ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ประชานิยมเมื่อครั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ่นพิษไม่หยุด ผู้เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกจำนวนไม่น้อยประสบวิกฤติทางการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ภาครัฐจ่อเรียกเงินภาษีคืนจ้าละหวั่นกว่า 6,470 ราย เคราะห์ซ้ำ กรรมซัดต้องแบกรับหนี้โหดจากไฟแนนซ์ ชำระค่างวดช้าคิดค่าทวงถามทางโทรศัพท์ 300- 500 บาท หรือค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดโดนฟันค่าปรับกว่า 6,000 บาท นี่ยังไม่รวมดอกเบี้ยบานตะไทที่เกิดขึ้นมาอีกเป็นหางว่าว!
งานนี้เรียกว่าเอกชนเอาเปรียบผู้บริโภคกลายๆ จนมีการร้องเรียนไปทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นับพันราย สำหรับประเด็นสัญญาเช่าซื้อที่ไม่เป็นธรรมไม่ว่าจะกรณี รถยนต์ บ้าน คอนโด ฯลฯ ดูเหมือนจะมีช่องทางที่กฎหมายเว้นว่างจนผู้ประกอบการฟันเงินค่าโง่จากผู้เช่าซื้อจนหัวแบะ
แน่นอนว่า หน่วยงานด้านพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมีหน้าที่ดูแลสิทธิประชาชนให้เป็นไปอย่างชอบธรรม สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ พูดคุยกับ อําพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ครั้นประชาชาชนโดนเอาเปรียบเรื่องสัญญาเช่าซื้อต่างๆ สคบ. จะคืนความยุติธรรมได้หรือไม่? หรือสุดท้ายแล้วก็เป็นเพียง 'เสือกระดาษ' อย่างที่เขาลือกันว่าไม่มีอำนาจจัดการใดๆ เลย
ประชาชนจำนวนไม่น้อยประสบวิกฤตการเงินค้างชำระค่างวดรถยนต์ผ่อนไม่ไหว นอกจากแบกรับอัตราดอกเบี้ยสูงตามสัญญาเช่าซื้อ ยังต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนสูงมาก ทาง สคบ. ให้ความเป็นธรรมในประเด็นนี้อย่างไร
3 ปี ที่ผ่านมา มีเรื่องร้อง 1,386 ราย เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ส่วนมากจะเป็นผู้เช่าซื้อในโครงการรถคันแรก เรื่องเก็บค่าปรับค้างชำระ คือข้อสำคัญที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้บริโภคขาดวินัยทางการเงิน ค้างชำระค่างวดเขา ต้นเหตุมันอยู่ตรงนี้ ซึ่งหลังจากเกิดการค้างค่างวด สคบ. มีกฎหมายว่าการที่คุณจะเช่าซื้อรถยนต์ หรืออะไรก็ตามต้องมีการประกาศของคณะกรรมการควบคุมในเรื่องของสัญญา ตัวกฎหมายบอกไว้ชัดเจน ..เมื่อผู้บริโภคผิดนัดผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผิดนัด แล้วถ้าเกิดบอกกล่าวไปแล้วและเขาผิดนัด 3 งวดติดกันเลย เขาจึงจะมีสิทธิที่ยึดรถได้.. แต่การยึดจะต้องแจ้งให้เขาทราบได้นะ ไม่ใช่อยู่ๆ ไปจู่โจมยึดรถเขา
ที่นี้สิ่งที่เกิดขึ้น จากผู้ประกอบการคุณมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการติดตาม การที่เขาผิดนัดแล้วเกิดค่าติดตามทวงถามอาจจะเป็นทางโทรศัพท์ คุณสามารถคิดได้แต่ต้องคิดอย่างเป็นธรรม แต่ทีนี้ไม่เป็นธรรมนะสิ ก็เป็นปัญหา! ตัวกฎหมายระบุอย่างนี้แต่ปรากฏว่าค่าติดตามทวงถามมันสูงเกิด เรื่องดอกเบี้ยโหดทั้งหลายเราก็มีกฎหมายอยู่แล้วว่าคุณจะคิดดอกเบี้ยได้ในขนาดไหนมันมีกฎหมายบังคับใช้อยู่ แต่ว่ากฎหมายเดิมบังคับไว้ไม่ถึงไม่สามารถเอาผิดผู้ประกอบการไม่ได้เขาเลยอาศัยช่องว่างตรงนี้ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาของ สคบ. เราก็ได้เรียกทั้ง 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ยแล้วเจอกันครึ่งทาง ที่ผ่านมาแก้ปัญหาไปได้ 80 เปอร์เซ็นต์จากการเจรจา มีจำนวนน้อยที่ตกลงกันไม่ได้แล้วไปถึงขั้นตอนการฟ้องร้อง เพราะว่าผู้ประกอบการเองเขารู้ว่ากฎหมายกำหนดไว้แค่ไหน เขาก็ต้องลดลงมาไม่เกินกฎหมายบังคับก็เลยยอมลงมา ขณะเดียวกันผู้บริโภคเมื่อเราแจ้งกฎหมายแล้วคุณทำผิดก็คือผิด ผิดชำระค่างวดคุณก็ต้องยอมรับสภาพตรงนี้
จริงๆ แล้วค่าติดตามทวงถามมันไม่เยอะหรอก เพราะกฎหมายระบุแล้วว่าต้องเป็นธรรมด้วย เรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกินขึ้นจริง อย่างเช่น ค่าโทรศัพท์ทวงถามครั้งเดียว คิดเงิน 300 บาท มันไม่ได้ มันไม่เป็นธรรมแล้วอย่างนี้ก็ร้องมาที่ สคบ. ได้เลย เราจะตรวจสอบผู้ประกอบการที่ติดตามทวงถามถึงความเป็นธรรม คุณแจงมาเลย คุณติดตามทวงถามตรงนี้คุณใช้เงินเท่าไหร่ คุณบอกมาสิ เรียกว่าเราไม่ให้คุณเอาเปรียบผู้บริโภคได้ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ถึง 300 หรอก คิดตามจริงโทรศัพท์ 1 ครั้ง อย่างมากไม่เกิน 50 บาท
กรณีที่มีการพิสูจน์ได้แล้วว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม ตรงนี้เขาจะได้รับเงินคืนหรือเปล่า
ผู้บริโภคเองเมื่อมาร้องเรียนแล้วเราต้องตรวจสอบเคสของเขาว่าประเด็นอะไร ต้องเข้าคณะกรรมการพิจารณา เพราะแต่ละรายเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน ต้องมาดูว่าคณะกรรมพิจารณาความเหมาะสมว่าอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นตรงนี้เราไม่สามารถบอกตายตัวได้ เพราะแต่ละเคสที่ร้องเข้ามาไม่เหมือนกัน เราจะดูว่าการที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบนั้นผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมตรงไหน จะใช้ความรู้สึกของคนใดคนหนึ่งไม่ได้ สคบ. จะมีคณะกรรมการพิจารณาต้องดูทั้ง 2ฝ่าย แล้วหาจุดสรุปที่ลงตัวว่าตรงไหนเหมาะสม แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ สคบ. จะเป็นโจทก์ฟ้องแทน ถ้าเห็นว่าผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรม
เรามีคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องสัญญา ถ้าผู้บริโภครู้สึกว่าโดนเอาเปรียบมาก มาร้องเรียนได้ที่ สคบ. ถ้าเคสที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเราจะเอาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการทันที แต่ถ้าเคสที่เกิดขึ้นมาแล้วเราจะมีแนวการตัดสินแจ้งท่านได้
พิจารณาดูแล้วสัญญาเช่าซื้อต่างๆ มักจะเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสัญญา
ไม่ใช่เสียทีเดียวนะครับ เพราะว่าสัญญาทุกสัญญาผู้ประกอบการก็ระมัดระวังเพราะถ้าเกิดกระทำผิดกฎหมายเรามีโทษนะ อย่างเช่นประกาศไว้ว่า คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องรถยนต์ คุณจะทำตรงนี้ๆ ไม่ได้ มีโทษเลยนะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าคุณทำผิดจากที่เราได้ประกาศทางกฎหมาย เป็นสิ่งที่เขาต้องรู้ไม่ใช่ว่าจะเขียนสัญญาอย่างไรก็ได้ เพราะว่าในสัญญานี้จะมีกฎหมายควบคุม ไม่ว่าเป็นเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เรื่องรถยนต์ เรามีประกาศเป็นฉบับเป็นเคสเป็นเรื่องๆ ไป ทำผิดเมื่อไหร่ก็โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ผู้ประกอบการเองถูกควบคุมอยู่โดยตัวกฎหมาย
สาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะพวกเขาไม่อ่านสัญญาให้ถี่ถ้วน หรือเป็นลักษณะที่อ่านสัญญาแล้วยอมรับสภาพหนี้
ที่ผ่านมาปัญหาคือ ไม่อ่านสัญญา ผู้บริโภคไม่อ่านสัญญาที่ผู้ประกอบการร่างมาทั้งหมด และบางครั้งผู้ประกอบการเองร่างสัญญาแบบตัวเล็กมาก แล้วเวลาเซลส์ผู้แทนของบริษัทมาบอกขายกับผู้บริโภคก็จะพูดแต่สิ่งที่เขาอยากจะพูดและเป็นประโยชน์กับเขาในสัญญา แต่สิ่งที่จะเสี่ยงให้ผู้บริโภคไม่เอาด้วยไม่พูดถึง เหมือนการประกันภัยผู้สูงอายุรูปแบบเดียวกัน พูดแต่สิ่งที่ดีๆ ไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ในสัญญากลับเขียนเอาไว้ล็อกเอาไว้ในทำนองที่ว่า ถ้าเกิดมีปัญหาเรื่องสุขภาพอะไรภายใน 2 ปี จะจ่ายเพียงค่าเบี้ยที่คุณจ่ายมาพร้อมกับค่าตอบแทนอีก 2 เปอร์เซ็นต์ จ่ายเพียงแค่ 102 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลของตัวเบี้ยประกันที่จะได้รับจริงต้องหลังจาก 2 ปีไปแล้ว ตัวนี้ปรากฏว่าเขียนไว้ในสัญญาแต่ผู้บริโภคไม่ได้อ่าน เพราะฉะนั้น พอมีเรื่องพิพาทเกิดขึ้นมีการร้องเกิดขึ้นปั๊บ เราก็ต้องเอาสัญญามาดู สคบ. มาศึกษารายละเอียดพบว่าล็อกเอาไว้แล้ว และผู้บริโภคก็เซ็นชื่อรับรู้เอาไว้เรียบร้อย เพราะฉะนั้นจึงไปเอาผิดกับผู้ประกอบการยากเพราะเขาล็อกเอาไว้ในตัวสัญญาที่เป็นกรมธรรม์ เหมือนกันกับรถยนต์เราจะดูตัวสัญญาตรงนี้ ต้องไม่ผิดกฎหมายที่เราควบคุมเอาไว้ นอกเหนือจากคุณไปรับสภาพกับผู้ประกอบการแล้วก็ต้องว่าไปตามสัญญานอกเหนือจากที่เราควบคุมไว้
เพราะฉะนั้นเรื่องบ้านก็ดี เรื่องรถยนต์ก็ดี หรือเรื่องประกันอีกหลายๆ เรื่อง ที่ทำสัญญา ล้วนสะท้อนว่านี่คือความบกพร่องของผู้บริโภคที่ไม่อ่านสัญญาให้ละเอียดก่อน ผมจึงแนะนำอยู่ตลอดว่าผู้บริโภคเวลาที่คุณต้องไปเซ็นสัญญาอะไรก็แล้วแต่ คุณอย่าเซ็นในวันนั้น ขอให้คุณเอากลับบ้านมาศึกษาให้ละเอียดและปรึกษาญาติพี่น้องพ่อแม่ที่รู้เรื่องช่วยอ่านทานให้เข้าใจก่อน แล้วถ้าเกิดอ่านทานจนเข้าใจดีแล้ววันหลังนัดไปทำสัญญา ถ้าตัวเองยังข้องใจสัญญาข้อไหนถามให้เคลียร์ก่อนแล้วจึงจะลงนาม เพราะว่าลงนามไปแล้วมันผูกพันทันที ตรงนี้ขอฝากประชาชนผู้บริโภคว่าก่อนเซ็นสัญญา ก่อนที่จะยืนยันสัญญาขอให้อ่านให้ละเอียดดูให้ละเอียดก่อนที่จะลงนาม เพราะว่าถ้าลงนามไปแล้วมันจะผูกมัดกับตัวเรา จะไปเรียกร้องอะไรค่อนข้างยาก โอกาสที่เราจะชนะมีน้อยมาก และอีกอย่างสัญญาบริษัทพวกนี้ก็ระมัดระวังอยู่แล้วไม่ให้ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น เราจะชนะได้เมื่อเขาทำผิดกฎหมายเท่านั้น
เหมือนอย่างเช่นสัญญาซื้อบ้านคอนโดมิเนียมทั้งหลาย สัญญาเกิดขึ้นว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมด ณ วันโอน ให้ผู้บริโภคก็คือผู้ซื้อกับผู้ขายก็คือผู้ประกอบการออกคนละครึ่ง ถ้าเขาเขียนสั้นๆ อย่างนี้คุณแพ้เขานะ และคุณสามารถมาร้อง สคบ. ได้นะ เพราะว่าผู้ประกอบการทำสัญญาไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะว่ากฎหมายเนี่ย ให้ผู้บริโภคหารครึ่งกับผู้ประกอบการได้มีเรื่องเดียวเท่านั้นคือค่าธรรมเนียมการโอน แต่ผู้ประกอบการจะไปบวกเอาภาษีธุรกิจเฉพาะภาษีเงินได้ของผู้ประกอบการ เอามาให้ผู้บริโภคหารซึ่งกฎหมายห้าม กฎหมายระบุไว้ว่าไม่ได้ ผู้ประกอบการต้องเป็นคนจ่าย 100 เปอร์เซ็นต์
แม้จะเซ็นสัญญาเช่าซื้อต่างๆ ไปแล้ว ถ้ารู้สึกว่าไมได้รับความเป็นธรรม ผู้บริโภคสามารถเข้าร้องเรียนต่อทาง สคบ. ได้เช่นกัน
เรียกว่าสัญญาไม่เป็นธรรม ดูแล้วไม่แน่ใจขอให้เอาสัญญานั้นมาปรึกษากับทาง สคบ. เราจะมีหน่วยงานเฉพาะว่าด้วยเรื่องสัญญา กองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสัญญา จะช่วยดูแลสัญญาทั้งหมดเลยไม่ว่าจะเป็นสัญญาว่าด้วยสินค้าหรือบริการเราจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ
สำหรับภารกิจหลักของ สคบ. มีอะไรบ้าง
รับเรื่องร้องเรียน ความไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านสัญญา โฆษณาที่ไม่เป็นจริงเป็นเท็จ หรือสินค้าไม่ติดฉลาก เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดมีการพบการกระทำความผิดหรือว่าผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบมาร้องที่ สคบ. ได้
ป้องกันปราบปรามการเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้น อย่างเช่นสินค้าที่เป็นอันตราย สินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพประชาชน อาหารในปัจจุบันมีสารปนเปื้อนเยอะมาก อย่างอาหารทะเลก็มีฟอร์มาลีน น้ำแข็งที่มาแช่อาหารทะเลก็ผสมฟอร์มาลีนซึ่งมันเป็นสารก่อมะเร็ง หรือพืชผักผลไม้ก็มียาฆ่าแมลงที่ฉีดพ่นไปแล้วยังไม่หมดอายุของมัน หรือปัจจุบันที่หนักว่านั้นคือเอาฟอร์มาลีนมาแช่พืชผักผลไม้เพื่อให้สดตลอดทั้งวัน เพราะฉะนั้นประชาชนถ้าคุณเห็นว่ามีอาหารที่เกี่ยวกับภัยผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้น แจ้ง สคบ.ให้เราไปตรวจสอบได้ครับ
หรือช่วงเทศกาลกินเจ เราก็มีการลงพื้นที่ตรวจสอบและได้รับการร้องเรียนเรื่องอาหารแพง การท่องเที่ยวธุรกิจโรงแรมทั้งหลายเราก็ไปดูล่วงหน้าก่อนช่วงเทศกาลการท่องเที่ยวแล้ว ว่าการจองห้องพัก จองอย่างไรโดยวิธีไหน จัดสรรอย่างไร เรียกว่าเหมือนกับเราไปยุ่งกับหน่วยงานอื่นด้วย เพราะเราเป็นหน่วยงานใหญ่ที่ดูแลผู้บริโภค ฉะนั้นเราก็จะดูว่าเรื่องนั้นในภาพใหญ่ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ถ้ามีกฎหมายเฉพาะเรื่องใดๆ จะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดูแล เราดูแลภาพรวมให้ ถ้าเจอปัญหาขึ้นมาเราจะแจ้งหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้น
การที่ทำงานเชิงรุกมากขึ้น สคบ. ต้องการลบคำสบประมาทเรื่องหน่วยงาน 'เสือกระดาษ' หรือใช่เปล่า
เพราะตรงนี้แหละ เลยทำให้ยุคผมเข้ามารับผิดชอบต้องไม่ให้เป็นเสือกระดาษ ต้องเอาจริงเอาจัง แล้วเราเลยทำงานเชิงรุกไม่นั่งอยู่กับที่ ส่วนที่ฟ้องร้องเข้ามาร้องเรียนเข้ามาเราก็ทำงานตามปกติ แต่เราจะทำงานเชิงรุกมากกว่า ก็คืออกไปป้องปรามเน้นป้องปรามมากกว่าที่จะดำเนินการตามกฎหมายปกติ เราจะป้องปรามไม่ให้เหตุเกิดไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ และเรามองว่าควรจะมี กองทุนเยียวยาความเสียหายเพื่อผู้บริโภค ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคได้ทันท่วงที
สคบ. พยายามจะให้จบที่การไกล่เกลี่ยมากกว่าดำเนินการฟ้องศาล เพราะถึงศาลเราจะชี้ให้เห็นเลยว่ามันช้า จะจบลงที่คณะกรรมการพิจารณา ทั้งกล่อม ทั้งขู่ โดยใช้เทคนิคที่ว่าเราเอาเหตุผลความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการที่มีหลากหลาย พูดจนกระทั่งผู้ประกอบการเห็นว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหนคุณเอารัดเอาเปรียบเขา ขณะเดียวกันผู้บริโภคเองคุณถูกเอารัดเอาเปรียบจริงหรือไม่ต้องพิสูจน์ตรงนี้ ถ้าพิสูจน์ได้แล้วเราก็นัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้จบลง เราจะเน้นการไกล่เกลี่ยไม่อยากให้ส่งเรื่องไปถึงศาล
หรือผู้ประกอบการบางรายสายป่านยาวใช้ระยะเวลาดำเนินการฟ้องร้องนาน ทาง สคบ. จะใช้มาตรการหนึ่ง ประจานคุณโดยอาศัยความร่วมมือกับสื่อมวลชน เมื่อไหร่คุณทำความผิดเราจะประจานคุณ ดำเนินการตามกฎหมายก็ว่าไปแต่เราจะประจานคุณด้วย ซึ่งภาคธุรกิจพวกนี้เขาจะกลัวมาก กลัวมากกว่ากฎหมายอีก พวกนักธุรกิจพวกผู้ประกอบการกลัวสื่อฯ มาก ถ้าเราไปประจานเขาลงสื่อเขาถือว่าบริษัทเขาอาจเจ๊งเลยนะ
สำหรับเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่ สคบ. เราจะทำให้เร็วที่สุดโดยการไกล่เกลี่ย เพราะฉะนั้นร้อยละ 80 เรื่องที่ร้องเข้ามาที่เราจบลงได้ ผมจึงแจ้งว่าต่อไปนี้ สคบ. จะไม่เป็นเสือกระดาษนะ เราจะร่วมมือกับสื่อมวลชนร่วมกันประจานพวกที่เอาเปรียบสังคม พวกที่ทำผิดกฎหมายผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายเราต้องประจาน แต่ถ้าผู้ประกอบการใดบริษัทใดทำดีเราก็มีการประกาศเกียรติคุณ มอบประกาศนียบัตรด้วยให้บริษัทคุณ เรียกว่าเราทำทั้งเชิงบวกและเชิงลบ
กล่าวทิ้งท้ายถึงการดำเนินงานของ สคบ. ในฐานะผู้พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคหน่อย
ถ้ามีเรื่องร้องเรียนโทรเข้ามาฮอตไลน์ 1166ซึ่งจะรับเรื่องไว้ทันทีแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะคัดกรองเรื่องแล้วส่งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนั้นเลย แล้วเจ้าหน้าที่เริ่มติดต่อประสานงานกับผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียน เพราะเราใช้เวลาให้เร็วที่สุด และจะแจ้งกลับไปยังผู้บริโภคให้ทราบ เราเน้นประสิทธิภาพ ให้บริการรวดเร็ว เพราะว่าเรามีกฎหมายอำนวยความสะดวกมาครอบเราอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะช้าไม่ได้ จะหลงลืมไม่ได้ ถูกทวงถามถูกสอบถามขึ้นมาต้องรีบตอบได้ว่าเรื่องของเขาอยู่ไหน แล้วถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเราโดยตรงและมีหน่วยงานเฉพาะ เราก็จะส่งต่อแต่เราก็จะรับเรื่องไว้เพราะเราเป็นศูนย์ราชการสะดวกตามนโยบายรัฐบาล เรียกว่าเรื่องของผู้บริโภคเรื่องอะไรก็แล้วแต่เรารับบริการไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าโทรศัพท์เอาเปรียบ สายการบินเอารัดเอาเปรียบคุณ เรารับหมดแต่รับมาเสร็จแล้วหน่วยงานไหนดูแลเราส่งต่อโดยการที่เราติดต่อประสานงานให้ว่าเรื่องที่คุณร้องมาตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่เราก็จะเป็นศูนย์ราชการสะดวกตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี
ภาพโดย ศิวกร เสนสอน