ศาลอาญาไม่รับฟ้อง “อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์” ฟ้องอดีตอัยการสูงสุดกับพวกรวม 4 คน กรณีสั่งฟ้องคดีทุจริตจำนำข้าว ระบุจำเลยสั่งฟ้องชอบด้วยกฎหมาย
ที่ห้องพิจารณา 712 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 ต.ค. ศาลอ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำ ที่ อท.25/2558 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) นายชุติชัย สาขากร ผู้ตรวจการอัยการ อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน คณะทำงานพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว และมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงการจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200
โดยวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่ได้มอบหมายให้นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความมาฟังคำสั่งคดี
ศาลพิเคราะห์คำฟ้องและข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ได้ ไต่สวนข้อสมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อนมีคำสั่งฟ้องนั้น เห็นว่าเมื่อ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นส่งให้อัยการสูงสุดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคสอง ให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหากอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าเรื่องที่ส่งมานั้นมีข้อที่ไม่สมบูรณ์และแจ้งข้อไม่สมบูรณ์นั้นไปยัง ป.ป.ช.
ในกรณีนี้ ให้อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งโดยมีผู้แทนของแต่ละฝ่ายในจำนวนที่เท่ากันเป็นคณะทำงานพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดกระบวนการทำงาน หน้าที่ของอัยการสูงสุด และอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานร่วมในการพิจารณาข้อที่ไม่สมบูรณ์ตามที่อัยการสูงสุดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เห็นชอบด้วยหรือไม่ และส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อไป
ซึ่งตามฟ้องโจทก์กล่าวเพียงว่าจำเลยที่ 1 มีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่แล้วเสร็จแต่โจทก์ไม่ได้บรรยายยืนยันว่าไม่มีการประชุมของคณะทำงานทั้งสองฝ่ายเพื่อพิจารณาหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะส่งฟ้อง โดยโจทก์อ้างคำสัมภาษณ์ของบุคคลจากรายงานข่าวว่ายังไม่มีการประชุมของคณะทำงานทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็เป็นข้อมูลจากสื่อมวลชน ไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างเป็นทางการ และปรากฏจากเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นคำแถลงข่าวของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยจำเลยที่ 3 แถลงสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 คณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้ว แสดงว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งฟ้องได้มีการประชุมของคณะทำงานร่วม
ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีความเห็นส่งฟ้องโจทก์กะทันหัน ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติถอดถอนโจทก์ ในคดีที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาโจทก์เพียง 1 ชั่วโมงนั้นเห็นว่า ในข้อนี้ไม่มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ว่าจะไปกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด อีกทั้งเรื่องการถอดถอนโจทก์ก็เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 56 (1) ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผูกพันกับผลการไต่สวนข้อเท็จจริงในความผิดทางอาญา คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นความเข้าใจของโจทก์เองว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานอัยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ มีเจตนากลั่นแกล้งฟ้องโจทก์ให้ต้องรับโทษแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า สำนวนในคดีทุจริตจำนำข้าวเป็นการฟ้องอันเป็นเท็จในสาระสำคัญที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้กล่าวหาและยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ ต่อศาลฎีกาฯ โดยได้บรรยายฟ้องชัดเจนว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของโจทก์มีมูลความผิด ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นการบรรยายฟ้องตามข้อพิจารณาของ ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นการบรรยายฟ้องอันเป็นเท็จในสาระสำคัญในคดีของป.ป.ช.แต่อย่างใด สำหรับที่โจทก์อ้างว่าการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พวกจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานนอกสำนวนการสอบสวนของป.ป.ช.ที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดีนั้นเห็นว่า แม้พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจาณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 5 ให้ศาลยึดรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา แต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลหรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำและจำเลยมีสิทธิ์นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานโจทก์ได้อย่างแล้ว การกระทำของจำเลยทั้ง 4 จึงชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่อาจรับฟังด้วยว่าจำเลยทั้ง 4 กระทำผิดตามฟ้องให้ยกฟ้อง
ด้านนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความ กล่าวภายหลังว่า หลังจากนี้ต้องไปหารือกับทีมทนายความก่อน ซึ่งต้องขอคัดคำสั่งศาลโดยละเอียด เพื่อดูว่าจะมีข้อกฎหมายหรือประเด็นใดที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะอุทธรณ์คำสั่ง
ส่วนที่ก่อนหน้านี้เคยมีการเผยแพร่ข้อมูลทางกฎหมายผ่านสื่อโซเชียลของนักกฎหมายบางคน เห็นว่า การยื่นฟ้องของน.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ อาจเข้าข่ายเป็นการฟ้องเท็จนั้น ตนเห็นว่าการยื่นฟ้องครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการฟ้องเท็จ แต่เป็นการฟ้องไปตามข้อเท็จจริง เพียงแต่ที่ศาลวินิจฉัยวันนี้ระบุว่าเป็นความเข้าใจของโจทก์เองที่เห็นว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่มิชอบอย่างไร ดังนั้น ไม่ห่วงหากอีกฝ่ายจะฟ้องกลับ เพราเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการฟ้องไปมา ส่วนคดีทุจริตจำนำข้าวในศาลฎีกาฯ ที่ผ่านมาได้มีการตรวจพยานหลักฐานไปแล้ว ซึ่งเราก็พร้อมพิจารณาไปตามคดี