถึงเวลาที่ต้อง “เคลียร์” กันทุกเรื่องทุกคดีเพื่อป้องกันเรื่อง “คาใจ” เพราะบางคดีอย่างเช่น คดี ปรส. ดำเนินการไปถึงไหนจบอย่างไร คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทั่วประเทศ ก็ต้องอธิบายให้ชัด หรือมีการอธิบายกันไปแล้วก็ต้องอธิบายกันให้ให้เป็นเรื่องเป็นราว ปิดเงื่อนไขให้หมด หรือแม้กระทั่งคดีการจัดซื้อจีที 200 ก็ต้องเคลียร์ ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีเรื่องนินทาตามมาไม่จบสิ้น

ในเมื่อประกาศการปราบปรามทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ อยู่ในเส้นทางปฏิรูปกันอย่างขนานใหญ่ ถึงเวลาต้องดำเนินการ ซึ่งในความหมายภายใต้กลไกของกระบวนการยุติธรรม กระบวนการศาลเป็นผู้ชี้ขาด เมื่อไปถึงตรงนั้นไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ได้ และมั่นใจความวุ่นวายในบ้านเมืองที่คาราคาซังมานานก็จะจบลง !!
กำลังโหลดความคิดเห็น