xs
xsm
sm
md
lg

“อนุพงษ์-ดอน” ส่งชื่อข้าราชการถึงนายกฯ พิจารณานั่ง สปท. อุบชื่อประธาน กรธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
“อนุพงษ์-ดอน” ส่งชื่อข้าราชการถึงนายกฯ พิจารณานั่ง สปท. เผยนายกฯ ยังอุบชื่อประธาน กรธ. หนุนปัดฝุ่นฉบับเดิม หากถูกคว่ำ “วันชัย” ค้าน ปชป.-พท.-กปปส.-นปช.เป็น กมธ. “จตุพร” จี้รัฐบาลศึกษาบทเรียนฉบับบวรศักดิ์

วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.), คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงการสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

แหล่งข่าวจากที่ประชุมเปิดเผยว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงสัดส่วนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยจะมีสัดส่วนของอดีต สปช.จำนวน 60-70 คน โดยจะห้ามตำแหน่งปลัดกระทรวงที่อยู่ในวาระดำรงตำแหล่งเข้ามาร่วม เนื่องจากปลัดกระทรวงมีงานที่รับผิดชอบมาก ขณะที่สัดส่วนของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กลับไปคัดเลือกสมาชิก สนช.ที่มีความเหมาะสม เข้าร่วมเป็น กรธ.ด้วย โดยมีกำหนดส่งรายชื่อทั้งหมดในวันที่ 22 กันยายนนี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะมาประกาศรายชื่อเองทั้งหมด ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจร่วมประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สหรัฐอเมริกา

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบแต่ละกระทรวงดำเนินการส่งรายชื่อเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวย้ำเพิ่มเติมในที่ประชุม ครม.ถึงคุณสมบัติว่าควรจะมีอะไร อย่างไรบ้าง โดยจะได้พิจารณาก่อนจะส่งรายชื่อตามสัดส่วนที่ได้กำหนด ซึ่งนายกฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตนจะพิจารณารายชื่อจากข้าราชการปัจจุบัน อดีตข้าราชการ นักกฎหมาย รวมถึงภาคเอกชน ซึ่งนายกฯ ได้บอกแล้วว่าแต่ละกระทรวงจะส่งมาตามสัดส่วนแล้วก็ต้องพิจารณาและปรับตัวเลขอีก ไม่ใช่ว่าส่งมาเท่าไร เอาเท่านั้น

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ส่งรายชื่อข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศจำนวน 5 รายชื่อ ให้นายกฯ พิจารณาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตามที่มีข้อสั่งการเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยมีทั้งข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่งและที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกเป็นไปตามความอาวุโส เข้าใจในสถานการณ์ของประเทศ รู้ถึงปัญหาบ้านเมือง และที่สำคัญคือต้องมีทางออกให้กับปัญหาบ้านเมืองด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่ารายชื่อที่ได้ส่งไปนั้นล้วนเป็นบุคคลคุณภาพ แต่จะได้รับการพิจารณาหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

อีกด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวว่า สนช.ได้มีการอภิปรายกันตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ซึ่งก็ไม่น่าจะมีความสับสนอะไรในตัวเลขการลงประชามติที่จะใช้เสียงชี้ขาดจากผู้มาใช้สิทธิ แต่ในเมื่อมีข้อเรียกร้องอยากให้มีความชัดเจน และหาก ครม.เห็นชอบให้มีการแก้ไข ทาง สนช.ก็พร้อมดำเนินการ ส่วนข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพิ่มเติมว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแล้วประกาศใช้นั้น ตนเห็นด้วยกับหลักการ เพราะจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางให้ประชาชนอุ่นใจว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า คสช.กำลังซื้อเวลา แต่กระบวนการจะเป็นอย่างไร คงต้องมีการหารือกันระหว่าง คสช. ครม. และสนช. แนวทางสามารถทำได้ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือทำประชามติถามควบคู่กับร่างรัฐธรรมนูญไปเลยว่า หากไม่เห็นชอบ จะให้นำฉบับไหนมาปรับแก้ก่อนประกาศใช้

นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงข้อเสนอของนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิก สปช.ที่เสนอแนะให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งสองกลุ่มการเมืองใหญ่ คือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (สปช.) เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ส่วนตัวแล้วอยากให้ 2 พรรคใหญ่ และ 2 กลุ่มการเมือง มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยการส่งข้อเสนอแนะเหมือนอย่างที่เสนอความเห็นให้กับ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว เนื่องจากคนที่จะลงสมัครเลือกตั้งไม่ควรจะเขียนกติกาเอง ทั้งนี้อยากจะปรับเปลี่ยนอะไร หรืออยากให้มีอะไรเพิ่มเติม ก็ส่งความเห็นข้อเสนอแนะมา เพื่อให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำไปประกอบการพิจารณาอีกที

“การที่จะให้ทั้ง 4 กลุ่มไปนั่งร่วมกันร่างกฎหมายเป็นกรธ.มีแต่จะสร้างความแตกแยกให้แต่ละฝ่าย เนื่องจากมีความคิดเป็นที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งยังจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปด้วยยาก เผลอๆ 6 เดือนก็ยังจะไม่เสร็จ เพราะมัวแต่ทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นมีส่วนร่วมด้วยการนำเสนอข้อคิดเห็นให้กับ กรธ.เพื่อให้นำไปพิจารณาหาความพอดีในการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป”

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ถึงการนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 มารวมกันแล้วใช้ใหม่ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านการลงประชามติ นายวันชัยกล่าวว่า ในเรื่องนี้คงจะต้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เนื่องจากยังไม่มีการเขียนมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์หากเป็นเช่นนั้นจริง หรือถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็อาจจะให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่า หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือไม่เท่านั้น สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็เป็นอำนาจของ คสช.ในการตัดสินใจหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวว่าจะมีการดำเนินการต่ออย่างไร

ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ “มองไกล” ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ ตอนหนึ่งว่า การแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรรมนูญ (กรธ.) ว่า สาระสำคัญไม่ใช่หาผู้มีความรู้ขั้นดอกเตอร์มาเป็น ประธาน กรธ. เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญ แต่ต้องหาคนที่มีหัวใจเป็นนักประชาธิปไตยมาเขียน โดยมีประชาชนเป็นหลังผิงเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้ายังเขียนรัฐธรรมนูญให้แอบอิงกับผู้นำแล้ว ต้องศึกษาบทเรียนของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับที่แย่ที่สุดของไทยเป็นตัวอย่าง เพราะถูกคว่ำและถูกผู้นำทอดทิ้งมาแล้ว การร่างรัฐธรรมนูญใครก็ทำได้ เพียงแต่กำหนดและตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร จากนั้นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายก็จะเขียนให้เป็นภาษากฎหมาย เบื้องหลังการเขียนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น ล้วนมีความต้องการสำเร็จรูปมาแล้วทั้งนั้น ส่วนการยกร่างเป็นเพียงการแสดงเชิงพิธีกรรมเท่านั้น ส่วนการเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) นั้น พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจึงไม่ควรเข้าไปร่วม เพราะอาจเป็นปัญหาตามมาในภายหลัง จึงควรอยู่ข้างนอก”

วันเดียวกัน มีจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับที่ 10 วันที่ 15 ก.ย. 58 โดยคอลัมน์ “จากใจนายกรัฐมนตรี” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า “สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน เดือนนี้ถือว่าเป็นช่วงครบรอบการทำงาน 1 ปี ของรัฐบาล ซึ่งในทั้ง 5 กลุ่มงาน อันประกอบด้วย ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายกิจการพิเศษ ล้วนมีความคืบหน้าตามลำดับ และแม้จะยังมีงานที่รัฐบาลต้องเร่งสะสางทั้งเพื่อการแก้ปัญหาเก่า และวางรากฐานใหม่อีกหลายประการ แต่ในภาพรวมผมพอใจในผลดำเนินการขอทุกกลุ่มงานและขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมให้งานแต่ละชิ้นสำเร็จลุล่วง และเชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือร่วมใจเหมือนเช่นที่ผ่านมาตลอดไป

ผมอยากอธิบายความรู้สึกให้พี่น้องผประชาชนรับทราบ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ ผมยอมรับเสมอว่าเรามิได้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และมิได้หวังคะแนนเสียงจากประชาชน ทุกสิ่งที่รัฐบาลทำจึงนำประโยชน์ในภาพรวมเป็นที่ตั้ง มิใช่ประโยชน์ของพวกพ้องหรือประโยชน์ของหัวคะแนนฐานเสียงต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การไม่หวังคะแนนเสียงจากประชาชนมิได้แปลว่าจะไม่ฟังเสียงประชาชน หลายนโยบายที่แม้รัฐบาลจะพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม แต่หากยังเกิดความคลางแคลงใจของพี่น้องประชาชนรัฐบาลก็พร้อมที่จะรับฟัง พูดคุย และหาข้อสรุปร่วมกัน เราเป็นรัฐบาลที่พร้อมยืนข้างพี่น้องประชาชนทุกคนไม่เลือกกลุ่ม ไม่เลือกสังกัด เราไม่มีการเมือง เรามีแต่ชาติไทย ประเทศไทย อันหนึ่งอันเดียวกัน

เรื่องที่ 2 คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายดูแลพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นผู้ที่สมควรได้รับการดูแล อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามจะวิเคราะห์ตีความกันว่าเป็นนโยบายประชานิยมไม่ต่างจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา

ผมอยากเรียนว่า เราได้รับบทเรียนหนักหนากันมากพอแล้ว และเรียนรู้ที่จะไม่กลับไปเดินบนเส้นทางสายเก่า ทุกนโยบายที่ประกาศออกไป จึงต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดความรั่วไหล งบประมาณต้องนำไปใช้เพื่อสร้างความแข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้ชุมชน และที่สำคัญที่สุดงบประมาณจากทุกนโยบาย จะต้องถึงมือพี่น้องประชาชนทุกบาททุกสตางค์ไม่ให้ใครมาหักเปอร์เซ็นต์ มาขอเงินทอนหรือกระกระทำการทุจริตได้ นี่คือความแตกต่าง และเราจะธำรงรักษาสิ่งนี้ไว้ตลอดไปครับ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจครับ”


นายดอน ปรมัตถ์วินัย
กำลังโหลดความคิดเห็น