xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

“ฮวงจุ้ย” กับโรคตึกป่วย เมื่ออภิปรัชญาพบกับวิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

แฟ้มภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


สิ่งหนึ่งที่ทำให้ “ฮวงจุ้ย” หนึ่งในหลักวิชาอภิปรัชญา (Metaphysics) จีนระบบฟ้า ดิน คน ซึ่งถูกสืบทอดกันมานานกว่า 5,000 ปี จากรุ่นสู่รุ่นยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบันที่แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวไกลถึงขั้นการส่งคนไปอยู่บนดาวอังคารนั้นไม่ใช่เรื่องเกินฝันนั้นคือพลังแห่งศรัทธาในความเชื่อที่ว่า โชคชะตาของมนุษย์ คุณภาพชีวิต ความสัมพันธ์ของคนรอบข้างรวมทั้งสุขภาพสามารถบริหารจัดการให้ดีขึ้นได้ด้วยการกำหนดทิศทางตัวบ้านและการจัดวางตำแหน่งสิ่งของภายในอาคารให้อยู่อย่างถูกที่ถูกทาง โดยมุ่งเน้นไปยังเรื่องของ “พลังชี่” ซึ่งเปรียบเสมือนกระแสลมปราณที่คอยหล่อเลี้ยงทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ภายในอาคารให้ดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุข บ้านหลังไหนที่มีพลังชี่ที่ถูกกดทับ ปิดกั้น ขัดขวาง จะก่อให้เกิดกระแสลมพิฆาตซึ่งส่งผลเชิงลบต่อผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร

ในฐานะนักวิชาการที่คลุกคลีกับงานวิจัยด้านคุณภาพอากาศทั้งในและนอกอาคาร มานานกว่า 10 ปี ทุกครั้งเวลาได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ ฮวงจุ้ย ในบ้านก็อดนึกถึงเรื่อง โรคตึกป่วย หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า โรค SBS (Sick Building Syndrome) ไม่ได้ ในขณะที่เหล่าซินแสพยายามใช้หลักอภิปรัชญาซึ่งเกิดจากการสั่งสมองค์ความรู้มานานนับพันปีอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโชคชะตาของผู้อยู่อาศัย นักวิทยาศาสตร์สุขภาพได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการทำวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนในเมือง ซึ่งเป็นที่มาของการค้นคว้าวิจัยกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับโรค SBS

สาเหตุหลักของโรค SBS นั้นคือมลพิษภายในอาคารซึ่งมีอยู่หลากหลายมากทั้งในรูปของสารเคมีเช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ สารอินทรีย์ระเหยง่าย สารอินทรีย์ย่อยสลายยากหรือสาร VOC (ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งและสารก่อการกลายพันธุ์) โลหะหนัก (ต้นเหตุของภาวะเสื่อมของระบบประสาท) ซึ่งระเหยจากวัสดุตกแต่งภายในอาคาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หมึกพิมพ์เครื่องถ่ายเอกสาร รวมทั้ง สิ่งปนเปื้อนทางชีวภาพเช่น รา แบคทีเรีย ไวรัส ละอองเรณู รวมทั้งไรฝุ่นซึ่งอาศัยอยู่ใน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน พรม หรือในเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อ โดยเฉพาะแบคทีเรีย “ลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา” ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคลิเจียนแนร์ (Legionnaires disease) จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าเกือบร้อยละ 30 ของอาคารทั่วโลกเข้าข่ายที่จะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค SBS

อาการของโรค SBS มีอยู่หลากหลายขึ้นอยู่กับประเภทของสารปนเปื้อนที่ผู้ป่วยได้รับ เช่น ในกรณีที่ภายในอาคารมีระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่สูงจะก่อให้เกิดอาการ เกิดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เพราะว่าสมองได้รับออกซิเจนเข้าไปน้อยกว่าสภาวะปกติ บางรายอาจมีอาการประสาทหลอนเนื่องจากสมองขาดออกซิเจนเข้ามาหล่อเลี้ยง นอกจากนี้การได้รับสาร VOC ในปริมาณที่สูงอาจส่งผลต่อความเสื่อมถอยของระบบภูมิคุ้มกันนำมาซึ่งโรคเรื้อรังหลากหลายชนิด ไม่รวมถึงอาการภูมิแพ้ ผดผื่นคัน ไซนัสอักเสบ จากสิ่งปนเปื้อนทางชีวภาพ และในกรณีที่เลวร้ายหากผู้อยู่อาศัยสูดหายใจเอาเชื้อ ลิจิโอเนลลา เข้าไปมากอาจส่งผลต่อภาวะปอดอักเสบ หากอาการไม่รุนแรงมักถูกเรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่อยู่อาศัยในจุดเสี่ยงที่มีความชุกของเชื้อประเภทนี้สูง

การแยกแยะอาการของโรค SBS ออกจากโรคประจำตัวปกติเป็นเรื่องที่ยากเนื่องจากสาเหตุของโรคนั้นมีอยู่มากและขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลายแม้จะมีรายงานว่าอาการบางอย่างจะหายไปเมื่อเดินออกจากตัวอาคาร แต่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับการได้รับสิ่งปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดอาการแบบเฉียบพลันเช่น ก๊าซพิษบางประเภทในขณะที่ยังมีอีกหลายโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มเรื้อรังและยังไม่แสดงอาการทันที อย่างไรก็ตามแนวปฏิบัติในการป้องกันที่ควรหมั่นทำอยู่เป็นประจำนั้นคือ

• หลีกเลี่ยงการสะสมขยะเก็บไว้ในตัวอาคาร หมั่นนำขยะไปทิ้งอย่างสม่ำเสมอ ขยะเหล่านี้คือบ่อเกิดของเชื้อโรคจากการหมักหมมของเศษอาหารรวมทั้งไอระเหยของสารเคมีเช่นหมึกพิมพ์เครื่องถ่ายเอกสารและขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อันเต็มไปด้วย ตะกั่ว ปรอท สารหนู แคดเมียม แบเรียม ซึ่งทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ระบบโลหิต การทำงานของไต การสืบพันธุ์ และมีผลเชิงลบต่อการพัฒนาสมองของเด็ก การกำจัดขยะอยู่เป็นประจำเป็นหลักปฏิบัติตามหลักฮวงจุ้ยที่เหล่าซินแสไม่แนะนำให้เก็บขยะไว้ในตัวบ้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะห้องน้ำซึ่งเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคไม่ควรตั้งอยู่กลางบ้าน

• อีกจุดหนึ่งที่ศาสตร์ฮวงจุ้ยให้สำคัญมากในตัวบ้านนั้นคือ “ห้องครัว” เพราะความเชื่อของชาวจีนโบราณถือว่ามันคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้านถึงขนาดที่กำหนดให้มีเทพเตาไฟ หรือ จ้าวฮุ่นก้อง ประจำอยู่ ณ จุดนี้ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับผู้อยู่อาศัยมีโชคลาภและสุขภาพที่แข็งแรง สำหรับบ้านหรืออาคารในชนบทที่ยังมีการใช้ถ่านเป็นแหล่งผลิตความร้อนสำหรับการทำครัว การสันดาปที่ไม่สมบูรณ์คือแหล่งก่อมลพิษที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งเช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือว่า พีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons : PAHs) หรือสารก่อการกลายพันธุ์อย่างเช่นกลุ่มของ ไดออกซิน (Dioxins) รวมทั้งสารอินทรีย์คาร์บอน (Organic Carbon) และธาตุคาร์บอน (Elemental Carbon) ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพด้วยกันทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมโลหะหนักอีกหลายชนิดที่ถูกปล่อยออกมาขณะใช้เชื้อเพลิงหุงต้มด้วยเหตุผลดังกล่าวตำแหน่งที่ตั้งของครัวจึงสำคัญมาก การถ่ายเทอากาศต้องดีและต้องคำนึงถึงทิศทางลมด้วย มิเช่นนั้นห้องครัวจะกลายเป็นแหล่งผลิตมลพิษให้กับคนในบ้านไปโดยปริยาย

• ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ อาคารบ้านเรือนแบบโบราณจึงเน้นในเรื่องของระบบการถ่ายเทอากาศตามแบบธรรมชาติ แทนการขังตัวอยู่กับห้องที่ปิดทึบแบบวิถีคนในเมืองที่อาศัยอยู่ในคอนโด แมนชั่น หรือ หอพักตามเขตที่มีความแออัดสูง ไม่ว่าจะปรึกษาซินแสคนไหนหากสามารถเลือกได้ระหว่างการอยู่ในบ้านที่มีอาณาเขตเป็นของตนเองกับอยู่อาศัยบนคอนโดซึ่งมีพื้นที่อยู่กลางฟ้า แทบทุกท่านจะแนะนำให้มีบ้านเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้นแม้ว่าตำแหน่งที่ตั้งอาจอยู่ไกลจากศูนย์กลางความเจริญของตัวเมืองก็ตาม เหตุผลหลักก็คือไม่ต้องไปแชร์พลังชี่กับใคร! น่าแปลกที่ศาสตร์โบราณสามารถหยั่งรู้อนาคตได้อย่างไรตั้งแต่หลายพันปีที่แล้วว่าวันหนึ่งมนุษย์ต้องมาเจอกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของตนเอง?

มีงานวิจัยหลายชิ้นได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และเครื่องอำนวยความสะดวกประเภทต่างๆรวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ล้วนมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ PBB (Polybrominated Biphenyl) และ PBDE (Polybrominated Diphenyl Ether) ซึ่งเป็นสารหน่วงการติดไฟในตระกูล Brominated Flame Retardants (BFR) ด้วยกันทั้งสิ้น สารเคมีเหล่านี้ที่ถูกห้ามใช้เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องการเกิดไดออกซินและฟูรานซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและก่อการกลายพันธุ์ ปัจจุบันทางสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากโดยมีการออกระเบียบ WEEE (Waste of Electrical and Electronic Equipment) หรือ ระเบียบว่าด้วยการจัดการของเสียจาก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระเบียบ RoHS (Restriction of the use of certain Hazardous Substances) ในปี 2003 และระเบียบ REACH (Registration, Evaluation, Authorization and Restriction of Chemicals) ในการควบคุมการผลิตและใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายทั่วโลก แน่นอนมนุษย์เมืองหลวงที่ใช้ชีวิตท่ามกลางเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ภายในห้องแอร์ที่อับและการระบายอากาศไม่ดีย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแบบวิถีธรรมชาติ

• นอกจากนี้ชาวเมืองที่อาศัยอยู่ในตึกสูงจะมีโอกาสในการรับพลังงานจากสนามแม่เหล็กโลกได้น้อยกว่า ชาวบ้านที่ใช้วิถีชีวิตชนบท เป็นที่ทราบกันดีว่านกพิราบสามารถบินกลับรังแม้ในเวลากลางคืนได้ก็เพราะสมองใช้สนามแม่เหล็กโลกเป็นเข็มทิศนำทาง ยังไม่รวมถึงการเกยตื้นตามหาดต่างๆ ของ วาฬและโลมาทั่วโลกอันเนื่องจากความผิดปกติของระบบนำร่องอันเนื่องจากความแปรปรวนของสนามแม่เหล็กโลก เหล่านี้คือเครื่องบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสนามแม่เหล็กโลกซึ่งมนุษย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น จากรายงานของ NASA พบว่านักบินอวกาศที่ต้องออกไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกภายใต้สภาวะที่ไร้แรงดึงดูดเป็นเวลานานมักมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว และมึนหัว นอกจากจะเป็นเรื่องความไม่คุ้นชินกับสภาวะที่ไร้แรงโน้มถ่วงแล้วการไม่ได้รับอิทธิพลจากสนามแม่เหล็กโลกคือหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคอวกาศ (Space Sickness) พึงระลึกไว้เสมอว่ามนุษย์วิวัฒนาการภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยธรรมชาติซึ่งยังอุดมสมบูรณ์หาใช่สิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและตึกสูงระฟ้าเฉกเช่นปัจจุบัน

อาจถึงเวลาแล้วที่ผู้ศึกษาศาสตร์ด้านฮวงจุ้ยควรนำเอาหลักคิดแบบวิทยาศาสตร์กระแสหลัก (ไม่ใช่ Pseudoscience หรือวิทยาศาสตร์ลวงโลกหรือการใช้วิทยาศาสตร์มาแอบอ้างให้สมมุติฐานของตนดูน่าเชื่อถือ) ซึ่งมีหลักฐานการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลแทนการโทษผีสางนางไม้ เจ้าที่เจ้าทาง หรือวิญญาณของบรรพบุรุษ เพื่อให้หลักอภิปรัชญาที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมจีนมานานนับพันปี สามารถผสมผสานกลมกลืนกับแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ในยุคคลื่นลูกที่สี่ได้อย่างลงตัวงดงาม
กำลังโหลดความคิดเห็น