xs
xsm
sm
md
lg

ประมงอนุรักษ์จี้ คสช.เลิกประกาศไซนั่งและไซกุ้งก้ามกรามเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านนำไซกุ้งลงวางดักกุ้งก้ามกรามในทะเลสาบสงขลา
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตัวแทนชาวประมงกลุ่มแพปลาชุมชนยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอให้รัฐบาลมีการยกเลิกการประกาศให้ไซนั่ง และไซกุ้งก้ามกรามเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เผยเป็นเครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้างสัตว์น้ำ เพราะใช้ตาขายขนาดใหญ่จับได้แต่สัตว์ตัวใหญ่ ขณะที่กลุ่มประมงได้รวมตัวเป็นกลุ่มอนุรักษ์ร่วมมือกับภาครัฐอนุรักษ์สัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง จี้เร่งยกเลิกประกาศด่วน
 
วันนี้ (22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (21 ก.ย.) ตัวแทนชาวประมงกลุ่มแพปลาชุมชน บ้านช่องฟืน ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอให้รัฐบาลมีการยกเลิกการประกาศให้ไซนั่ง และไซกุ้งก้ามกรามเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย
 
ตัวแทนชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือขอให้ คสช.ยกเลิกประกาศไซนั่งและไซกุ้งก้ามกรามเป็นเครื่องมือประมงพิดกฏหมาย
 
โดยเนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจาก นายอนันต์ หมานมาน ประมงอำเภอปากพะยูน ได้ชี้แจงต่อชาวประมง ณ โรงเรียนบ้านช่องฟืน หมู่ 2 ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ว่า “ไซนั่ง และไซแม่กุ้ง (กุ้งก้ามกราม) ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย และให้ชาวประมงเลิกใช้เครื่องมือดังกล่าว โดยอ้างตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2558 นั้น”

ขอชี้แจงว่า เครื่องมือดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ทำมาหากินแต่สมัยโบราณ ไม่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำแต่อย่างใด โดยไซนั่งเป็นเครื่องมือใช้จับกุ้งหัวมัน ที่มีขนาดประมาณ 80-100 ตัวต่อกิโลกรัม ใช้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นไซกุ้งก้ามกราม จับกุ้งก้ามกรามได้ขนาดใหญ่สุดถึง 2 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นการทำประมงที่จับสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ และตัวเล็กสุดขนาด 20 ตัวต่อกิโลกรัม รวมทั้งจับปลามิหลัง (ปลาดุกทะเล) ขนาดประมาณ 3 ตัวต่อกิโลกรัม
 
ไซกุ้งก้ามกราม
 
โดยเครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดจับสัตว์น้ำอื่นติดมาด้วยน้อยมาก สัตว์น้ำชนิดอื่นที่จับได้ก็เป็นสัตว์น้ำที่เติบโตได้ขนาดแล้ว เครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดจึงเป็นเครื่องมือที่จับได้สัตว์น้ำขนาดใหญ่ ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ไม่สมควรประกาศเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย และทำลายล้าง นอกจากนั้น ประมงพื้นบ้านช่องฟืนยังรวมตัวกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2532 ถึงปัจจุบัน โดยร่วมมือกับสำนักงานประมงจังหวัดพัทลุงและสถาบันวิจัยเพาะเลี้ยงชายฝั่งจังหวัดสงขลา ตลอดถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีกิจกรรมในการฟื้นฟู ได้แก่ กำหนดเขตปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเป็นประจำทุกปี (อย่างน้อยปีละ 5 ครั้ง) มีกฎระเบียบกติกาในชุมชนเพื่อควบคุมการทำประมงที่ปิดกฎหมายและเครื่องมือทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ มีการกำหนดขนาดการใช้ตาอวนในการจับสัตว์น้ำไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตร จึงจับได้เฉพาะสัตว์น้ำที่ได้ขนาดเหมาะสม มีการจัดตั้งธนาคารสัตว์น้ำชุมชน (กุ้งก้ามกราม) มีประมงอาสาทำหน้าที่ในการตรวจตราดูแลเขตอนุรักษ์ โรงเพาะฟักสัตว์น้ำชุมชนมีกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมชุมชน มีแพรับซื้อ กุ้ง ปลา ในชุมชนบ้านช่องฟืน ฯลฯ
 
ไซนั่ง
 
ล่าสุด ในปี 2558 นี้ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งทำงานร่วมกับ EU ได้รับรองสัตว์น้ำในแพปลาชุมชนบ้านช่องฟืน เป็นสินค้าประมงอินทรีย์ที่ปลอดภัย และได้ขนาดมาตรฐาน นั่นหมายความว่า ชาวประมงในพื้นที่ดังกล่าวได้ทำการประมงอย่างรับผิดชอบ ใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้าง นอกจากนั้น ยังมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู และรักษาทะเลและชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับชุมชนชาวประมงในพื้นที่ใกล้เคียง

การประกาศให้เครื่องมือทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวข้างต้น คือ ไซนั่ง ไซกุ้งก้ามกราม (ไซนอน) เป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย จึงเป็นประกาศที่จะทำให้ชาวประมงที่ทำมาหากินสุจริต และร่วมทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลมาเป็นเวลายาวนานได้รับความเดือนร้อนอย่างที่สุดเป็นจำนวน 7,100 คน จากจำนวนกว่า 3,600 ครัวเรือน
 
กุ้งที่ชาวบ้านจับได้จะเป็นกุ้งก้ามกรามโตเต็ววัย
 
ดังนั้น ขอให้ทบทวนประกาศดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวประมงที่ประกอบอาชีพอย่างสุจริต และควรจะมีการพูดคุยปรึกษาหารือหาทางออกในการแก้ไขปัญหาอย่างมีรูปธรรมชัดเจน โดยมีชาวประมงเข้าร่วมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น
 
กุ้งก้ามกรามที่ติดมากับไซมีขนาดเฉลี่ย 2 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น