xs
xsm
sm
md
lg

สนช.จอง กรธ.3เก้าอี้ “มาร์ค” โดดขวางคง “คปป.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - “สุรชัย” รับยังไม่มีสมาชิก สนช.ตอบรับร่วมร่าง รธน. แต่ขอจองล่วงหน้า 3 เก้าอี้ อ้างต้องทำหน้าที่สื่อสารระหว่างกัน เชื่อ คสช.ไม่รีบแก้ รธน.ชั่วคราว หวั่นถูกมองสืบอำนาจ “มาร์ค” เบรก “วิษณุ” ยัด คปป.ลงร่างใหม่ ทั้งที่ยังไม่มี กรธ. ห่วงเคลียร์ปมรัฐซ้อนรัฐไม่จบสิ้น จี้เขียนบทบาทให้ชัดจะปฏิรูปเรื่องใด อดีตรอง ปธ.ยกร่างฯยกมารยาทค้านชุดเก่าร่วมเป็น กรธ. “เทียนฉาย” ปัดเชียร์ “มีชัย” นั่งประธาน กรธ. "จาตุรนต์" เชื่อนักการเมืองเมินร่วม สปท. เสนอแก้โรดแมป 20 เดือน เหลือแค่ปีเดียว

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเสนอชื่อสมาชิก สนช.ร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครรับเป็น กรธ.ตามที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เสนอให้มีสมาชิก สนช.ให้เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อต้องการให้เป็นตัวเชื่อมการทำงานระหว่าง สนช.กับ กรธ. เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญต้องฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆประกอบด้วย ดังนั้น สนช.มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการเสนอความเห็นในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนกับที่มีสมาชิก สนช.ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่แล้ว ซึ่งก็ได้รวบรวมความเห็นของ สนช.สื่อสารไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ก็จะสามารถสื่อสารเป็นสะพานเชื่อมความเห็นต่อไปยังสมาชิกที่ทำหน้าที่เป็น กรธ.ได้

** สนช.จอง 3 เก้าอี้ร่าง รธน.

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายสุรชัยดำรงตำแหน่ง กรธ.เองได้หรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า ตนอยากให้คนร่างภายใต้ความคิดอิสระ ส่วนคนที่รวบรวมความเห็นทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนความเห็นให้ปรากฏออกมา หากเป็นคนเดียวกันจะเบ็ดเสร็จไม่หลากหลาย และไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม ส่วนจะมีจำนวนกี่คนนั้น คิดว่าควรมีประมาณ 2 - 3 คน พิจารณาคัดเลือกโดยคุยกับเจ้าตัวเอง ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกอะไร ใช้การทาบทามเอา เพราะงานร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานที่กำหนดกรอบเวลา 180 วัน คนที่รับหน้าที่ต้องทำงานร่างรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ต้องมีความทุ่มเทและความพร้อมในระดับหนึ่ง ส่วนจะเป็นนักกฎหมายหรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าควรคละกันไป โดยมีนักกฎหมายส่วนหนึ่งที่มีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน และนักวิชาการสายปกครองเข้าไปร่วมด้วย จะได้ใช้ความรู้ในทางทฤษฎีการเมืองเข้าไปช่วย

เมื่อถามว่า การประชุมแม่น้ำ 3 สายที่ผ่านมาได้มีการพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวประเด็นการทำประชามติหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ให้ไปดูว่าหากจำเป็นก็ต้องแก้ ส่วนการกำหนดระยะเวลาโรดแมปให้สั้นลงนั้น ไม่ได้มีการพูดถึง เป็นเรื่องของขั้นตอนต่างๆเท่านั้น เช่น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไรไม่ได้เขียนไว้ ในทางการเมือง ถ้าแก้เร็วก็จะถูกครหาว่าเป็นการวางแผนต่ออายุ ดังนั้นต้องดูความเหมาะสมของช่วงเวลาอีกที

** “มาร์ค” โวย “วิษณุ” ชี้นำก่อนมี กรธ.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าในร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ว่า นายวิษณุควรให้เกียรติผู้ที่จะมาร่างก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร แนวความคิดที่อยากมีบางอย่างเพื่อมาแก้ปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือการระงับยับยั้งการกระทำที่เสียหายจากรัฐบาลเลือกตั้ง ตนไม่เคยคดัค้าน แต่ถ้าพยายามทำในรูปแบบเดิม คือ คปป.ที่มีอำนาจรัฐซ้อนรัฐจะสร้างปัญหาและความขัดแย้งมากกว่าจะแก้ไขปัญหา จึงอยากให้ใจเย็นและให้ กรธ.คุยกันก่อน เพราะส่วนใหญ่ก็มองเห็นว่าจะต้องแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้าไปยึดรูปแบบเดิมที่เคยมีการโต้แย้งไม่ได้รับความเห็นชอบมาแล้ว ตนเห็นว่าไม่ช่วยให้ประเทศเดินหน้า ดังนั้นจึงควรช่วยกันคิดทำให้ประเทศเดินหน้าโดยไม่มีปัญหาในอนาคตจะดีกว่า

“ผู้ที่ควบคุมนักการเมืองที่ดีที่สุดคือระบบศาล องค์กรอิสระ และประชาชน ถ้าสังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมีช่องทางในการมีส่วนร่วมก็เป็นเรื่องดีที่สุด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** ฝากถามตั้ง คปป.มาปฏิรูปเรื่องอะไร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้จะมีคณะกรรมการขึ้นมาต้องมีขอบเขตอำนาจที่ชัดเจนไม่ใช่ใช้คำลอย ๆ ว่าปฏิรูปจะเสนออะไรก็ได้ที่ผูกพันกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ส่วนอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เขียนไว้ก็มองไม่ออกว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างไร เพราะถึงที่สุดแล้วถ้าคลี่คลายสถานการณ์ก็หนีไม่พ้นทหาร ตำรวจ ซึ่งกฎอัยการศึกก็แรงที่สุดแล้วไม่มีอะไรสามารถทำได้มากกว่ากฎอัยการศึกแล้ว ส่วนที่อ้างว่าคปป.เกี่ยวข้องกับแค่การปฏิรูปไม่เกี่ยวกับการบริหารนั้น ขอถามกลับว่า มีการปฏิรูปเรื่องอะไรบ้างที่ไม่ต้องใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ มันซ้อนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนเป็นผู้ที่พยายามผลักดันการปฏิรูปและอยากให้สำเร็จ แต่ไม่ใช่อ้างว่า จะปฎิรูปแล้วไม่บอกว่าจะปฏิรูปอะไร ซึ่งอาจมีความผิดเพี้ยนไปถึงขั้นการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะในการร่างคราวที่แล้วก็มีแนวคิดนี้อยู่ จึงอยากให้ยึดหลักให้แน่นก่อน

“ผมชอบใจที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการรับผิดทางกฎหมายก่อน ดังนั้นถ้าเขียนเงื่อนไขให้ชัดเจนขึ้นค่อยมาว่ากัน แต่ถ้าพยายามเขียนแบบเดิมที่มีปัญหามาแล้วก็ไม่เดินหน้า ผมอยากขอว่าเราอย่าสร้างปัญหาแต่ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีรัฐธรรมนูญที่ดีมีการปฏิรูป เปิดกว้างในการสร้างกลไกที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ดีกว่า” อดีตนายกฯระบุ

** เชื่อ 21 กรธ.เจองานหินแน่

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึง คปป.ก็กลับมาสู่เรื่องเดิมอีก กล่าวหากันไปมาว่า ประชาธิปไตย เผด็จการ สืบทอดอำนาจ เผด็จการรัฐสภา ซึ่งนายกฯก็บอกว่าไม่อยากให้วนเวียนอยู่กับเรื่องเหล่านี้ ตนคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเอาเนื้อหาสาระมาพูดกันว่าจะปฏิรูปอะไรและจะสร้างกลไกแบบไหนดูแลให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเดินหน้าปฏิรูป นอกจากนี้ส่วนตัวเชื่อว่าการทำงานของ กรธ. 21 คนในอนาคตนั้นเป็นเรื่องยาก แต่อยากย้ำว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะต้องผ่านการทำประชามติ ดังนั้นต้องทำให้ประชาชนและสังคมเห็นว่าสิ่งที่ร่างดีอย่างไร ปฏิรูปอย่างไร ไม่เป็นปัญหาอย่างไร เพราะในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 จะมีแรงกดดันมากขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากไม่มีใครอยากเห็นทำรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งแล้ว แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้

เมื่อถามว่า ผู้มีอำนาจจากการคว่ำรัฐธรรมนูญอาจจะชอบที่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น มีแต่จะทำให้ตรึงเครียดและเกิดความขัดแย้งมากขึ้น จึงอยากให้ตั้งหลักให้ดี ระบุความจำเป็นแล้วหาเครื่องมือที่เหมาะสม ถ้าเอาปัญหามา แต่ไม่ตอบโจทย์ให้ตรงจุดก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น

** ชี้ อดีต กมธ.ไม่ควรร่วมเขียน รธน.อีก

นางนรีวรรณ จินตกานนท์ อดีตรองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากอดีตกมธ.ยกร่างฯเข้ามาเป็น กรธ. ชุดใหม่จะเหมาะสมหรือไม่ว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องของมุมมองที่แต่ละฝ่ายจะมีความเห็นกันไป หากมองว่าเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งดำเนินการเสร็จไปนั้นมีข้อดี และถ้ามีอดีต กมธ.ยกร่างฯเข้ามามีส่วนร่วมด้วยแล้วจะทำให้การทำงานเกิดความต่อเนื่องและสามารถอธิบายเหตุผลต่างๆได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้ว โดยมารยาทอดีต กมธ.ยกร่างฯก็ไม่ควรกลับมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง

“ขอยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ กมธ.ยกร่างฯจัดทำขึ้นนั้นมีข้อดีมากมาย โดยประเด็นที่พูดกันมากคือเรื่องการให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาชน ขณะเดียวกันเนื้อหาสาระในบทเฉพาะกาลเราเขียนขึ้นโดยตระหนักถึงปัญหาของประเทศชาติว่าควรจะดำเนินการอย่างไรในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน แม้จะมีบางประเด็นที่ยังเป็นปัญหาก็สามารถปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมได้ เพราะไม่ได้มีอะไรที่ผิดมากหรือถูกมากนั่นเองทุกอย่างสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้” นางนรีวรรณ ระบุ

** “อ๋อย” เชื่อนักการเมืองเมินนั่ง สปท.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งว่า น่าจะชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการตั้งนักการเมืองเข้าไปเป็น กรธ.ชุดใหม่ และจะมีนักการเมืองจากพรรคใหญ่บางพรรคเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคใดบ้าง ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้พูดถึงแนวทางของพรรคไปบ้างแล้วว่า คงไม่อาจเข้าร่วมในองค์กรที่มาจากการรัฐประหารได้ แต่จะมีสมาชิกพรรคไปร่วมบ้างหรือไม่ยังไม่อาจทราบได้ ตนอยากจะให้ความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่นักการเมืองบางส่วนเห็นว่าไม่ควรเข้าร่วมใน สปท. เนื่องจากความไม่เชื่อในการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่มีมาก่อนการรัฐประหาร และดูเหมือนจะดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องสิ่งที่เรียกว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ปรากฏวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ผ่านมาจะปีครึ่งไม่เห็นข้อสรุปอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า กระบวนการที่ทำกันมา และที่จะทำต่อไปก็ไม่ใช่กระบวนการที่เปิดรับความเห็นที่หลากหลาย ยิ่งในรอบนี้บรรยากาศยิ่งดูจะปิดหนักยิ่งกว่าเดิม ใครจะเสนอความเห็นต่างก็ไม่ได้ภายใต้บรรยากาศและด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการปฏิรูป พูดแบบสั้นๆได้ใจความที่สุดก็คือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่การปฏิรูป และไม่มีทางเป็นการปฏิรูปไปได้ ถือเป็นเหตุผลหลักและตรงไปตรงมาที่นักการเมืองบางส่วนไม่ประสงค์จะเข้าร่วมใน สปท. สำหรับสังคมที่อยู่ในสภาพที่มีความขัดแย้งสะสมมายาวนานการปฏิรูปเป็นสิ่งจำเป็น แต่การปฏิรูปที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม และมีอำนาจในการตัดสินใจเท่านั้น

** ใช้เวลาร่าง รธน.ปีเดียวก็พอ

นายจาตุรนต์ ยังได้เสนอถึงข้อเสนอให้เปลี่ยนเงื่อนเวลาโรดแมปของการร่างรัฐธรรมนูญจากสูตร 20 เดือน หรือ 6-4-6-4 ด้วยว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรใช้เวลาเพียง 11 เดือน หรือ 1 ปีเท่านั้น อาจจะเป็นสูตร 3-3 3-3 หรือ 3-3-3-2 ก็เพียงพอ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้สังคมไทยพอรู้ว่าเรื่องใดรับได้ เรื่องใดรับไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องนับหนึ่งใหม่ ประเด็นยากๆที่มีการวิจารณ์ ขอให้เปิดแสดงความคิดเห็นอย่างกว้าง ใช้เวลาสั้นๆ 3 เดือนก็น่าจะเกินพอ ขั้นตอนการลงประชามติเหลือ 3 เดือน ร่างกฎหมายลูก เหลือ 3 เดือน สามารถหาทีมร่างไว้ได้ตั้งแต่ตอนนี้ ส่วนการเตรียมเลือกตั้งใช้เวลา 2 เดือนก็คงเพียงพอ ทั้งการเปลี่ยนระยะเวลาโรดแมปนี้ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง เพราะเป็นโรดแมปปลายเปิด หากลงประชามติรัฐธรรมนูญ อาจผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนได้ ถ้าไม่ผ่านกระบวนการจะยืดออกไป ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือควรกำหนดว่าหากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ไม่ใช่เลือกระหว่างร่างของอดีต กมธ.ยกร่างฯ กับการร่างใหม่อีกไม่รู้จบ

“ข้อเสนอที่มีก่อนหน้านี้คือหากไม่ผ่านประชามติก็ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ไปก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้ง และมีการบริหารประเทศไปได้ แล้วก็กำหนดให้มีการเลือก ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยประชาชน แนวโน้มคงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ เกี่ยวกับเงื่อนไขในการลงประชามติอยู่แล้ว ก็น่าจะนำประเด็นเหล่านี้ไปรวมแก้ในคราวเดียวกัน” นายจาตุรนต์ ระบุ

** “เทียนฉาย” ฉุนถูกอ้างหนุน “มีชัย”

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธาน สปช.กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า นายเทียนฉายไปให้ความเห็นว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คสช.อาจมาทำหน้าประธาน กรธ.ว่า ข่าวดังกล่าวไม่ใช่ความเห็นของตนแน่นอน ซึ่งมีคนโทรศัพท์มาหาเพื่อให้ไปออกรายการวิทยุช่วงเช้า แต่ก็ได้ปฏิเสธไป มีเพียงการพูดคุยเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ได้มีลักษณะการให้สัมภาษณ์ด้วย ข่าวดังกล่าวอาจจะเกิดจากถูกถามนำว่า ใครจะเหมาะนั่งในตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ ตนก็ตอบแบบไม่ฟังธงว่าใครเหมาะหรือไม่เหมาะ เราก็ตอบว่าทุกคนก็มีทั้งความรู้ประสบการณ์ก็แค่นั้น ทั้งนี้ เข้าใจดีว่าเวลานี้ทุกคนต้องการข่าว แต่สิ่งที่อยากพูดก็คือ ถ้าตนถูกนำเป็นเครื่องมือนำไปขยายแบบนี้คงไม่ไหว เราจะไปพูดคุยเรื่องรายชื่อ กรธ.นั้นไม่ได้ ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรแล้ว ไม่รู้จักใคร ไม่ได้ติดต่อใครแล้ว หลังจากหมดวาระการทำงานในตำแหน่งประธาน สปช. ต่อไปนี้ตนคงจะต้องระมัดระวังเรื่องการให้สัมภาษณ์มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น