xs
xsm
sm
md
lg

โจทย์ของเนติบริกรรายใหม่

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ถึงตอนนี้คำถามที่ปลิวว่อนอยู่ในสายลมก็คือ ใครจะมาเป็นเนติบริกรรายใหม่มาเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ถึงตอนที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้มีคนปล่อยรายชื่อออกมาบ้างแล้ว แต่คำถามว่าคนเหล่านั้นจะกล้าไหม แล้วผู้กล้าเหล่านั้นจะมีชะตากรรมอย่างไร

หลังจากกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดแรก ถูกแป๊ะทำวิสามัญฆาตกรรมหมู่ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญเอาใจแป๊ะทุกอย่าง ทั้งๆ โมเดลเพื่อการสืบทอดอำนาจ ที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่มาของ ส.ว.สรรหา และรูปแบบการเลือกตั้งที่จะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากเกินครึ่งได้

บางคนบอกว่าแป๊ะรู้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ถ้าผ่าน สปช.ไปก็ไม่สามารถผ่านประชามติได้ เพราะพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ไม่เอา ประเด็นคงไม่ใช่รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนผิดแบบกิ้งกือเดินตกท่อว่า การทำประชามติต้องให้ผ่านจำนวน “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หรอกครับ เพราะประเด็นนั้นแก้ไขได้ แต่คงคิดแล้วว่า เอาเฉพาะแค่ผ่านครึ่งหนึ่งจากจำนวน “ผู้ไปใช้สิทธิ” ก็น่าจะยาก

เลยตัดสินใจวิสามัญเสียดีกว่า รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.ไม่ได้เสียหายอะไร แถมได้อยู่ในอำนาจยาวไปอีกหลายเดือน แต่ถ้าส่งไปทำประชามติแล้วไม่ผ่าน คสช.จะเสียรังวัด

ปัญหาของคนที่จะมาร่างใหม่ก็คือ ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญ “กลมเกลี้ยง” กว่าเดิม ถูกใจแป๊ะด้วย และถูกใจพรรคการเมืองซึ่งกุมเสียงประชาชนด้วย และต้องเป็นหน่วยกล้าตายด้วย เพราะอาจถูกแป๊ะวิสามัญเหมือนชุดเก่าอีก

น่าสงสารสำหรับกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกวิสามัญไปก็คือ ไม่มีใครอาลัยอาวรณ์เลยแม้ประชาชนสองฝ่ายจะมีความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันก็ตาม

เพราะฝ่ายเสื้อแดงที่เป็นพวกเลือกตั้งนิยม ก็มองว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยกีดกันนักการเมือง ฝ่ายที่สนับสนุน คสช.ที่เกลียดนักการเมืองก็มองว่า รัฐธรรมนูญไม่ผ่านเลือกตั้งก็ดีแล้วจะได้อยู่กับรัฐบาลประยุทธ์ต่อไป

นี่น่าจะเป็นสองนคราธิปไตยที่แท้จริง

โจทย์ของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ จึงเป็นโจทย์ยาก เพราะยังไงเสียก็ต้องเอาไปลงประชามติอีก ที่ต้องเอาใจผู้มีอำนาจ ต้องเอาใจนักการเมืองสองขั้ว คงเอาใจประชาชนสองฝ่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยต้องให้ประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมรับให้ได้ ไม่ใช่ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่ยอมรับ

ประเด็นสำคัญก็คือ คนที่มีอิทธิพลใน คสช.ตัวจริง ที่มีข่าวว่า เป็นคนสั่งให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพูดกันว่า มีความใฝ่ฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นอยู่ในจุดที่มั่นใจหรือยังว่า ถ้าปล่อยอำนาจไปแล้ว ตัวเองจะได้กลับมามีอำนาจอีก ไม่เพียงแต่หวังให้รัฐธรรมนูญสร้างขุมข่ายแบบโปลิตบูโรในแบบ คปป.เท่านั้น แต่น่าจะต้องมั่นใจได้ว่า ตัวเองจะได้นั่งในเก้าอี้ที่ใฝ่ฝันด้วย

คงเพราะยังไม่มั่นใจไม่ชัวร์นั่นแหละครับ ก็เลยสั่งให้คว่ำเสียก่อน

ผมมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้สอดมือมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ถ้าจะว่าไปแล้ว เราจะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นพูดเชียร์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตลอด แม้กระทั่งในคืนวันศุกร์ก่อนที่ สปช.จะลงมติก็ยังพูดเชียร์ร่างรัฐธรรมนูญอยู่เลย พล.อ.ประยุทธ์นั้นน่าจะพอแล้ว แต่พี่ใหญ่ซึ่งเป็นนายของพล.อ.ประยุทธ์มากกว่า 40 ปีน่าจะยังไม่พอ

ถามว่าระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กับพี่ใหญ่ใครมีบารมีมากกว่า ใครเกรงใจใคร ใครต้องฟังใคร อย่าลืมนะครับว่า พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งขึ้นเป็นนายเพียงปีกว่านี้เอง จากเดิมเคยเป็นลูกน้องมา 40 กว่าปี แล้วพี่ใหญ่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองไหม คนเขาก็รู้กันทั้งสังคม พล.อ.ประยุทธ์ก็ย่อมจะรู้ ดังนั้นที่พล.อ.ประยุทธ์บ่นมาตลอดว่า พอแล้วไม่เอาแล้วก็น่าจะจริง แล้วยิ่งบ่นก็ยิ่งทำให้พี่ใหญ่เคลิบเคลิ้มด้วย

พี่ใหญ่ใหญ่จริงไหม ก็คงเห็นแล้วว่า พี่ใหญ่กวาดหมดทั้งตำแหน่ง ผบ.ทบ.และผบ.ตร.ชนิดที่ไม่แบ่งให้ลูกน้องเลย

ผมคิดว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จะหาคนมาร่างขึ้นใหม่ การสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐแบบร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปในรูปของ คปป.ก็น่าจะยังคงอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่พอใจด้วยเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ แม้ว่า คสช.จะมีกฎเหล็กที่ประกาศไปแล้วว่า การทำประชามติห้ามฝ่ายคัดค้านออกมารณรงค์ก็ตาม แต่เรื่องนี้แค่ส่งสัญญาณกันก็รู้แล้วเพราะการลงประชามติเป็นรูปแบบที่พรรคการเมืองเจนจัดมากกว่า ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยที่นักการเมืองวางไว้ยังเป็นตัวชี้วัดที่แท้จริงของการเมืองไทย

หรืออย่างน้อยที่สุดต้องทำให้พรรคการเมือง 1 ใน 2 พรรคการเมืองใหญ่ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยพรรคใดพรรคหนึ่งพอใจ จึงจะผ่านได้แบบรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านประชามติ เพราะมีเพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่คัดค้าน แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่คัดค้าน เมื่อรวมกับคนกลางๆ รัฐธรรมนูญก็ผ่านได้

แต่อย่าลืมว่าครั้งนี้เนติบริกรรายใหม่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะแต่งตั้งใหม่ 21 คนนี้ ไม่ต้องผ่านกระบวนการหรือพิธีกรรมอะไรแบบกรรมาธิการชุดเก่าอีก แต่ผู้มีอำนาจเลือกมากับมือเลย แต่ใครบ้างละครับที่จะเอาตัวมาเสี่ยงอาจจะมีชะตากรรมแบบกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดเก่า สุดท้ายก็ต้องเอาใจคนที่แต่งตั้งมามากกว่าใครนั่นแหละจะไปคาดหวังอะไรมากกว่านี้

ดังนั้นเราไม่ควรไปคาดหวังประชาธิปไตยจากรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะเราคงให้ไข่จระเข้ฟักออกมาเป็นลูกไก่ไม่ได้ เราไม่ได้มีตัวแปรแค่การคืนอำนาจไปสู่ประชาชนเพื่อให้บ้านเมืองเกิดการปรองดองสันติสุข แต่เขามีโจทย์ที่ทำอย่างไรให้สืบทอดอำนาจได้ด้วย อย่าไปพร่ำเพ้อว่าประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่แท้จริงแล้วเป็นการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของคนไม่กี่คนเท่านั้นเอง

ส่วนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ที่มวลชนกลุ่มหนึ่งเคยเอาชีวิตเข้าแลกนั้นไม่ต้องพูดถึงอีกต่อไป เพราะนั่นกลายเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติก็ล้มไปแล้วอย่างที่ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างเก่งก็อาจจะมีแบบแผนบ้างในกระดาษเท่านั้นเองแล้วอีกไม่นานก็จะกลายเป็นเศษกระดาษที่ไม่มีค่าอะไร

ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่คนเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญคือลูกของเจ้าพระยาพหลฯ ข้อดีของความแตกแยกในสังคมไทยตลอด 10 ปีก็คือ ประชาชนทั้งสองฝ่ายต่างเรียนรู้และเข้าใจการเมืองมากขึ้น ประชาชนส่วนหนึ่งยินยอมให้ทหารเข้ามามีอำนาจเพราะเห็นว่าสังคมไทยไร้ทางออก และหยุดวิกฤตความขัดแย้งลงได้ชั่วขณะ

ใครจะรับใช้ผู้มีอำนาจในขณะนี้ก็ควรจะรู้ว่า จะทำอย่างไรให้วิกฤตและความขัดแย้งหมดไปจากสังคมไทย แล้วควรทำอย่างไรไม่ให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นวิกฤตความขัดแย้งที่ยิ่งกว่าเก่า

นี่เป็นโจทย์ที่เนติบริกรและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่ต้องคิดก่อนตัดสินใจรับใช้ผู้มีอำนาจ
กำลังโหลดความคิดเห็น