xs
xsm
sm
md
lg

2 ทศวรรษของตึกร้างสาธรยูนีค

เผยแพร่:   โดย: พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ


พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ
ptorsuwan@yahoo.com

ประเด็นผู้คนทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่กันไปปีนขึ้นตึกร้างที่ถนนเจริญกรุง ตรงเชิงสะพานตากสินหรือสะพานสาทรนั้น เกิดเป็นข่าวมานานสักระยะแล้ว แต่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยหรือตั้งคำถามว่าตึกร้างสูงเกือบห้าสิบชั้นที่ชื่อว่าโครงการสาธรยูนีคทาวเวอร์แห่งนี้ ทำไมถึงได้ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานเกือบสองทศวรรษแล้ว ทั้ง ๆ ที่อาคารนี้อยู่ในทำเลที่ถือว่าเป็นทำเลทองของกรุงเทพฯ ถือเป็นตำแหน่งหนึ่งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯก็ว่าได้ นอกจากอาคารนี้ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ทั้งบางรัก สาทร และสีลมแล้ว ยังมีสถานีรถไฟฟ้า BTS อยู่ห่างออกไปไม่เกิน 100 เมตรเท่านั้น นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้ตำแหน่งทางขึ้นและลงของทางด่วนขั้นที่สอง และที่สำคัญก็คือบนอาคารแห่งนี้สามารถเปิดทัศนียภาพอันงดงามของคุ้งน้ำเจ้าพระยา ซึ่งว่ากันว่าตำแหน่งของอาคารสาธรยูนีคที่ตกเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่องนี้ สามารถเปิดมุมมองของโค้งแม่น้ำสายหลักของกรุงเทพได้กว้างกว่า 180 องศา อีกทั้งทัศนียภาพโดยรอบ ๆ ในย่านนั้นก็เป็นกลุ่มอาคารสูงในย่านริมน้ำทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา สาธรยูนีคจึงกลายเป็นที่สนใจของบรรดานักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่างภาพ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลอดจนกลุ่มวัยรุ่นคนไทยที่นิยมที่จะเดินเท้าขึ้นไปเกือบ 50 ชั้น ถึงบนชั้นดาดฟ้าเพื่อบันทึกภาพกันจนกระทั่งเป็นข่าว

การป้องกันการบุกรุกของผู้คนนั้นเป็นสิ่งที่เจ้าของโครงการพยายามดำเนินการมาโดยตลอด เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นลำดับแรก การตกเป็นข่าวไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนไปผูกคอตาย การเข้าไปกระทำการมั่วสุมของมิจฉาชีพ หรือแม้กระทั่งถ้าจะมีคนขึ้นไปถ่ายรูปแล้วอาจจะเกิดพลัดตกอาคารลงมาเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ย่อมส่งผลร้ายรุนแรงต่อเจ้าของโครงการทั้งสิ้น ทั้งในด้านสังคม ทั้งคดีอาญาที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งผลกระทบทางธุรกิจเกี่ยวกับอาคารนี้เอง แต่มาตรการป้องกันโดยอาศัยการว่าจ้างยามเพียงไม่กี่คนก็นับเป็นเรื่องที่ยากลำบากที่จะสามารถป้องกันการบุกรุกได้ เนื่องจากเรื่องแบบนี้มันเริ่มต้นมาจากคนเดินเท้าเข้ามาไม่กี่คน มาขอยามเดินขึ้นไปสำรวจบนอาคารโดยมีค่าตอบแทนเป็นน้ำร้อนน้ำชาค่าผ่านทาง พอเนิ่นนานเข้าการเก็บค่าผ่านทางก็เริ่มเป็นกอบเป็นกำเพราะมีผู้คนแห่แหนกันมามากมายตามที่เป็นข่าว เรื่องแบบนี้เป็นความพึงพอใจระหว่างผู้ให้และผู้รับอย่างที่สังคมไทยคุ้นชินและเรียกกันอย่างสะดวกปากว่าการให้สินบน

เรื่องราวของอาคารร้างสาธรยูนีคนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แล้ว (ไม่ใช่ปี 2535 ตามที่มีข่าวเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน) โครงการสาธรยูนีคแต่เดิมถูกพัฒนาให้เป็นคอนโดมิเนียมพักอาศัย โดยเป็นคอนโดมิเนียมในยุคที่อาคารพักอาศัยแนวสูงเริ่มจะเฟื่องฟูในประเทศไทย โครงการนี้เป็นของบริษัทสาธรยูนีค จำกัด โดยมี ผ.ศ. รังสรรค์ ต่อสุวรรณ บิดาของผู้เขียนเป็นผู้พัฒนาและเป็นสถาปนิกด้วย โดยบริษัทฯได้ลงทุนซื้อที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการนี้ แล้วดำเนินการขอสินเชื่อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม๊กซ์ ในวงเงินตามสัญญาจำนวนทั้งสิ้น 660 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภายใต้กฎหมายเครดิตฟองซิเอร์ในสมัยนั้นก็จะต้องบังคับให้บริษัทผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้ทำการตลาดทันที คือขายห้องชุดให้กับประชาชนคนทั่วไปก่อน ที่เรียกกันว่า pre-sale โดยจะต้องเก็บเงินดาวน์และค่างวดตามที่กำหนดไว้ โดยโครงการสาธรยูนีคฯ ถือว่าประสบความสำเร็จทางการตลาดเป็นอย่างมาก กล่าวคือสามารถขายห้องชุดได้มากกว่า 90% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน นอกจากนี้การผ่อนชำระของลูกค้าโครงการก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากด้วยคือประมาณกว่า 50% ของราคาห้องชุดทั้งหมดด้วย

เมื่อโครงการมีลูกค้าจองซื้อ ทางบริษัทฯก็นำเงินของลูกค้าและของบริษัทมาลงทุนเป็นค่าก่อสร้างอาคาร เมื่อทางบริษัทชำระค่าก่อสร้างเป็นงวด ๆ ทางสถาบันการเงินก็จึงปล่อยเงินกู้แบ่งออกมาเป็นงวด ๆ สมทบเข้าไปเช่นกัน ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับโครงการอื่น ๆ ในสมัยนั้น จะเห็นได้ว่าโครงการสาธรยูนีคก็ได้ดำเนินการก่อสร้างมาไกลถึงกว่า 90% ของทั้งโครงการแล้ว ตามที่ปรากฎตั้งตระหง่านเห็นกันได้โดยทั่วไป คือเหลือเพียงแต่โครงสร้างปิดหลังคาโดมเท่านั้น ทั้งนี้การก่อสร้างดำเนินไปมากกว่าที่ได้รับวงเงินกู้มาจากสถาบันการเงินเสียอีก คือบริษัทฯได้รับมาแค่เพียง 441 ล้านเท่านั้นเอง แล้วก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 บรรดาสถาบันการเงินหรือที่เรียกกันว่าบริษัทไฟแนนซ์ทั้ง 56 แห่งโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม็กซ์ก็เป็นหนึ่งในนั้นก็ได้ถูกปิดลงโดยคำสั่งของรัฐบาลไทย

เมื่อ 56 ไฟแนนซ์ถูกปิดลง รัฐบาลไทยก็จัดตั้งองค์กรที่เรียกว่าองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ปรส. โดยมีการนำทรัพย์สินและหนี้สินของสถาบันการเงินทั้ง 56 บริษัทมาบริหารจัดการ โดยกฎหมายของ ปรส. นั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการแก้ไขฟื้นฟูสถานะของสถาบันการเงินให้สามารถกลับมามีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ แต่ในทางปฏิบัติ ปรส. กลับดำเนินการยึดทรัพย์สินของบริษัทไฟแนนซ์ ทั้งยังยึดเอาสภาพหนี้ที่ติดอยู่กับไฟแนนซ์เหล่านั้น นำมาขายในลดราคาให้กับบรรดากองทุนทั้งในและต่างประเทศ ตามหลักฐานที่มีการเผยแพร่กันทั่วไป และในสำนวนคำฟ้องของ DSI ว่ามีมูลค่าทรัพย์สินและสภาพหนี้ที่ยึดมาสูงถึง 851,000 ล้านบาท แต่ ปรส. กลับนำไปประมูลขายลดราคาเหลือเพียง 190,000 ล้านบาทเท่านั้น เปิดโอกาสให้กองทุนทั้งหลายได้เข้ามากอบโกยผลกำไรกันไปอย่างมากมายมหาศาล เชื่อกันว่าการดำเนินการของ ปรส. ในครั้งนั้นเกิดความสูญเสียมากกว่าส่วนต่างทางตัวเลขหกแสนกว่าล้านเสียอีก เพราะมีการโอนสิทธิการประมูลโดยจัดตั้งกองทุนรวมเข้ามาสวมสิทธิแทนโดยผิดกฎหมาย เจตนาก็เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ทั้งยังมีการลอกคราบบริษัทกองทุนรวมเป็นกระบวนการส่งทอดทรัพย์สินและสภาพความเป็นเจ้าหนี้ซึ่งถือเป็นการฟอกทรัพย์ฟอกเงิน

สำหรับหนี้ของโครงการสาธรยูนีคนั้น ก็ได้ถูกจำหน่ายไปให้บริษัทกองทุนรวมสองแห่ง เมื่อกองทุนรวมเล็งเห็นว่าทรัพย์สินของโครงการนี้มีมูลค่าสูงกว่าหนี้ 441 ล้านหลายเท่า ซึ่งแน่นอนว่าต้องสูงกว่าอยู่แล้ว เพราะทรัพย์สินที่ดินและอาคารเป็นการร่วมลงทุนระหว่างเจ้าของโครงการและบรรดาลูกค้าของโครงการหลายร้อยราย ทั้ง ๆ ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม๊กซ์ที่ปล่อยเงินกู้เดิมก็ยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาให้ครบถ้วน คือจะต้องปล่อยเงินกู้ทั้งหมด 660 ล้านบาท แต่ถูกรัฐบาลสั่งปิดกิจการไป รัฐในนามของ ปรส. กลับทำการขายสภาพหนี้ 441 ล้านนี้ ไปให้บริษัทกองทุนรวม เสมือนกับขายสัญญาทาสฝ่ายเดียว และแน่นอนที่สุดว่าบริษัทกองทุนรวมก็ต้องรีบดำเนินคดีเพื่อเรียกหนี้ 441 ล้านพร้อมดอกเบี้ยคืนในทันที (ทั้ง ๆ ที่ตัวเองประมูลมาในราคาส่วนลด) แต่ความจริงแล้วก็คงเล็งเห็นอนาคตว่าการบังคับคดีขายทอดตลาดหรือการบังคับยึดเอาทรัพย์หลักประกันซึ่งก็คือที่ดินและอาคารสาธรยูนีคก็น่าจะสร้างผลกำไรอันมหาศาลได้

ด้วยเหตุนี้เมื่อบริษัทกองทุนรวมสามารถประมูลหนี้ที่มีหลักประกันเป็นที่ดินและอาคารสร้างค้างนี้ได้แล้วก็ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกหนี้จำนวน 441 ล้านพร้อมดอกเบี้ยคืน ส่วนบริษัทสาธรยูนีคฯ ก็จำเป็นต้องดำเนินการฟ้องร้องสถาบันการเงินเดิมที่ถูกรัฐบาลสั่งปิดไปแล้ว ฟ้องในข้อหาผิดสัญญา ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่จะปล่อยเงินกู้ 660 ล้านจนเป็นเหตุให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เกิดความเสียหาย แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกสั่งปิดไปแล้วไม่มีตัวตนให้ดำเนินการฟ้องได้ จำเป็นต้องต่อสู้โดยการไปฟ้องกองทุนฟื้นฟูฯเป็นจำเลยแทน ซึ่งผลทางคดีนั้นก็หวังได้ยาก ส่วนคดีที่เจ้าหนี้รายใหม่ที่เข้ามาสวมสิทธิกลับถูกพิพากษาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ถูกดำเนินการไปในลักษณะคล้าย ๆ กับหลาย ๆ โครงการที่ประสบปัญหาเหมือนกันคือ ลูกหนี้ต้องชดใช้หนี้(จำนวนที่ได้รับการปล่อยกู้มาแล้วพร้อมดอกเบี้ยทั้งๆที่ยังได้รับไม่ครบวงเงินตามสัญญา)

กระบวนการต่อสู้บนศาลนอกจากจะต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนานแล้ว ยังเป็นความลำบากยิ่งกว่าในการที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า บรรดาบริษัทกองทุนรวมเหล่านี้เข้ามาสวมสิทธิโดยมิชอบ ตามคำฟ้องของ DSI และคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เคยออกมาแล้วว่าการดำเนินการของ ปรส. ผิดกฎหมายเพราะก่อนที่จะดำเนินการขายเหมาเข่งทรัพย์สินและสภาพหนี้ของบริษัทไฟแนนซ์ทั้ง 56 แห่งนั้น กฎหมายกำหนดให้มีการชำระบัญชีเสียก่อน เพื่อที่จะสามารถแยกหนี้ดีและหนี้เสียออกจากกันได้ กลุ่มที่เป็นหนี้ดีก็คือหนี้ที่สามารถถูกจัดการเพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้และสามารถนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาชำระคืนในอนาคต คือรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน ส่วนหนี้เสียคือลูกหนี้ที่สิ้นสภาพในการประกอบธุรกิจ รัฐโดย ปรส.ก็จึงยึดทรัพย์หลักประกันและสภาพหนี้มาดำเนินการประมูลขายต่อไป หนี้ของโครงการสาธรยูนีคเป็นหนี้ดีเพราะผู้ประกอบการยังดำเนินกิจการได้ ลูกค้าของโครงการทั้งหมดยังมีความสามารถที่จะชำระเงินค่าห้องชุดได้อยู่ ซึ่งถึงตอนนั้นบรรดาลูกค้าโครงการก็ร่วมกันต่อสู้โดยชำระเงินมาสู่โครงการสูงถึงกว่า 50% แล้ว (ถือเป็นการชำระเงินดาวน์ที่สูงมาก) แต่อาคารสาธรยูนีคก็ต้องประสบปัญหาจนต้องหยุดการก่อสร้าง และทั้งเจ้าของโครงการและบรรดาลูกค้าโครงการต้องมาประสบวิบากกรรมร่วมกันอยู่เกือบสองทศวรรษก็เพราะหน่วยงานของรัฐ หวังจะเอาทรัพย์สินที่มีค่าอันนี้มาเหมาเข่งรวมกับหนี้ด้อยคุณภาพอื่น ๆ เพื่อจะได้ทำการขายทอดตลาดลดราคา แก้ปัญหาแบบกวาดทุกสิ่งทุกอย่างซุกไว้ใต้พรหม

อย่างไรก็ตามโครงการสาธรยูนีคก็ยังถือว่าโชคดีกว่าอีกหลาย ๆ โครงการ เพราะยังมีโอกาสต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้ว่าจะเป็นความยากลำบากอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะหลังจากขบวนการ ปรส. ได้กวาดนักธุรกิจผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยให้ตกอยู่ในสภาพล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัว ฆ่าตัวตายไปเป็นจำนวนมากแล้ว รัฐบาลไทยโดยฝ่ายการเมืองก็ยังดำเนินการในลักษณะเดียวกับ ปรส. คือดำเนินการโอนย้ายถ่ายสภาพหนี้และทรัพย์หลักประกันมาอยู่กับหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ เรียกว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท. หรือ TAMC ซึ่งคราวนี้รัฐบาลได้มีการออกพระราชกำหนดสำหรับหน่วยงานนี้โดยเฉพาะ คือกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานนี้สามารถรับโอนหนี้ไม่ว่าจะด้อยคุณภาพหรือมีคุณภาพจากธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ ทั้งยังมีสามารถบังคับขายทรัพย์หลักประกันทอดตลาดได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลและกรมบังคับคดีอีกด้วย ผลของการดำเนินงานของ บสท. นี้ก็คือการซักล้างสภาวะหนี้เสียท่วมระบบให้แก่บรรดาธนาคารพาณิชย์ของประเทศ เพื่อที่จะให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นกลับมามีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศดังเดิม ดังจะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในประเทศภายหลังการล้างหนี้เสียในระบบของตัวเองได้แล้ว เจ้าของนายธนาคารก็พากันแห่ขายธนาคารให้แก่นักลงทุนจากต่างประเทศไปจนเกือบหมด ส่วนนักธุรกิจผู้ประกอบการค้าระดับกลางและรายเล็กจำนวนมากก็ต้องสูญเสียธุรกิจของตัวเองในการถูกบังคับให้ตัดใจตีทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้ ส่วนมากจะเกรงกลัวสภาวะดอกเบี้ยท่วม และหน่วยงานของรัฐก็จะสามารถมาบังคับคดีต่อกับผู้ค้ำประกันซึ่งจะเป็นความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอาคารที่สร้างค้างจำนวนมากในประเทศนี้ จึงได้เจ้าของโครงการรายใหม่เข้ามาพัฒนาก่อสร้างต่อจนสำเร็จ ทิ้งกองซากศพของผู้ร่วมลงทุนมาแต่แรกไว้เบื้องหลัง

สำหรับอาคารสาธรยูนีคนั้น การต่อสู้บนศาลอาศัยระยะเวลาที่ยาวนาน จนกระทั่งสภาพทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป ระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษทำให้ราคาค่าก่อสร้างถีบตัวสูงขึ้นไปหลายเท่า การที่บริษัทเจ้าของโครงการจะหาเงินลงทุนก่อสร้างต่อเพื่อจะสามารถโอนห้องชุดให้กับลูกค้าที่จองซื้อไว้ตั้งแต่แรกในอัตราเฉลี่ยตารางเมตรละ 25,000 บาทจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่การแก้ไขปัญหาทางธุรกิจในประเทศนี้มักจะสวนทางกับสำนึกทางคุณธรรมเสมอ กล่าวคือการแก้ปัญหาที่มักจะใช้กระบวนการหรือขั้นตอนที่เกี่ยวกับศาลยุติธรรม เพื่อที่จะเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของหรืออะไรก็ตาม มันมักจะเป็นขบวนการในลักษณะสมรู้ร่วมคิดกันในระหว่างเจ้าหนี้รายใหญ่ๆ บดขยี้กดขี่ลดหนี้เจ้าหนี้รายเล็กรายน้อย ซึ่งเจ้าของโครงการสาธรยูนีคมีความประสงค์ที่จะนำทรัพย์สินอาคารหลังนี้จำหน่ายเพื่อชดใช้เงินให้แก่บรรดาลูกค้าของโครงการ ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผู้ร่วมลงทุนตั้งแต่แรก แต่ระบบหรือกลไกทางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยนี้มักจะไม่เอื้อให้เป็นไปอย่างง่ายดายนัก ผู้เขียนจึงมักจะได้รับฟังข้อตำหนิจากบรรดาผู้ลงทุนรายใหม่ที่แสดงความสนใจโครงการนี้อยู่หลายครั้ง ว่าทำไมต้องคืนเงินบรรดาลูกค้าโครงการในอัตราเต็มจำนวน ทั้ง ๆ ที่โครงการอื่น ๆ ทีผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาในลักษณะนี้เขาคืนให้แค่ไม่เกิน 10% ของหนี้เท่านั้น ซึ่งก็ผ่านการรับรองโดยกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายด้วย ดังนั้นเหตุผลของความเนิ่นนานของตึกร้างแห่งนี้จึงเป็นเรื่องที่มาจากความพยายามที่จะลดความสูญเสียของผู้ร่วมลงทุนรายย่อยในตึกนี้ซึ่งหลัก ๆ ก็คือบรรดาลูกค้าผู้จองซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้นเอง

ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาคารร้างสาธรยูนีคแห่งนี้ คือมันไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ไม่สามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เดินเท้าขึ้นตึก 47 ชั้นไปเที่ยวเล่นชมทัศนียภาพอันสวยงามได้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย อาคารยังไม่ได้เปิดใช้งาน และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของความปลอดภัยของผู้คนที่ขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมขึ้นไปถ่ายภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว แต่หากเกิดอุบัติเหตุมีใครพลัดตกลงมาเสียชีวิต ไม่เพียงเจ้าของพื้นที่อาจจะมีความผิด สถานการณ์แก้ไขปัญหาทางธุรกิจของตึกร้างแห่งนี้ก็คงจะพาลล้มพับลงไปด้วย ที่ผ่านมาโครงการสาธรยูนีคถูกกระทำโดยหน่วยงานของรัฐ สมรู้ร่วมคิดกับทุนขนาดใหญ่ในการแสวงหาประโยชน์ ถ่ายโอนสภาพหนี้ ส่งทอดจากกองหนึ่งไปกองหนึ่ง เพื่อที่จะตัดตอนความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้มีโอกาสในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม หรือถึงแม้ว่าพอจะต่อสู้ได้ก็แบบไม่ประติดประต่อ การต่อสู้เพื่อแสวงหาความยุติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้นตึกร้างสาธรยูนีคจึงต้องยืนพรายอยู่กลางใจเมืองกรุงเทพฯมาเกือบสองทศวรรษเพื่อเรียกร้องหาความเป็นธรรม เพราะมันถูกกระทำตั้งแต่ครั้งวิกฤติเศรษฐกิจโดยมาเฟียใหญ่ที่ชื่อรัฐไทย จนถึงวันนี้จะแปลกอะไรที่มันไม่สามารถปกป้องตัวเองจากการซ้ำเติมจากพวกกุ๊ยข้างถนน พวกฉวยโอกาส อย่างบรรดาช่างภาพ นักท่องเที่ยว หรือแม้แต่บัณฑิตใหม่อยากขึ้นไปถ่ายรูปคอสเพลย์ชุดครุย


กำลังโหลดความคิดเห็น