xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯย้ำพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องไม่ยอมรับความเลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำจดหมายข่าวรัฐบาล เพื่อประชาชน ฉบับที่ 12 มาแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน โดยตอนหนึ่งในคอลัมน์จากใจนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ภายหลังที่ตัดสินใจเข้ามายุติสถานการณ์ความขัดแย้งกันเองของคนในชาติ ที่ลุ่มๆดอนๆ มากว่า 10 ปี เพราะยอมไม่ได้ ที่จะเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของเราตกอยู่ในภาวะประเทศล้มเหลว และนับเป็นเวลา 1 ปีแล้ว ที่อาสาเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสำคัญของประเทศ ในการวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการปฏิรูปทุกมิติ และส่งเสริมประชารัฐ เพื่อสร้างประชาธิปไตยในแบบอย่างที่เหมาะสมกับสังคมไทย
เมื่อปลายเดือยก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสครั้งสำคัญ สำหรับการเปิดประตูบ้านให้ผู้นำประเทศต่างๆ เกือบ 200 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 และการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำ เพื่อรองรับวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ได้เห็นภายในบ้านของเราว่าปลอดภัยขึ้น สะอาดขึ้น น่าอยู่ขึ้น เพราะเรา "รู้รัก สามัคคี" ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราปัดกวาด ทุจริตคอร์รัปชัน และทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และให้เห็นความจริงใจของรัฐบาล โดยตัวชี้วัดความสำเร็จ คือความสงบเรียบร้อย และรอยยิ้มบนใบหน้าของคนไทย คนรายได้น้อยยิ้มได้ เพราะมีงาน มีรายได้ เกษตรกรยิ้มได้ เพราะรัฐไม่โดดเดี่ยว ไม่ละเลยปัญหา รัฐใส่ใจดูแลความเดือดร้อนของเกษตรกร และข้าราชการพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ เพราะไม่ถูกแทรกแซง และชี้นำ
สิ่งที่ตนแบ่งปันกับผู้นำประเทศต่างๆ ระหว่างการประชุมครั้งนี้ เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับประชาคมโลกมีอยู่ 2 ประการ คือประการแรก เราต้องเอื้ออาทรต่อกัน ลดความหวาดระแวง เดินไปด้วยกัน ไม่มีใครนำ ไม่มีใครตาม ไม้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่มีความแตกต่าง ไม่มีช่องว่างระหว่างกัน โดยตนเสนอหลักการ "ไทย+1+2+3" คือ เราและเพื่อนเรา จะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันเสมอ และแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมเป็นสะพานเชื่อมไทย-ภูมิภาค-ประชาคมโลก ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ประการที่สอง ได้เล่าที่มาความสำเร็จที่ประเทศไทยสามารถยกระดับตนเองจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนได้อย่างก้าวกระโดด ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน อันมีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนได้นำไปยึดถือเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตประจำวันด้วย
ทั้งนี้ อยากย้ำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเน้นการพัฒนาคน โดยเริ่มที่จิตใจ นอกจากต้องศรัทธาในความดีแล้ว เรายังต้องไม่ยอมรับความเลว ที่สำคัญเราต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตัว
ขณะที่คอลัมน์วาทะนายกรัฐมนตรี ได้นำถ้อยแถลงนายกฯ ตอนหนึ่งในการเสวนาระดับผู้นำในหัวข้อ "ยุติความยากจนและความหิวโหย" ในการประชุมใหญ่สหประชาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา นำมาเผยแพร่ว่า " แนวทางการพัฒนาประเทศของไทยได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชาญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน และทั่วถึง ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจของคนในชาติ ในทุกระดับ"

**ยื่นหนังสือ"บิ๊กตู่"นิรโทษฯ ทุกสีเสื้อ

เมื่อเวลา10.30น. วานนี้ (13ต.ค.) ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนคณะกรรมการญาติวีรชนฤษภา'35 นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการฯ พร้อมด้วย นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด ผู้เสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุมปี 53 เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กรณีการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ผ่านนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่อง
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศหลักการปรองดอง 3 ประการ 1. ต้องเป็นคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและถูกตัดสินแล้ว 2. ต้องอยู่ระหว่างการดำเนินคดี และ 3. ต้องไม่เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างหลบหนีกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ทุกฝ่ายต้องพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกองทัพ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเวลานั้นด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ทำรายการการศึกษา และข้อเสนอแนะแนวทางการปรองดอง เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรัฐบาลไปแล้ว ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับจกสังคมเป็นอย่างดี ที่เชื่อว่าจะยินยอมให้มีการนิรโทษกรรมในระดับต้นซอย ส่วนในระดับกลางซอยเห็นด้วยกับแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้
อย่างไรก็ตามการสร้างความปรองดองไม่สามารถใช้กฏหมายบังคับได้ แต่การนิรโทษ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความปรองดอง ซึ่งความขัดแย้งทางความคิดในอดีต สุดท้ายก็มีการนิรโทษกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสามารถยุติความขัดแย้งลงได้
ทั้งนี้ นิรโทษกรรม คือการลบล้างการกระทำผิดอาญา โดยมีกฎหมายออกมาภายหลังให้ผู้กระทำการนั้นไม่มีความผิด และพ้นความผิด กระบวนการนี้ไม่จำเป็นต้องรับโทษก่อน เพียงมีกฏหมายออกมาเท่านั้น คณะกรรมการจึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เร่งสร้างความชัดเจนในการสร้างความปรองดอง เพราะความขัดแย้งและเห็นต่าง เป็นเรื่องปกติของสังคม ซึ่งความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ว่าประชาชนสีเสื้อไหน ต่างก็ทำผิดกฏหมายที่มาจากต้องการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง รัฐบาลที่ใจกว้างควรแสดงเจตนาในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องโทษในช่วงนั้น ออกมาใช้ชีวิตปกติ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเอื้ออาทร และขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดองขึ้นมา โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายในการขับเคลื่อนสร้างความปรองดอง
กำลังโหลดความคิดเห็น