วิจารณ์หึ่ง แฟนเพจบีบีซีไทยแพร่บทความจวกภารกิจประชุมยูเอ็น ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยับเยิน อ้างไม่ได้ช่วยให้นายกฯ ไทยโดดเด่นหรือเป็นที่ยอมรับในชุมชนนานาชาติ เพราะยังมีนโยบายปิดกั้นเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ “สมศักดิ์ เจียมฯ” รับไม่ได้สำนักข่าวแดนผู้ดี เอาบทความนักเขียนไร้ตัวตนมาเผยแพร่
วันนี้ (2 ต.ค.) เวลาประมาณ 15.09 น. แฟนเพจสำนักข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย ได้เผยแพร่บทความชื่อ การประชุมยูเอ็นเริ่มจากในบ้าน โดยบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า Outside contributor บทความดังกล่าวในเนื้อหาโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยที่เดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยบทความดังกล่าวอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ปิดท้ายภารกิจครั้งนี้ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่ที่ดูจะมีคำถามว่าได้ให้อะไรใหม่เกี่ยวกับทิศทางและนโยบายในการพัฒนาประเทศของไทยทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมหรือไม่ นอกไปจากการแสดงอาการหมกมุ่นอยู่กับปัญหาภายในประเทศที่ไม่อาจจะข้ามพ้นไปได้ง่ายๆ
ทั้งนี้ บทความของ Outside contributor ได้ยกเอาเหตุการณ์ที่มีคนไทย 2 กลุ่มพากันไปประท้วงและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้พบกับผู้ประท้วงแต่กลับไปพบปะโอภาปราศรัยกับผู้สนับสนุนอย่างเป็นกันเอง สะท้อนให้ชาวโลกเห็นว่าสังคมไทยยังห่างไกลความสมานฉันท์
รวมทั้งยังได้วิพากษ์วิจารณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกให้นั่งเป็นประธานกลุ่ม 77 ว่า ที่จริงแล้วเป็นผลของการปฏิบัติการทางการทูตของนักการทูตไทยในกระทรวงต่างประเทศที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ได้เป็นผลงานของนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันแต่อย่างใด
ส่วนการได้รับรางวัลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ลำพังผลงานของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ในห้วง 1 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความโดดเด่นในเรื่องโทรคมนาคมเพียงพอจะได้รับรางวัล มิหนำซ้ำแนวคิดที่จะใช้ single gateway เพื่อทำการควบคุมการจราจรในระบบดิจิตอลและจำกัดเสรีภาพในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
ขณะที่ภาพ พล.อ.ประยุทธ์สัมผัสมือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็เป็นผลจากเจรจาต่อรองกันอยู่นานจนฝ่ายสหรัฐฯ ยินยอมให้ประธานาธิบดีโอบามาเดินมาทักทายและสัมผัสมือ พล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่ก็บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีการเผยแพร่เรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ช่างภาพที่ติดตามนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ จึงปรากฏเฉพาะแต่ภาพจากเจ้าหน้าที่ติดตามซึ่งถ่ายจากโทรศัพท์มือถือเผยแพร่ในโซเซียลมีเดียเท่านั้น
บทความดังกล่าวยังอ้างอีกว่า การประชุมสหประชาชาติในปีนี้ดำเนินการภายใต้หัวข้อ สหประชาชาติครบรอบ 70 ปี หนทางสู่สันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน (The United Nation at 70 the road ahead to peace, security and human right) แต่ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาสำคัญในประเทศไทยเกี่ยวกับการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากนานาชาติในปัจจุบัน แต่ก็หนีไปไม่พ้น บัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติไม่ลังเลที่จะยกปัญหาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขึ้นหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างที่มีการพบกันแบบทวิภาคีที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ โดยบอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่าเขาวิตกกังวลเกี่ยวกับพื้นที่ประชาธิปไตยของไทยที่กำลังลดน้อยลงทุกทีและยังขอให้รัฐบาลไทยปกป้องและรักษาสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของประชาชนที่กำลังมีการจำกัดอย่างมากอยู่ในขณะนี้ด้วย ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับโรดแมปของไทยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ล่าช้าออกไป เพราะเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกกับ บัน คีมูน คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติคือพลเอกประยุทธ์เองตั้งมากับมือ
บทความยังระบุอีกว่า บรรดาผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารพยายามจะช่วยรักษาหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ในระหว่างที่อยู่ในนิวยอร์กด้วยการระดมคนจำนวนหลายร้อยคนไปชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ 3 วันติดต่อกัน เพื่อให้กำลังใจและประกาศว่าคนไทยต้องการรัฐบาลทหารมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือระบอบประชาธิปไตยซึ่งเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านหรือกลุ่มเสื้อแดงนั้นมีจำนวนน้อยกว่าและปรากฏตัวเพียงวันเดียวทั้งยังไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้ตัวนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องอยู่แต่ในที่ซึ่งทางการสหรัฐฯ จัดสรรไว้ให้ ทั้งการถ่ายทอดการชุมนุมของพวกเขาไปประเทศไทยก็ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาล
“โดยสรุปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้มีโอกาสทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลไทยในฐานะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติเพื่อพูดถึงการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของไทยในหลายภาคส่วนขององค์การสหประชาชาติโดยเฉพาะการได้ร่วมรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ วาระปี ค.ศ. 2030 ได้ร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยการรักษาสันติภาพซึ่งประธานาธิบดีโอบามาเป็นประธาน และได้กล่าวสุนทรพจน์ในเวทีเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่แน่ว่าได้ช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์โดดเด่นหรือกลายที่ยอมรับนับถือในชุมชนนานาชาติ เพราะนโยบายแห่งการปิดกั้นเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนในบ้านยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ดังที่นานาชาติได้แสดงความเป็นห่วงและยกเป็นประเด็นขึ้นมาพูดเสมอ” บทความของนักเขียนนิรนามที่เผยแพร่ผ่านบีบีซีไทย ระบุ
หลังจากการเผยแพร่บทความดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความน่าเชื่อถือของบทความดังกล่าวที่มีเนื้อหาโจมตี พล.อ.ประยุทธ์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยที่ไม่มีการระบุตัวตนผู้เขียน แต่สำนักข่าวของบีบีซีกลับนำมาเผยแพร่
ในประเด็นนี้ แม้แต่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่มีจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่องก็ได้แสดงความคิดเห็นท้ายบทความดังกล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะวิพากษ์วิจารณ์ คสช. รวมถึงการที่พวกเขาพยายามจะอ้างเรื่องต่างประเทศมาสนับสนุนความชอบธรรมของตน “แต่เฉพาะกรณีบทความของ “Outside Contributor” นี้ บอกตรงๆ ว่า อ่านด้วยความรู้สึกชอบกลๆ (ตั้งแต่การเป็น “นิรนาม” ของ outside contributor ซึ่งชอบกลในแง่ของการที่ บีบีซี นำมาเผยแพร่ คือถ้าคนเขียนมีตัวตน มี credential น่าเชื่อถือ ทำไมต้องใช้ชื่อ “นิรนาม” อย่างน้อย ทำไมไม่มีคำอธิบายว่า คนเขียนเป็นใคร จึงสามารถรู้เรื่อง “วงใน” โดยเฉพาะกรณีการพยายามจัดการให้ พลเอกประยุทธ์ได้มีโอกาสสัมผัสมือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการ “เจรจา” เรื่องให้โอบาม่าจับมือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ประเด็นคือ คนเขียนรู้ได้อย่างไร? ปกติเรื่องการเจรจาพวกนี้ มันต้องทำระหว่าง จนท.ไทย กับ จนท.อเมริกัน (สต๊าฟโอบาม่า) ผู้เขียนเป็นใครในสองพวกนี้หรือ? หรือผู้เขียนรู้จักใคร มีแหล่งข่าวในสองพวกนี้? และที่สำคัญ ถ้าการ “เจรจาต่อรองกันอยู่นาน” เป็นแบบที่ผู้เขียนว่าจริงๆ ว่า “บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีการเผยแพร่เรื่องนี้อย่างเป็นทางการ” ถึงขนาดว่า “ช่างภาพที่ติดตามนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ” จริงๆ ทำไม “จึงปรากฏเฉพาะแต่ภาพจากเจ้าหน้าที่ติดตามซึ่งถ่ายจากโทรศัพท์มือถือเผยแพร่ในโซเซียลมีเดียเท่านั้น” คือถ้าเขาไม่ยอมให้เป็นทางการ ไม่ยอมกระทั่งให้ช่างภาพประจำตัวประยุทธ์ถ่ายภาพ ทำไมจึงให้ จนท.ติดตามถ่ายด้วยมือถือ แล้วมาแพร่ทางโซเชียลมีเดียได้อีก? #มันไม่เมกเซนส์น่ะ (เช่นถ้าเขาเจรจากันอยู่นานแล้วบอกว่า no picture แล้วอันนี้ ไม่เป็นการ “ผิดสัญญา” ของ จนท.ประยุทธ์หรือ? อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ยังชอบกล เวลา จนท.ประยุทธ์ ยกมือถือถ่าย จนท.ฝ่ายอเมริกัน ไม่รู้จักยกมือห้ามหรือ? ประเภท “บอกแล้วไงว่า no picture” อะไรทำนองนั้น... คือข้อความย่อหน้านี้ทั้งหมดมันไม่เมกเซนส์ และฟังดูชอบกลจริงๆ”