xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ชวนคนไทยยึดพระราชดำรัส “พระราชินี” ร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” เขียนหนังสือชวนคนไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ยึดพระราชดำรัส “พระราชินี” ร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ด้าน ครม. ไฟเขียวขยายเวลา “โครงการตำบลละ 1 ล้านบาท” ช่วยเหลือเกษตรกรภัยแล้งใน 58 จังหวัด พร้อมเห็นชอบมาตรการประหยัดน้ำระยะสั้น - ระยะยาว อย่างเป็นระบบ

วันนี้ (28 ก.ค.) มีรายงานว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่จดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับที่ 7 ประจำวันที่ 1 ส.ค. 2558 โดยเฉพาะในคอลัมน์ “จากใจนายกรัฐมนตรี” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระบุตอนหนึ่ง ว่า

“เนื่องด้วยในช่วงวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าได้ร่วมใจกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประเทศ และประชาชนไทยมาอย่างนาน โดยเฉพาะพระราชดำรัสในเรื่องของการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พระองค์ท่านทรงแนะนำและทรงดำเนินพระองค์ให้พสกนิกรเป็นแบบอย่างมาโดยตลอด”

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ในช่วงวิกฤตจากความแห้งแล้งหลายพื้นที่ในหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันให้ชาวไทยทุกคนได้ตระหนักถึงพระปรีชาญาณที่ทรงเล็งเห็นการณ์ในอนาคต ประชาชนคนไทยควรจะเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในการใช้ทรัพยากรใช้น้ำอย่างรู้ค่า และช่วยกันถนอมทรัพยากรเหล่านี้ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาล ได้ยกเอาปัญหาภัยแล้งปีนี้มาเป็นความจำเป็นเร่งด่วนมาบริหารจัดการ เพื่อให้มีน้ำใช้ทั้งอุปโภคบริโภค เพื่อการดูแลระบบนิเวศและการเพาะปลูก เมื่อปริมาณน้ำไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องลดการใช้น้ำลง จึงขอความร่วมมือเกษตรกรที่ยังไม่ได้ลงมือเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมมือการชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน เพื่อให้เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งน่าจะทำให้มีน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานอีกครั้ง เช่นเดียวกับพื้นที่ทางการเกษตรหลาย ๆ ภาค ที่อาศัยแหล่งน้ำและน้ำฝนธรรมชาติ การเพาะปลูกสำหรับพื้นที่ทางการเกษตรที่ไม่อาจเพาะปลูกได้ รัฐบาลมีมาตรการยาและชดเชยการขาดรายได้อย่างเหมาะสม

“ผมขอเป็นตัวแทนประชาชนไทยกล่าวขอบคุณ จากใจสู่เกษตรกรทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ และเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมของประเทศชาติ การเสียสละของท่าน ทำให้เรายังคงเชื่อมั่นในคำว่า น้ำใจไทยไม่เคยแห้งเหือด ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด และเราจะฝ่าฟันไปด้วยกัน” จดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชนคำพูดของนายกรัฐมนตรี

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเรื่องภัยแล้ง ว่า วันนี้สถานการณ์ดีขึ้น มีปริมาณฝนตก และน้ำไหลเข้าเขื่อนหลักในพื้นที่ 4 เขื่อนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมากขึ้น ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมีมากกว่าน้ำที่ระบายออก และนายกฯระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าวางใจในเรื่องนี้ ต้องมีมาตรการดูแลเรื่องของการรณรงค์สร้างการรับรู้รับทราบว่าทุกฝ่ายทุกส่วนต้องร่วมกันประหยัดน้ำ ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้นที่ต้องเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ แต่ภาครัฐทุกหน่วยและประชาชนทั้งประเทศควรจะต้องช่วยเหลือกันในเรื่องนี้

“โดยเฉพาะมาตรการลดการใช้น้ำของหน่วยงานรัฐที่คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ เคยชี้แจงแล้วว่าในแนวทางที่ได้สำรวจตรวจสอบพบว่าหน่วยงานราชการในภาพรวมมีการใช้น้ำ 19% แล้วจึงมีแนวทางลดการใช้น้ำลงให้ได้ลงอีกอย่างน้อย 10% และมีการนำมาชี้แจงว่าแนวทางในการลดการใช้น้ำเป็นอย่างไร เช่น การตรวจสอบการรั่วของน้ำ ตรวจสอบอุปกรณ์ไม่ให้มีจุดรั่วซุ่ม และต้องรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการประหยัดน้ำ ซึ่งจะแจกจ่ายมาตรการให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทาง” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากสภาพอากาศเป็นใจ มีร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้ฝนตกกระจายหลายพื้นที่ จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยเช่นนี้ ทำให้ปฏิบัติการฝนเทียมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยในระหว่างวันที่ 20 - 27 ก.ค. ปฏิบัติการฝนเทียมทำให้น้ำไหลลงเขื่อนหลักรวม 202.73 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปฏิบัติการในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ดำเนินการในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน มีน้ำไหลเข้าเขื่อนหลัก ประมาณ100 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ดูมีแนวโน้มดีขึ้น แต่มาตรการประหยัดน้ำยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการลดการใช้น้ำในส่วนของหน่วยงานรัฐ ที่ใช้น้ำคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณการใช้น้ำทั้งประเทศ โดยตั้งเป้าหมายลดการใช้น้ำในส่วนของภาครัฐลงร้อยละ 10 ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจากปฏิบัติการฝนเทียม ในระหว่างวันที่ 20 - 27 ก.ค. ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล 47.58 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 122.62 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 46.19 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 4.48 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ครม. ยังเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นมาตรการประหยัดน้ำระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำประปาในกรุงเทพฯและปริมณฑลในครัวเรือนมีจำนวน 49% ภาคอุตสาหกรรม 32% ภาครัฐ 19% โดยที่ประชุม กนช. มีการตั้งเป้าหมายลดการใช้น้ำของหน่วยงานภาครัฐลงถึง 10%

สำหรับแนวทางการปฏิบัติเพื่อประหยัดน้ำอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย

1. การจัดตั้ง “คณะทำงานปฏิบัติการประหยัดน้ำ” ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักและความร่วมมือจากบุคลากรทุกระดับและทุกฝ่าย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน เพื่อสะท้อนถึงการให้ความสำคัญของการประหยัดน้ำในหน่วยงานภาครัฐ

2. จัดทำแผนปฏิบัติการประหยัดน้ำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในการประหยัดน้ำ โดยการลดปริมาณการใช้น้ำลงอย่างน้อย 10% เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำในปีงบประมาณปี 2557 โดยแผนแผนปฏิบัติการประหยัดน้ำควรมีความชัดเจนทั้งวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขั้นตอน วิธีการ และ ระยะเวลาในการปฏิบัติ รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อเป็นแนวทางและกรอบ ให้บุคลากรของแต่ละหน่วยงานถือเป็นหลักปฏิบัติ ในการดำเนินการประหยัดน้ำให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนด

3. ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประหยัดน้ำ

4. จัดกิจกรรม รณรงค์ เสริมสร้างความเข้าใจเพื่อให้บุคลากรมีจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมถึงการส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมในการลดการสูญเสียน้ำที่ไม่จำเป็น

5. ติดตามประเมินผลเพื่อทราบความก้าวหน้า และทิศทางการดำเนินงานของแผนงาน เปรียบเทียบกับเป้าหมายและกรอบเวลาของแผน ทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน พัฒนามาตรการประหยัดน้ำ ให้เข้มข้นขึ้นหรือยืดหยุ่นลงตามความเหมาะสม รวมถึงการวิเคราะห์ข้อจำกัดเพื่อหาทางแก้ไขมาตรการนั้น หรือการยกเลิกในกรณีที่ไม่เหมาะสมหรือไม่คุ้มค่า

ส่วนแนวทางปฏิบัติเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำที่ ครม. ให้ความเห็นชอบตามที่ กนช. เสนอ ประกอบด้วย

1. สำรวจตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำอย่างง่าย เพื่อลดการสูญเสียน้ำอย่างเปล่าประโยชน์

2. รณรงค์สร้างจิตสำนึกในการประหยัดน้ำ

3. ใช้สบู่เหลวแทนสบู่ก้อนเมื่อต้องการล้างมือ เพราะการใช้สบู่ก้อนล้างมือจะใช้เวลามากกว่าการใช้สบู่เหลว ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมากกว่า แต่การล้างมือด้วยสบู่เหลวที่เข้มข้น ก็จะใช้น้ำมากกว่าการล้างมือด้วยสบู่เหลวที่ไม่เข้มข้น

4. ไม่ทิ้งน้ำดื่มที่เหลือในแก้วโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด อาจนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ใช้ชำระพื้นผิวหรือใช้ชำระความสะอาดสิ่งต่าง ๆ ได้ เป็นต้น

5. ควรใช้เหยือกน้ำกับแก้วเปล่าในการบริการน้ำดื่ม ให้ผู้ที่ต้องการดื่มรินน้ำดื่มเอง และควรดื่มให้หมดทุกครั้ง

6. ล้างจานในภาชนะที่ขังน้ำไว้ จะประหยัดน้ำได้มากกว่าวิธีที่ปล่อยให้น้ำไหลจากก๊อกน้ำตลอดเวลา

7. การล้างรถยนต์ ไม่ควรใช้สายยางและเปิดน้ำให้ไหลตลอดเวลาขณะล้างรถ เพราะจะใช้น้ำมากถึง 400 ลิตร แต่ถ้าล้างด้วยน้ำและฟองน้ำในกระป๋อง หรือภาชนะบรรจุน้ำ จะลดการใช้น้ำได้มากถึง 300 ลิตร ต่อการล้างหนึ่งครั้ง และไม่ควรล้างรถบ่อยครั้งจนเกินไป เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองน้ำแล้ว ยังทำให้เกิดสนิมตัวถังได้ด้วย 8. นำหลักการ 3R คือ การลดใช้น้ำ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มาปรับใช้ตามความเหมาะสมกับหน่วยงาน

ตอมาเป็น แนวทางการปฏิบัติเพื่อการประหยัดน้ำ ระยะยาว ประกอบด้วย

1. รณรงค์ ส่งเสริม และปลูกฝังค่านิยมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและรู้คุณค่า รวมทั้งสร้างพฤติกรรมการประหยัดน้ำ

2. ออกแบบและติดตั้งระบบน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเก็บและจ่ายน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานไปสูบและจ่ายน้ำภายในอาคาร

3. กรณีที่อุปกรณ์ชำรุด จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ควรพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ที่ประหยัดน้ำทดแทน เช่น ก๊อกประหยัดน้ำ หัวฉีดประหยัดน้ำ เป็นต้น

4. ติดตั้ง Aerator หรืออุปกรณ์เติมอาการที่หัวก๊อกเพื่อช่วยเพิ่มอากาศให้แก่น้ำที่ไหลออกจากหัวก๊อกลดปริมาณการไหลของน้ำ ช่วยประหยัดน้ำ

วันเดียวกัน ครม. ยังอนุมัติการขอขยายระยะเวลาเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการสร้างรายได้ และการพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยมีมติ ครม. ในการอนุมัติให้มีโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง โดยมีพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้น 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2558 วงเงินตำบลละ 1 ล้านบาท สามารถนำไปดำเนินการการจ้างงาน การจัดเตรียมแหล่งน้ำในพื้นที่ การซ่อมถนน ขุดลอกคูคลอง โดยชุมชนเป็นผู้คิดงานเอง โดยคำปรึกษาจาก กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ ณ วันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 6,598 โครงการ วงเงินประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทเศษ จากการตรวจสอบ พบว่า ดำเนินการเรียบร้อยแล้วกว่า 5,425 โครงการ เหลือโครงการอีกประมาณ 1,100 กว่าโครงการ โดยดำเนินการทำแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ความล่าช้าอาจเกิดจากฝนตกในบางพื้นที่ หรืออาจมีการปรับรูปแบบของการก่อสร้าง การขุดลอก การปรับแนวทางของการซ่อมแซมถนน ทำให้โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ยืดระยะเวลาออกไป ขณะที่มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 2,700 ล้านบาท คิดเป็น 92% เหลือค้างการเบิกจ่ายอีก 200 กว่าล้านบาท คิดเป็นประมาณ 7% ทั้งนี้ คาดว่า ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมคงไม่แล้วเสร็จ จึงอนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไปให้จบสิ้นปลายเดือนสิงหาคมนี้ ขณะทีมีประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ประมาณ 900,000 ราย.


กำลังโหลดความคิดเห็น