xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ จะเลือกเดินทางไหนในสภาวะถนนว่าง ณ ทางสองแพร่ง?

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

สัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรีของไทยไปร่วมงานการประชุมขององค์การสหประชาชาติ ณ มหานครนิวยอร์ก รายงานบ่งว่า จะมีคนไทยรวมตัวกันไปชุมนุมโดยแยกเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกต่อต้าน กลุ่มหลังสนับสนุนการทำงานของนายกรัฐมนตรี ผมอยู่ไกล จึงไม่มีโอกาสไปร่วม อย่างไรก็ดี ก่อนนายกรัฐมนตรีเดินทางไปถึงที่นั่นไม่กี่วัน ผมมีโอกาสเดินทางผ่านย่านมหานครนิวยอร์กและเมืองบอสตันอันเป็นสถานที่ประสูติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และดินแดนที่กวีเอกโรเบิร์ต ฟรอสต์ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการแต่งกลอน เหตุการณ์เหล่านี้ดูจะไม่มีอะไรเกี่ยวกัน แต่สำหรับผมผู้ชื่นชมผลงานของทั้งสองมหาบุรุษ บางอย่างเตือนใจให้ฉุกคิด
(ภาพจากเฟซบุ๊กของวิยะฎา นุชโสภา)
โรเบิร์ต ฟรอสต์ เป็นกวีเอกชาวอเมริกันคนหนึ่งซึ่งทิ้งผลงานจำนวนมากไว้ให้ลูกหลานอ่านและวิจารณ์กันแบบไม่มีที่สิ้นสุด ข้อมูลบ่งว่า บทกลอนของเขาที่กล่าวขวัญถึงกันมากที่สุดได้แก่ The Road Not Taken ซึ่งเขียนเมื่อปี พ.ศ. 2458 และมีเนื้อหาสั้นๆ ดังนี้

แม้จะอายุ 100 ปี แต่กลอนบทนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันของนักวิชาการและผู้อ่านทั่วไปว่า ผู้แต่งต้องการสื่ออะไรให้ผู้อ่านคิดกันแน่ เมื่อเดือนที่ผ่านมา นักวิชาการชื่อ เดวิด ออร์ ถึงกับพิมพ์หนังสือออกมาอีกเล่มเพื่ออธิบายหลากหลายมุมมอง ประเด็นหลักของเขาคือ โดยทั่วไป อาจไม่มีใครเข้าใจแก่นแท้และแง่มุมต่างๆ ทั้งหมดของบทกลอนนั้น เขาตั้งชื่อหนังสือตามชื่อของกลอน

ผมเป็นผู้หนึ่งซึ่งสนใจในกลอนบทนั้นตั้งแต่วันที่ผ่านไปในย่านเมืองบอสตันเมื่อ 50 ปีก่อน ได้ถอดออกมาเป็นกลอนภาษาไทยและนำมาเสนอไว้ในหนังสือชื่อ “จดหมายจากบ้านนา” (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) ดังนี้

เนื่องจากกลอนอาจตีความหมายได้หลายอย่างรวมทั้งในนัยของทางสองแพร่ง ผมจึงเสนอให้มองว่านายกรัฐมนตรีของไทย และสังคมไทยกำลังตกอยู่ในระหว่างทางสองแพร่งในปัจจุบัน จะเลือกเดินทางไหนย่อมมีผลต่อตัวนายกรัฐมนตรีและสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ตามกำหนดการที่สื่อนำมาเสนอ ในระหว่างที่อยู่ในมหานครนิวยอร์ก นายกรัฐมนตรีจะปราศรัยในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยจะเสนอให้สังคมโลกใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเสนอของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้อาจมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือ คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางขึ้นและชาวโลกอาจสนใจไปศึกษาเนื้อหาของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างละเอียด เมื่อพวกเขาเข้าใจและนำไปใช้อย่างจริงจัง ทั้งตัวและประเทศของพวกเขามีโอกาสที่จะดำรงชีวิตได้และพัฒนาไปอย่างยั่งยืนสูงมากเนื่องจากแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีความเหมาะสมกับสังคมโลกอย่างยิ่ง

ส่วนผลเสียอาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีใครขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะอธิบายรายละเอียดของแนวคิดพร้อมกับถามว่าเมืองไทยนำไปใช้อย่างไรในปัจจุบัน แน่นอน คงไม่มีใครคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีซึ่งไม่มีภูมิหลังทางเศรษฐศาสตร์จะสามารถอธิบายได้อย่างกระจ่างแจ้งในทุกแง่มุม แต่ในคณะของนายกรัฐมนตรีจะมีใครที่เข้าใจแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้เพียงไรไม่เป็นที่ปรากฏ ฉะนั้น หากไม่สามารถอธิบายได้อย่างกระจ่างแจ้งจริงๆ ความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่แนวคิดและอาจลามไปถึงพระองค์ผู้ทรงเป็นต้นคิดด้วย ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่อ่านได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังปรับคณะรัฐมนตรีไม่มีอะไรที่อ้างได้เต็มปากว่าวางอยู่บนฐานของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนอกจากข้อความหนึ่งซึ่งไม่มีแม้แต่ความกระจ่างแต่อย่างใด ข้อความนั้นฝังอยู่ใจกลางมาตรการต่างๆ มากมายซึ่งตอนหนึ่งได้แก่

“ให้ มท.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยจัดสรรงบประมาณให้ในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท (จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้าง สินค้าและบริการในจังหวัด ในลักษณะดังต่อไปนี้

โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น

โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย ปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น”

เมื่ออ่านอย่างละเอียด มาตรการต่างๆ นอกจากจะไม่วางอยู่บนฐานของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในแนวที่หมดสมัยพร้อมกับตกอยู่ในกรอบของประชานิยมแบบเลวร้ายอีกด้วย มาตรการเหล่านั้นจะทำให้คนไทยเสพติดหนี้และพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนามากยิ่งขึ้นจนนำไปสู่ความไม่มั่นคงของการดำรงชีวิตและการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คอลัมน์นี้ได้เสนอให้มองสภาวะของเมืองไทยว่า ทั้งนายกรัฐมนตรีและสังคมไทยอาจกำลังตกอยู่ในภาวะต้มกบ นั่นคือ ไม่ตระหนักว่าตนกำลังนั่งอยู่ในหม้อน้ำที่กำลังถูกสุมไฟ รู้ตัวว่าน้ำร้อนเมื่อไรก็สายเกินไปที่จะกระโดดหนี


สภาวะนั้นอาจมองได้ว่าเป็นทางสองแพร่ง หากเลือกทางที่มีทั้งมาตรการที่หมดสมัยและประชานิยมแบบเลวร้ายดังที่อ่านได้จากรายละเอียดของการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมืองไทยจะเดินไปสู่ความไม่ยั่งยืนและตัวนายกรัฐมนตรีจะถูกประณามว่าทำให้เมืองไทยเสียโอกาสอีกครั้ง หากเลือกทางที่วางอยู่บนฐานของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จริงอยู่จะประสบความยากลำบากในตอนต้นๆ เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจพร้อมกับจะถูกต่อต้านจากนายทุนสามานย์ แต่การพัฒนาจะเป็นไปในแนวยั่งยืนซึ่งเป็นความหมายในบทกลอนตอน “ฉันเลือกเดินทางรกปกด้วยคา ทางนั้นพาไปถึงเมืองอันเลื่องลือ” ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีมีโอกาสสูงที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ

ณ วันนี้ ตามที่กลอนชี้บ่ง ถนนสองสายยังว่าง นายกรัฐมนตรีจะเลือกเดินทางไหน?

กำลังโหลดความคิดเห็น