xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องหลัง “ลุงตู่” หน้าบานโชว์เวทียูเอ็น งานนี้ฝีมือ “ทูตแสบ-ทูตดอน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะแสดงสุนทรพจน์ที่ยูเอ็น
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เก็บแต้มทำคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอีกอักโขหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โชว์หน้าม่าน ณ งานประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 - 30 กันยายนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในทางการเมืองและในเวทีระหว่างประเทศ ชนิดเหนือความคาดหมาย และทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งหวังอาศัยโอกาสนี้ฉีกหน้านายกรัฐมนตรีให้ได้อายต่อสายตาชาวโลก ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน

ยิ่งภาพการจับมือของสองผู้นำไทย-สหรัฐฯ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของไทย เป็นซีนที่หลายฝ่ายคงไม่คาดคิดว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า พรรคดีโมแครตไม่ปลื้มกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็กดดันไทยให้คืนสู่การเลือกตั้งซึ่งหมายถึงประชาธิปไตยในความหมายของสหรัฐฯ มาโดยตลอด

บรรดาแมงเมาท์ เล่ากันว่า ฉากนี้กว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้ กระทรวงการต่างประเทศ ใช้เวลาเตรียมการล็อบบี้ขอล่วงหน้ามานานนับเดือน และคีย์แมนสำคัญที่ทำให้สองผู้นำมีโอกาสจับไม้จับมือกัน ก็คือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยเป็นทูตประจำอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี และที่นิวยอร์ก จึงรู้จักคนในกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ มากพอสมควรที่จะทำให้เรื่องที่ขอไปได้รับการตอบรับ

การจัดฉากเพื่อให้ได้ภาพการจับมือของผู้นำมหาอำนาจในการประชุมสำคัญๆ นี้ ถือเป็นหนึ่งในงานสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ก็ว่าได้ เป้าหมายก็เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศของความสัมพันธ์ กระชับมิตร ไม่ให้ดูหมางเมินเกินไป โดยเฉพาะไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นพันธมิตรกันมายาวนานแต่มึนตึงต่อกันในช่วงหลังรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ว่ากันตามความจริงแล้วสหรัฐฯ คงไม่อยากจะทิ้งไทยเพราะหากจะหยั่งขากลับเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง ยังไงๆ ก็ต้องใช้ไทยเป็นฐานเหมือนที่เคยใช้มาแต่ไหนแต่ไร

กล่าวสำหรับภาพสองผู้นำจับมือที่ออกมา แม้ว่า นายบารัค โอบามา จะไม่ได้ฉีกยิ้มให้พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนกับที่แสดงต่ออดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โปรยยิ้มหวานให้กันและกันจนถูกครหานินทาไปทั่วโลก และไม่ใช่การพบปะแบบมีการหารือหรือมีโครงการร่วมมือกันในลักษณะทวิภาคี แต่การจับมือในเชิงสัญลักษณ์ก็แสดงออกว่าไทย-สหรัฐฯ ยังคงมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่

ส่วนเบื้องหลังภาพที่นำมาเผยแพร่กันนั้น การพบปะคราวนี้ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงกันว่า ห้ามถ่ายรูปโดยสื่อมวลชน จุดนั้นห้ามเอากล้องใหญ่เข้า รูปที่เผยแพร่กันจึงมาจากทีมงานของนายกฯ ที่ถ่ายแล้วเอามาเผยแพร่ในไลน์กลุ่ม จากนั้นจึงมีการแชร์ต่อๆ กันในโลกโซเชียล และสื่อได้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ

อีกซีนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจับมือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงแห่งสาธารณัฐประชาชนจีน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น

แน่นแฟ้นกันถึงขนาดที่ว่าคณะนายทหารที่อยู่ข้างกายนายกรัฐมนตรีบางคน ไม่อยากให้นายกรัฐมนตรี ไปจับมือกับนายบารัค โอบามา เพราะไม่อยากให้มีภาพออกมาว่าหงอเป็นลูกไล่มหาอำนาจชาติตะวันตกอีกแล้ว ทั้งอยากจะบอกว่าไทยเลือกข้างมหาอำนาจตะวันออกอย่างเต็มหัวใจไม่เหลือที่ว่างให้ฝรั่งมังค่า แบบว่าอยู่กับจีนแล้วสบายใจกว่า

อาการอยากแสดงออกว่าเอาใจจีนนี่ถึงขนาดที่ว่าเวทีการประชุมเรื่องกองกำลังสันติภาพในงานนี้ ที่มีสหรัฐฯ เป็นประธาน ทีมทหารข้างกายนายกรัฐมนตรี เสนอไม่ให้ไทยเข้าร่วมประชุมเพราะเกรงใจจีน แต่สุดท้ายไทยก็เข้าร่วมประชุมด้วยว่าเป็นงานของยูเอ็น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็เข้าร่วมโครงการนี้ตลอด

ไม่ใช่แค่ภาพนายกรัฐมนตรี จับไม้จับมือและโอภาปราศรัยกับผู้นำชาติมหาอำนาจ ทั้งผู้นำสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และนายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็น เท่านั้น ที่ทำให้ “ลุงตู่” ดูดีขึ้นมากในการโกอินเตอร์คราวนี้ การที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นประธาน กลุ่ม 77 หรือ จี 77 เป็นครั้งแรกนับจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งมาเมื่อ 51 ปีก่อน ก็นับเป็นข่าวใหญ่ที่สื่อเลือกขึ้นมาพาดหัวตัวเป้งเลยทีเดียว เรียกได้ว่าสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ติดตามข่าวคราวและบทบาทของกลุ่ม 77 ไม่น้อย เพราะปกติแล้วการพูดคุยของกลุ่ม 77 ที่ว่าด้วยความยากจน ความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ไม่ค่อยจะได้รับความสนใจและเป็นข่าวคราวสักเท่าใดนัก

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของกลุ่ม 77 ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2507 โดยประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 77 ประเทศ ปัจจุบันกลุ่ม 77 มีสมาชิก 134 ประเทศ แต่ยังคงชื่อเดิมไว้เนื่องจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กลุ่ม 77 เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติ โดยเป็นเวทีให้ประเทศกำลังพัฒนาส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกัน ตลอดจนช่วยส่งเสริมความร่วมมือใต้ - ใต้ (South-South Cooperation) ด้วย

การขึ้นเป็นประธานกลุ่ม 77 ของไทย ทางฝ่ายเสื้อแดงก็เคลมว่าเป็นผลงานสืบต่อมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไทยเคยเป็นประธานกลุ่มมาแล้ว ส่วนฝ่ายเชียร์นายกฯ ก็ว่า นี่เป็นการขึ้นนั่งประธานกลุ่มครั้งแรก

ในการทำความเข้าใจอย่างถูกถ้วน ประเด็นนี้ต้องกลับไปดูโครงสร้างของกลุ่ม 77 ซึ่งหลังจากจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา ได้มีการกำหนดโครงสร้างองค์กรถาวรและพัฒนาจนเกิดเป็นการสร้าง Chapter ของกลุ่ม 77 ที่มีสำนักงานเพื่อการประสานงานในเมืองต่างๆ ได้แก่ นครเจนีวา (UNCTAD) กรุงไนโรบี (UNEP) กรุงปารีส (UNESCO) กรุงโรม (FAO/IFAD) กรุงเวียนนา (UNIDO) และกลุ่ม 24 (G - 24) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี (IMF และธนาคารโลก)

หน้าที่และการดำเนินงานของแต่ละ Chapter ของกลุ่ม 77 จะแตกต่างกัน อาทิ สมาชิกภาพ กระบวนการตัดสินใจและแนวทางปฏิบัติบางประการ ประธานกลุ่มของแต่ละ Chapter จะทำหน้าที่เป็นโฆษกด้วยและจะเป็นผู้ประสานท่าทีของกลุ่มของแต่ละ Chapter โดยประธานกลุ่มฯ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดภายในโครงสร้างองค์กรของกลุ่มจะหมุนเวียนไปตามภูมิภาค (แอฟริกา เอเชียและแปซิฟิก ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน) ซึ่งจะมีวาระหนึ่งปีในทุก Chapter สำหรับปี 2558 แอฟริกา ทำหน้าที่เป็นประธานของกลุ่ม 77 ณ นครนิวยอร์ก

สำหรับวาระในปี 2559 ซึ่งหมุนเวียนมายังภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมาชิกกลุ่ม 77 ได้รับรองให้ประเทศไทย ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 ณ นครนิวยอร์ก ต่อจากแอฟริกา ถือเป็นประธานกลุ่มฯ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดตามโครงสร้างองค์กร

ส่วนการเป็นประธานกลุ่ม 77 มาก่อนหน้านี้ ที่ฝ่ายเสื้อแดงกล่าวอ้างนั้น เป็นกรณีที่ประเทศไทย (โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี) ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม 77 ณ กรุงไนโรบี ประจำปี 2557 เท่านั้น

สรุปง่ายๆ ก็คือ ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2557 ประเทศไทยเป็นประธานกลุ่ม 77 ณ กรุงไนโรบี ซึ่งเป็น Chapter หนึ่งเท่านั้น และดูแลประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่การดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มของประเทศไทยที่ประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 เพิ่งรับรองในโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ ไปประชุมยูเอ็นคราวนี้ ถือเป็นประธานกลุ่ม 77 ณ นครนิวยอร์ก ที่มีอำนาจสูงสุด ทำหน้าที่ดูแลประเด็นทั้งหมดในภาพรวม

การขึ้นเป็นประธานกลุ่ม 77 คราวนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นการหมุนเวียนกันและตกถึงรอบเอเชียและแปซิฟิก แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการล็อบบี้ ประสานงาน และเสนอตัวของประเทศไทยกระทั่งทำให้ประเทศคู่แข่งขันอีก 2 ประเทศ คือ บังคลาเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลีกทางให้ในคราวนี้ก็คือ นายวีรชัย พลาศรัย ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยและหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครนิวยอร์ก ถือเป็นผลงานปิดทองหลังพระของคณะทูตถาวรไทยประจำยูเอ็นที่สำคัญ

หลังจากนี้ นายวีรชัย ก็ต้องเตรียมตัวรับบทบาทประธานและโฆษกของกลุ่ม 77 ในวาระปี 2559 เดินหน้าสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ถือเป็นการทำหน้าที่และสปิริตของคณะทูตถาวรไทยประจำยูเอ็นที่ช่วยหนุนส่งบทบาทของนายกรัฐมนตรีไทยไม่ให้น้อยหน้าในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทูตวีรชัย ซึ่งก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยสร้างผลงานการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกมาแล้ว แม้ว่าถึงที่สุดคดีปราสาทพระวิหารประเทศไทยจะแพ้ แต่ทูตวีรชัย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะสู้คดีก็ทุ่มเทสุดความสามารถและออกลีลาชนะใจคนไทยทั้งประเทศมาแล้ว

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ไทยได้เสนอตัวทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ในนิวยอร์ก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 โดยชูด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ประชุมกลุ่มเอเชียและแปซิฟิก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 มีมติเห็นชอบให้ไทยดำรงตำแหน่งดังกล่าว ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี จี 77 ที่ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผานมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ประเทศสมาชิกกลุ่มจี 77 รับรองให้ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม สำหรับวาระปี 2559 ว่า ทางกลุ่มจี 77 มีการพูดคุยเรื่องความยากจนและความยั่งยืน การคัดเลือกจะเลือกจากประเทศที่มีประสบการณ์ และประเทศที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการลดความยากจนลงในปี 2543 กว่าร้อยละ 40 ถือว่ามีบทบาท และมีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แก้ปัญหาด้วย

“ประเทศที่มีความยากจนจะเกิดความเหลื่อมล้ำเรานำประเด็นนี้มาเสนอว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเข้มแข็งด้วยตนเอง การลดความเหลื่อมล้ำต้องแก้ปัญหาความยากจนโดยเริ่มจากตัวประชาชนก่อนถ้าแก้อย่างอื่นจะไม่สำเร็จ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นั่นเป็นเป้าประสงค์ของไทยและประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดัน เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญในเวทีประชุมสหประชาชาติครั้งนี้

ไม่เพียงแต่บทบาทบนเวทีเท่านั้นที่หนุนส่งบทบาทของพล.อ.ประยุทธ์ ให้โดดเด่น แม้แต่บรรยากาศรอบนอกที่มีกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนอย่างล้นหลาม โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขนมวลชนในสหรัฐฯ มายกป้ายเชียร์ให้กำลังใจ “ลุงตู่” ทำหน้าที่เพื่อศักดิ์ศรีและหน้าตาของประเทศไทย กลบกระแสของมวลชนเสื้อแดง นำโดยนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช.และถูกถอนหนังสือเดินทาง

ชนิดที่อาจกล่าวได้ว่าแผนยูเอ็นล้อมไทย ที่เสื้อแดงกะหยิบยืมสภาวการณ์ของยูเอ็นที่เชิดชูเรื่องสิทธิมนุษยชนมาถล่มผู้นำไทย ล่มกลางครัน ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ซะงั้น


ล้อมกรอบ

ปรัชญาพอเพียง พัฒนายั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 (UNGA70) เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 29 กันยายน 2558 ในหัวข้อ “The United Nations at 70 - the road ahead to peace, security and human rights”

การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทย มีบทบาทนำในฐานะ 1 ใน 30 ประเทศสมาชิกของคณะทำงานเปิดของสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ผลักดันประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาของโลก เช่น การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง การลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลักนิติธรรม และการส่งเสริมธรรมาภิบาล การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเกษตรที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดดทำให้ไทยสามารถยกระดับตนเองจากประเทศที่มีรายได้ต่ำขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางและสูงในเวลาเพียง 3 ทศวรรษ ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ และพัฒนาบทบาทสู่การเป็นประเทศ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ในเวทีโลก โดยรากฐานสำคัญคือ ทุกภาคส่วนของไทยดำเนินการโดยยึดแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ “นักพัฒนา” ที่ได้ทรงริเริ่มดำเนินการนำร่องไว้มากว่า 40 ปีแล้ว

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความท้าทายของโลกที่มีความซับซ้อนมีลักษณะเฉพาะตัว แม้ว่าจะประสบปัญหาเดียวกัน แต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคของโลกต่างเผชิญกับปัญหาที่มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทของตัวเอง ดังนั้น ทางออกของปัญหาเพียงหนึ่งเดียว จึงไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ในทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์

ในสุนทรพจน์ฉบับเต็ม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงประเด็นประชาธิปไตย ในย่อหน้าที่ 16 ว่า “....สิ่งที่จะทำให้ไทยเข้มแข็งขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ก็คือ การปฏิรูปอย่างครบวงจรเพื่อนาไปสู่การมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง อาทิ การปฎิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความเข้าใจและปรองดองสมานฉันท์ และการจัดระเบียบทางสังคม"


นายวีรชัย พลาศรัย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย สองบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ พล.อ.ประยุทธ์
ลุงตู่จับมือกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
พล.อ.ประยุทธ์จับมือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
คนไทยในสหรัฐฯ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น



คนไทยในสหรัฐฯ ส่ง พล.อ.ประยุทธ์กลับไทยที่สนามบินนานาชาติ JFK
กำลังโหลดความคิดเห็น