xs
xsm
sm
md
lg

เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมไปโลด ย้ำเมืองใหม่พัฒนา ศก.เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมเนื้อหอม “อดีต ส.ว.นครพนม” ชี้ภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเตือนนักลงทุนอย่ามุ่งหาผลประโยชน์อย่างเดียวแต่ต้องคำนึงถึงการตอบแทนสังคมในพื้นที่ด้วยคนพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากการนำเทคโนฯ มาช่วยเกษตรกร ย้ำการเปลี่ยนแปลงผังเมืองต้องชัดเจน มีการอนุรักษ์เมืองเก่าไม่ให้หายไป ส่วนเมืองใหม่สร้างไปกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายสมนาม เหล่าเกียรติ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครพนม กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในจังหวัดนครพนมว่า คงจะห้ามความเจริญที่จะเข้ามาสู่จังหวัดนครพนมไม่ได้อีกแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้จังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ในปี 2559 เพราะว่าจังหวัดนครพนมมีศักยภาพความพร้อมในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งที่เหมาะสม โดยตั้งอยู่เส้นทาง R12 ซึ่งเชื่อมโยงไปลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ เป็นระยะทางใกล้ที่สุด แล้วเป็นจุดที่สามารถขนส่งได้ต่อเนื่องและหลายๆ รูปแบบ เช่น ขนส่งทางถนนไปยังจีนและประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชีย ขนส่งทางเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อไปต่อยังลูกค้าทั่วโลก และยังมีสนามบินนครพนมอีกด้วย ซึ่งจังหวัดยังเตรียมพื้นที่สาธารณประโยชน์ และพื้นที่ราชพัสดุอีกหลายพันไร่สำหรับรองรับนักลงทุนที่จะมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้อีกด้วย ในเมื่อความเจริญกำลังจะเข้ามาถึงก็คงจะถึงเวลาแล้วที่หอการค้าจังหวัด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนชาวนครพนมจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างมากกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

สำหรับสิ่งที่ต้องเตรียมคือเรื่องความรู้และความเข้าใจ และการตื่นตัวว่าเมื่อมีเขตเศรษฐกิจแล้วประชาชนในจังหวัดนครพนมจะได้อะไรและกำลังจะเสียอะไร ซึ่งในบางครั้งการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ จะต้องมีการสูญเสียทรัพยากรบางอย่างในพื้นที่ไป แต่จะต้องพิจารณาว่าประโยชน์ที่คนในพื้นที่ได้รับนั้นคุ้มค่าหรือไม่

นายสมนามกล่าวถึงข้อสังเกตว่า เมื่อมีเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจะเกิดมลภาวะหรือไม่ ทางรัฐจะมีแนวทางการป้องกันและเตรียมการรับมืออย่างไรที่จะคัดเลือกนักลงทุนที่ไม่ได้มุ่งเน้นหวังผลประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการส่งเสริมการตอบแทนสังคมในพื้นที่ เช่น มีการจัดงบประมาณเพื่อสร้างสาธารณูปโภคใหม่ๆ รวมถึงงบประมาณในการซ่อมแซมถนนหนทางซึ่งเกิดจากการเติบโตของเมืองและการขยายตัวในระบบขนส่งใหม่ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อยากให้รัฐมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีและการสร้างงานให้คนในท้องถิ่นด้วย เช่น หากนักลงทุนเข้ามาลงทุนทำ Contract Framing มีนำเมล็ดพันธุ์ให้ชาวบ้านปลูก ดังนั้นควรจะนำเทคโนโลยีมาให้ครบวงจรและสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวบ้านด้วย เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตและเกิดความรู้ความเข้าใจในการนำไปพัฒนาด้านการเกษตร

อดีตวุฒิสมาชิกนครพนมกล่าวว่า เมื่อมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นก็ควรจะต้องอนุรักษ์เมืองเก่าไม่ให้หายไป ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ก็ต้องทำควบคู่ไปกับเมืองใหม่ได้อย่างสมดุล และต้องอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติสมกับเป็นจังหวัดที่มีความสุขอันดับที่ 1 เหมือนเดิม ในเมื่อห้ามความเจริญไม่ได้ ประชาชนและนักธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดนครพนมก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันไปกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงจะเป็นการพัฒนาที่ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน และสามารถบูรณาการให้สามารถแข่งขันในการเปิดตลาดเสรีอาเซียนที่จะเปิดในปีหน้าให้ได้

“แต่ถ้าเราไม่ศึกษาเรียนรู้ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลไม่ดีต่ออนาคตเราจะแก้ไขไม่ได้เลยจริงๆ และต้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และหน่วยงานรัฐที่ผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดนครพนม และเข้าใจปัญหาในเรื่องมลภาวะการสร้างงานและการเปลี่ยนแปลงของเมืองเก่าและเมืองใหม่ โดยวางแผนป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ภายใต้คำขวัญที่ว่า เมืองแห่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมคุณภาพตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” นายสมนามกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น