xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จี้ดูวัตถุประสงค์ Single Gateway มั่นคง-สิทธิ ต้องสมดุล หนุนคืนเกตเวย์รัฐดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ ปชป.แนะ รบ.ดูวัตถุประสงค์จำเป็นหรือไม่ เรื่อง Single Gateway ความมั่นคง-เสรีภาพ ต้องสมดุล ควรศึกษา NSA สหรัฐฯ ทำจริงควรใช้เหตุผลแทนอารมณ์ “ศิริโชค” จี้แจงข้อดี-ข้อเสียให้ชัดเหตุความเข้าใจไม่ตรง แนะเปลี่ยนเกตเวย์เอกชนบริหารกลับมาเป็นของรัฐ ความเร็วเน็ตไม่ลด ดีกว่าลดเกตเวย์ ทำแบบมือถือ-ดาวเทียม ย้อน ปชช.เชื่อมั่นเอกชน-รัฐดูแลมากกว่า ยกผลดีใช้ข้อมูลเอาผิดในศาลได้

วันนี้ (2 ต.ค.) นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสรเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงแนวคิดที่รัฐบาลจะใช้ระบบซิงเกิล เกตเวย์ (single gateway) ในการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนว่า รัฐบาลจะต้องดูวัตถุประสงค์ให้เหมาะสมในทุกด้าน หากจะบอกว่านำมาใช้เฉพาะเรื่องความมั่นคงของประเทศก็ต้องดูว่าประเทศไทยพร้อมและจำเป็นหรือไม่ เพราะเรื่องความมั่นคงมีทั้งเรื่องอาชญากรข้ามชาติ การค้ามนุษย์ รวมถึงต้องดูกฎหมายในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะได้รับด้วยโดยต้องดูความสมดุลทั้งสองทาง อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้นั้นจะต้องดูข้อกฎหมายว่าต้องมีคำสั่งของกฎหมายก่อนหรือไม่

“มีข่าวว่าที่สหรัฐฯ และเยอรมนี เป็นต้นแบบของประชาธิปไตย เขาก็มีการวางเรื่องนี้ไว้ในเรื่องความมั่นคงเช่นกัน จึงขอแนะนำให้กระทรวงไอซีทีไปศึกษางานของ NSA สหรัฐ ว่าเขาทำอย่างไร หากรัฐบาลจะทำจริงๆ ก็ควรให้เหตุผล อย่าใช้อารมณ์ และเรียกหลายฝ่ายมาพูดคุยและทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน” นายจุติกล่าว

นายศิริโชค โสภา รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะออกนโยบายซิงเกิล เกตเวย์ว่า เท่าที่ตนได้ฟังนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่านิยามคำว่าซิงเกิล เกตเวย์ ตามความเข้าใจของรัฐบาลและประชาชนนั้นตรงกันหรือไม่ ดังนั้น อยากให้ผู้มีอำนาจให้ความชัดเจนตรงนี้ด้วย ตอนนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ เรื่องของความเร็วของอินเทอร์เน็ต และเรื่องของการละเมิดสิทธิ ถ้าหากคำว่าซิงเกิล เกตเวย์ คือการนำเอาเกตเวย์ทั้งหมดที่มีอยู่ไปเป็นของรัฐ ตนคิดว่าถ้าทำแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีผลอะไรกับเรื่องของความเร็วอินเทอร์เน็ต เพราะเกตเวย์มีจำนวนเท่าเดิมไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แค่เปลี่ยนจากเดิมที่เกตเวย์ถูกบริหารโดยเอกชนก็เปลี่ยนกลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งแบบนี้ก็จะคล้ายกับลักษณะของคลื่นโทรศัพท์มือถือ ตนคิดว่ารัฐบาลน่าจะดำเนินการตามแนวทางนี้มากกว่าจะไปลดเกตเวย์ให้เหลืออยู่ 1 เกตเวย์ตามที่มีการวิจารณ์กัน

“เหมือนกับโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือกับโครงข่ายดาวเทียม ที่เหมือนกับสมบัติของรัฐแต่ให้เอกชนนำไปเช่า ในปัจจุบันโครงข่ายเหล่านี้ก็เป็นของรัฐหมดแล้ว มีแต่โครงข่ายที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อออกนอกประเทศที่ยังไม่เป็นของรัฐ ที่ผมมองและยังไม่แน่ใจก็คือว่าทางรัฐบาลจะเอาตรงนี้กลับมาเป็นของรัฐหรือไม่ ดังนั้นเลยตอบไม่ได้ว่าความเข้าใจของเรากับของเขาต่างกันหรือไม่” นายศิริโชคกล่าว

เมื่อถามถึงความเห็นของความปลอดภัย นายศิริโชคกล่าวว่า ถ้าเทียบกันระหว่างเกตเวย์เป็นของเอกชน หรือเป็นของรัฐบาล ต้องถามประชาชนว่าจะเชื่อมั่นว่าอย่างไหนมีความปลอดภัยมากกว่ากัน ยกตัวอย่างก็เหมือนกับตรวจคนเข้าเมือง คิดว่าประชาชนอยากจะให้รัฐหรือเอกชนบริหารเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง คิดว่าอย่างไหนดีกว่ากัน ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับท่อไฟเบอร์ออปติกที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปต่างประเทศ สมมติขณะนี้มีอยู่ 9 จุด ถามว่าประชาชนเชื่อมั่นให้ใครดูแล 9 จุดนี้มากกว่ากัน ถ้าเอกชนบริหารในปัจจุบันเอกชนก็สามารถจะละเมิดสิทธิประชาชนได้เหมือนกันโดยที่ประชาชนไม่รู้ตัว

รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันนั้นรัฐบาลก็สามารถเข้าถึงเข้ามูลที่เกตเวย์ในแต่ละไอเอสพีได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่สามารถนำมาใช้ได้ในชั้นศาล ถ้าหากไม่มีการอนุญาตจากศาล ซึ่งในปัจจุบันก็มีการดำเนินการเข้าถึงข้อมูลตรงนี้อยู่แล้ว เพราะมีการตามจับพวกที่ทำความผิดบนหน้าเพจเฟซบุ๊กมาโดยตลอด แต่ถ้าหากเกตเวย์เป็นของรัฐนั้นรัฐก็อาจจะใช้ข้อมูลได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล เพราะถือว่าเกตเวย์เป็นทรัพย์สินของทางรัฐบาล แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายที่ออกในอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

“ดังนั้น ทางกระทรวงไอซีทีต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าซิงเกิล เกตเวย์คืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร และจุดประสงค์มันคืออะไร ดีกว่าจะมาให้ข้อมูลแบบไม่ครบซึ่งขณะนี้เรื่องนี้ถูกโยงไปเป็นประเด็นการเมืองแล้วด้วย ผมขอสนับสนุนแนวทางที่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น และไม่สนับสนุนสิ่งที่จะมาลิดรอนสิทธิของประชาชน แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีเส้นกั้นบางๆ ระหว่างสิทธิเสรีภาพ และเรื่องของความมั่นคง ถ้าหากจะอ้างว่าลิดรอนสิทธิเสรีภาพแล้วได้ในเรื่องของความมั่นคงเพิ่มขึ้นมา ก็ต้องมาคุยกันว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น