xs
xsm
sm
md
lg

ศาลไม่รับ’ปู’ฟ้องอสส. นายกฯปัดใช้ม.44ยึดทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลอาญาไม่รับฟ้อง “อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์” ฟ้องอดีตอัยการสูงสุดกับพวกรวม 4 คน กรณีสั่งฟ้องคดีทุจริตจำนำข้าว ระบุจำเลยสั่งฟ้องชอบด้วยกฎหมาย "บิ๊กตู่"ย้ำ ไม่ใช้ ม. 44 สั่งยึดทรัพย์ ปมจำนำข้าว ลั่นทำตามกระบวนการยุติธรรม ย้ำ มีมาตรฐานเดียวใช้กับทุกพวก

ที่ห้องพิจารณา 712 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 ต.ค. ศาลอ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำ ที่ อท.25/2558 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) นายชุติชัย สาขากร ผู้ตรวจการอัยการ อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน คณะทำงานพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว และมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงการจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200

โดยวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่ได้มอบหมายให้นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความมาฟังคำสั่งคดี

ศาลพิเคราะห์คำฟ้องและข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ได้ ไต่สวนข้อสมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อนมีคำสั่งฟ้องนั้น เห็นว่าเมื่อ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นส่งให้อัยการสูงสุดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคสอง ให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหากอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าเรื่องที่ส่งมานั้นมีข้อที่ไม่สมบูรณ์และแจ้งข้อไม่สมบูรณ์นั้นไปยัง ป.ป.ช.

ในกรณีนี้ ให้อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งโดยมีผู้แทนของแต่ละฝ่ายในจำนวนที่เท่ากันเป็นคณะทำงานพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดกระบวนการทำงาน หน้าที่ของอัยการสูงสุด และอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานร่วมในการพิจารณาข้อที่ไม่สมบูรณ์ตามที่อัยการสูงสุดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เห็นชอบด้วยหรือไม่ และส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อไป

ซึ่งตามฟ้องโจทก์กล่าวเพียงว่าจำเลยที่ 1 มีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่แล้วเสร็จแต่โจทก์ไม่ได้บรรยายยืนยันว่าไม่มีการประชุมของคณะทำงานทั้งสองฝ่ายเพื่อพิจารณาหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะส่งฟ้อง โดยโจทก์อ้างคำสัมภาษณ์ของบุคคลจากรายงานข่าวว่ายังไม่มีการประชุมของคณะทำงานทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็เป็นข้อมูลจากสื่อมวลชน ไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างเป็นทางการ และปรากฏจากเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นคำแถลงข่าวของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยจำเลยที่ 3 แถลงสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 คณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้ว แสดงว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งฟ้องได้มีการประชุมของคณะทำงานร่วม

ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีความเห็นส่งฟ้องโจทก์กะทันหัน ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติถอดถอนโจทก์ ในคดีที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาโจทก์เพียง 1 ชั่วโมงนั้นเห็นว่า ในข้อนี้ไม่มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ว่าจะไปกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด อีกทั้งเรื่องการถอดถอนโจทก์ก็เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 56 (1) ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผูกพันกับผลการไต่สวนข้อเท็จจริงในความผิดทางอาญา คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นความเข้าใจของโจทก์เองว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานอัยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ มีเจตนากลั่นแกล้งฟ้องโจทก์ให้ต้องรับโทษแต่อย่างใด

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า สำนวนในคดีทุจริตจำนำข้าวเป็นการฟ้องอันเป็นเท็จในสาระสำคัญที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้กล่าวหาและยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ ต่อศาลฎีกาฯ โดยได้บรรยายฟ้องชัดเจนว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของโจทก์มีมูลความผิด ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นการบรรยายฟ้องตามข้อพิจารณาของ ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นการบรรยายฟ้องอันเป็นเท็จในสาระสำคัญในคดีของป.ป.ช.แต่อย่างใด สำหรับที่โจทก์อ้างว่าการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พวกจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานนอกสำนวนการสอบสวนของป.ป.ช.ที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดีนั้นเห็นว่า แม้พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจาณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 5 ให้ศาลยึดรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา แต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลหรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำและจำเลยมีสิทธิ์นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานโจทก์ได้อย่างแล้ว การกระทำของจำเลยทั้ง 4 จึงชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่อาจรับฟังด้วยว่าจำเลยทั้ง 4 กระทำผิดตามฟ้องให้ยกฟ้อง

ด้านนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความ กล่าวภายหลังว่า หลังจากนี้ต้องไปหารือกับทีมทนายความก่อน ซึ่งต้องขอคัดคำสั่งศาลโดยละเอียด เพื่อดูว่าจะมีข้อกฎหมายหรือประเด็นใดที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะอุทธรณ์คำสั่ง

ส่วนที่ก่อนหน้านี้เคยมีการเผยแพร่ข้อมูลทางกฎหมายผ่านสื่อโซเชียลของนักกฎหมายบางคน เห็นว่า การยื่นฟ้องของน.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ อาจเข้าข่ายเป็นการฟ้องเท็จนั้น ตนเห็นว่าการยื่นฟ้องครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการฟ้องเท็จ แต่เป็นการฟ้องไปตามข้อเท็จจริง เพียงแต่ที่ศาลวินิจฉัยวันนี้ระบุว่าเป็นความเข้าใจของโจทก์เองที่เห็นว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่มิชอบอย่างไร ดังนั้น ไม่ห่วงหากอีกฝ่ายจะฟ้องกลับ เพราเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการฟ้องไปมา ส่วนคดีทุจริตจำนำข้าวในศาลฎีกาฯ ที่ผ่านมาได้มีการตรวจพยานหลักฐานไปแล้ว ซึ่งเราก็พร้อมพิจารณาไปตามคดี

***"บิ๊กตู่"ย้ำ ไม่ใช้ ม. 44 สั่งยึดทรัพย์ ปมจำนำข้าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า กรณีที่มีคนออกมาพูดโดยไม่เข้ากันว่า ตนเองจะใช้ มาตรา 44 ไปลงโทษยึดทรัพย์ กรณีโครงการรับจำนำข้าว ตนไม่ทำอยู่แล้ว จะไปใช้อำนาจแบบนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องไปว่ามา ถ้าผิดก็คือผิด ไม่ผิดก็คือไม่ผิด ตนมาทำให้มันผิดก็ไม่ใช่ ถ้าผิด ก็มีกลไกอยู่แล้ว เรื่องการเรียกร้องค่าเสียหาย ทางคดีแพ่ง หรืออย่างอื่นก็ว่ากันไป ตนไม่อยากจะไปสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นเหมือนเดิมที่ถูกนำไปกล่าวอ้าง ว่าไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน

"กฎหมายมีมาตรฐานเดียว แต่คนบังคับใช้กฎหมายมีกี่มาตรฐาน แต่ผมใช้มาตรฐานเดียวกับทุกพวกทุกฝ่าย ทุกกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมให้ได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และกล่าวอ้างไม่ได้ ผมจะใช้เท่าที่จำเป็นในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหลัก" นายกฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น