xs
xsm
sm
md
lg

โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร หมื่นสี่พันกว่าล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ

พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ
ptorsuwan@yahoo.com

การเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่าคณะคสช อาจจะเป็นความหวังของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเมืองในกรุงเทพฯ ซึ่งผ่านช่วงวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างยาวนานหลายปี นอกเหนือจากคณะ คสช จะเป็นฝ่ายที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งต่างฝ่ายต่างเผชิญหน้ากันนำไปสู่ความรุนแรงในหลายระดับแล้ว การเข้ามาบริหารประเทศเป็นรัฐบาลของคณะทหารก็ยังเป็นความหวังของคนอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ปรารถนาการตัวกลางได้เข้ามาจัดการปัญหาทางสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศนี้มีความพร้อม สามารถกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถึงขณะนี้ก็คงยังจะต้องยอมรับกันว่าเป็นระบบที่บริหารจัดการสังคม การเมือง และเศรษฐกิจได้สมดุลมากที่สุดในสากลโลก



โครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร เป็นดำริของรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งท่านก็คงจะมุ่งหวังที่จะทำหน้าที่คืนความสุขให้แก่ประชาชนตามที่ท่านสัญญาไว้ ด้วยการลงทุนที่เกี่ยวกับเรื่องสร้างสรรค์แบบยั่งยืน ซึ่งถ้าจะพิจารณาในแบบเบื้องต้นที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องของการก่อสร้างถาวรวัตถุ โดยภาครัฐอาจจะเล็งเห็นว่ากรุงเทพฯของเรานั้น ขาดแคลนพื้นที่สาธารณะอย่างจริงจัง พื้นที่สาธารณะที่คนเมืองกรุงในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่เข้าใจกันก็คือศูนย์การค้า ซึ่งความจริงแล้วมีภาคธุรกิจเอกชนเป็นเจ้าของ ประชาชนทั้งหลายจะต้องชำระค่าใช้พื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อมเมื่อเข้าไปใช้พื้นที่ จนกระทั่งกลายเป็นพื้นที่ที่คนเมืองส่วนใหญ่เข้าใจกันไปเองว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ใช่ คนเมืองอย่างเราได้ถูกกล่อมเกลาให้ตกอยู่ภายใต้ลัทธิบริโภคนิยมผ่านการใช้พื้นที่สาธารณะจำแลง ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเคยเป็นสายน้ำที่ผูกพันกับคนเมืองอย่างแนบแน่น หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ผู้คนจำเป็นต้องถอยห่างจากสายน้ำ โดยภาครัฐมีการสร้างถนนสำหรับรถยนต์ถมทับแทนคูคลองซึ่งเป็นแขนงสาขาของแม่น้ำ จึงทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาได้ถูกตัดขาดจากสำนึกของคนเมืองไปโดยปริยาย

พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่ก็มักจะถูกครอบครองโดยภาคเอกชน โดยการวางผังถนนในแบบที่เป็นอยู่ของกรุงเทพฯ เอื้อให้เกิดพื้นที่กรรมสิทธิ์ขนาดใหญ่มากพอสำหรับปลูกสร้างอาคารขนาดใหญ่ของบรรดาธุรกิจเอกชน พื้นที่ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หรือจะมีแบบกึ่งสาธารณะบ้างก็คงจะเป็นศาสนสถานอย่างวัดเท่านั้น ส่วนชาวบ้านชาวเมืองจะสามารถชื่นชมความงามของแม่น้ำก็ต้องไปเสี่ยงถูกรถชนอยู่บนกลางสะพานข้ามแม่น้ำ หรือไม่ก็ต้องไปที่เขตอภัยทานของวัด นอกจากนั้นก็ล้วนเป็นเขตห้ามเข้าหรือถ้าจะเข้าได้ด็ต้องผ่านกระบวนการบริโภคนิยมเท่านั้น

แนวความคิดของรัฐบาลที่จะจัดพื้นที่สาธารณะริมน้ำเจ้าพระยาในลักษณะพื้นที่สันทนาการสำหรับประชาคมเมืองจึงเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะภายใต้บริบทการเมืองแบบประชาธิปไตยอาจจะริเริ่มได้ลำบาก เพราะโครงการแบบนี้ไม่เพียงจะต้องมีการกระทบกระทั่งชุมชนทั้งที่อยู่บนแผ่นดินและพวกที่รุกล้ำแม่น้ำ ซึ่งไม่เพียงแต่ชุมชนที่เป็นฐานเสียงทางการเมืองที่สำคัญเท่านั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินริมแม่น้ำที่ส่วนใหญ่จะเป็นนายทุนชั้นนำของประเทศ ซึ่งก็มักจะเป็นแหล่งทุนสำคัญของพรรคการเมืองเสียด้วย โครงการที่สร้างผลกระทบต่อผลประโยชน์ของผู้มีเอี่ยวกับฝ่ายการเมืองจึงอาจจะเกิดขึ้นได้ยากในสภาวะปรกติ

แต่การสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อประชาคมเมือง เพราะพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีจิตสำนึกรักบ้านรักเมืองด้วยการกระทำนั้น มีอยู่น้อยมากหรือเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลยก็ได้ ในเมื่อภาครัฐไม่เคยตระหนักถึงความสำคัญในการจัดพื้นที่ซึ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความฝัน ความหวังของพลเมืองในทุกระดับ คนยากคนจนมีโอกาสลืมตาอ้าปาก กับพื้นที่ส่งเสริมด้านการประกอบสัมมาอาชีพของพวกเขา คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ในพื้นที่สันทนาการที่เรียกว่าจตุรัสของเมือง ประชาชนคนทั่วไปทั้งหลายได้มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวในสถานที่ซึ่งมีทั้งความงดงามและอากาศอันบริสุทธิ์ เด็ก ๆ ได้รู้จักการออกกำลังกายกลางแจ้งร่วมกันกับเพื่อนใหม่ ๆ โดยที่ไม่ต้องไปจ่ายค่าสมาชิกตามสปอร์ตคลับเท่านั้น ในพื้นที่สันทนาการสร้างสรรค์ผู้คนในเมืองจะตระหนักรู้ที่จะแบ่งปันเอื้ออาทรต่อกัน เป็นสถานที่ซึ่งนำพาผู้คนมาใช้ประโยชน์ร่วมกันและกลับสู่ธรรมชาติของแม่น้ำ

น่าเสียดายที่โครงการนี้ถูกผลักดันอย่างรีบเร่งเหลือเกิน จนดูเหมือนว่าภาครัฐไม่ได้ทำการศึกษาวิจัยอะไรให้มีความรอบด้านเลย และด้วยงบประมาณก่อสร้างที่สูงถึงหนึ่งหมื่นสี่พันกว่าล้าน จึงทำให้โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาสมาคมวิชาชีพออกแบบ นักผังเมือง ตลอดจนประชาคมเมืองริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัญหาของโครงการนี้ผู้เขียนคิดว่าจำแนกออกเป็นสองประเด็นหลัก

ประการแรกก็คือ ความเหมาะสมของโครงการ ที่ถูกทำให้เป็นเพียงงานก่อสร้างแต่ไม่ได้ถูกสร้างสรรค์ให้เหมาะสมกับบริบทของลำน้ำเจ้าพระยา โดยเป็นผลงานของสำนักการโยธาฯของกรุงเทพมหานคร ซึ่งรับบัญชามาจากรัฐบาล ให้ผลักดันโครงการนี้เป็นวาระเร่งด่วน โดยครั้งแรกตั้งใจจะรวบรัดให้สามารถเริ่มการก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558นี้เสียด้วย การออกแบบของสำนักการโยธากรุงเทพฯ ก็คือการสร้างทางจักรยานและทางเดินสัญจรที่เป็นเสมือนทางด่วนของรถยนต์ ซึ่งเป็นโครงสร้างคอนกรีตที่คร่อมบนแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโครงสร้างที่ว่านี้มีขนาดความกว้างข้างละประมาณ 20 เมตร วิ่งคู่ขนานสองฟากฝั่งแม่น้ำไปเป็นระยะทางทั้งหมดประมาณ 14 กิโลเมตร ทางด่วนนี้แน่นอนว่าจะมีโครงสร้างตอหม้อและเสาจำนวนนับไม่ถ้วน เพื่อยกโครงสร้างทางด่วนนี้ให้อยู่สูงเหนือกำแพงกันตลิ่งไปอีก หมายความว่าทางด่วนจักรยานนี้จะกลายเป็นเสมือนกิ้งกือยักษ์ที่วางพาดผ่านริมตลิ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง และด้วยโครงสร้างอันใหญ่โตอลังการเพียงอย่างเดียวก็สามารถก่อเกิดเป็นทัศนอุจจาดได้อยู่แล้ว ทั้งนี้เมื่อโครงสร้างนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว ด้วยแพลทฟอร์มที่เรียบปราศจากการออกแบบด้วยความใส่ใจ จึงเป็นแค่พื้นที่กว้างขวางเป็นระยะทางยาวไกล ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการบุกรุกของแผงลอย เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นบนทางเท้าในบริเวณย่านการค้าสำคัญ ๆ เกือบทุกหนทุกแห่งในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่อื่นๆในประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐก็ประสบความล้มเหลวในการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายมาโดยตลอด ทั้งยังกระทำละเมิดกฎหมายด้วยการใช้อำนาจกำหนดเขตผ่อนปรน กลายเป็นการยักยอกพื้นที่สาธารณะเอาไปแสวงหาประโยชน์ไปจนสังคมรู้สึกระอาจนชาชิน แล้วถ้าจะเลวร้ายไปกว่าการตั้งแผงลอยค้าขาย ก็อาจจะเป็นการบุกรุกพื้นที่โครงสร้างทางด่วนจักรยานนี้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยแออัด ซึ่งก็คือสลัมนั่นเอง และสลัมนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงมากเช่นเดียวกันด้วยเหตุผลความหย่อนยานของรัฐและการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำเกี่ยวกับโครงการนี้ก็คือการเร่งระดมสมองจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ประชาชน ชุมชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กำหนดกระบวนการศึกษาจัดทำรายละเอียดของบริบทริมฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่แต่ละส่วนมีสภาพที่แตกต่างกัน มีปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบย่อมแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเส้นทางจักรยาน ทางเดินสัญจร สวนสาธารณะริมน้ำ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็สมควรจะได้รับการออกแบบซึ่งสะท้อนมาจากบริบทที่เป็นอยู่ เส้นทางสัญจรหรือพื้นที่สันทนาการย่อมไม่มีความจำเป็นจะต้องใหญ่โตกว้างขวางเสมอกันตลอดแนวเส้นทาง การออกแบบควรจะมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ดำรงอยู่ไม่ว่าจะเป็นชุมชน วัด วัง โรงเรียน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าจะสะท้อนออกมาที่ผลงานออกแบบลักษณะพื้นที่ ขนาดเล็กใหญ่ กว้างแคบไม่เท่ากันก็ได้ สิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีการจัดทำการศึกษาอย่างมืออาชีพ ถ้าโครงการนี้มีการศึกษาวิจัยได้ในระดับที่ลงลึกทั้งในด้านสังคม สถาปัตกรรม และวิศวกรรมรองรับไว้แล้ว โครงการนี้ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยสิทธิพิเศษสำหรับการหลีกเลี่ยงกฎหมายทั้งเรื่องการทำรายงานสิ่งแวดล้อม(EIA) ตลอดจนการผ่านประจาพิจารณ์จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ(เดิม)แต่อย่างใด

ประการสุดท้ายเกี่ยวกับความชอบธรรมของโครงการนี้ ทั้งในแง่ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องคลอดโครงการขนาดใหญ่สำหรับการผลาญงบประมาณหมื่นสี่พันกว่าล้านนี้เพียงพื่อสร้างทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของคนกรุงเทพฯเท่านั้น ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาหนัก ทั้งจากแรงกดดันจากนานาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายโลกตะวันตก และความถดถอยในทุกมิติภายในประเทศเอง การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐในรัฐบาลนี้จึงสมควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง มีการกระตุ้นให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของชาวเมืองและชาวชนบท การเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้น การที่รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณมากมายมหาศาลขนาดนี้ เพียงเพื่อสันทนาการปั่นจักรยานของชาวเมือง ย่อมเป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่ถูกกดขี่ เอาเปรียบทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการเข้ามาสมานรอยร้าวของสังคมไทย รัฐบาลไม่พึงเป็นตัวขยายรอยแตกแยกอันนี้เสียเอง อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องงบประมาณก่อสร้างโครงการจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าจับตาเพราะเป็นมูลค่าการลงทุนที่สูงยิ่ง ประกอบกับความพยายามในการเร่งรัดโครงการทั้งในเรื่องการออกแบบและประมูลงานก่อสร้าง ย่อมทำให้สาธารณชนเกิดความฉงนสงสัยว่าโครงการทางจักรยานนี้มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องเร่งรีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลทหารที่ทำการรัฐประหารเข้ามา เหตุผลของการทำรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทยทุกครั้งก็คือ การที่รัฐบาลเดิมมีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างมโหฬาร ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากเหตุผลของการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สมควรที่จะออกนโยบายหรือโครงการอะไรก็ตาม ที่จะทำให้สาธารชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องความโปร่งใส เพราะนั่นคือจุดแข็งเพียงจุดเดียวของรัฐบาลชุดนี้ และย่อมส่งผลสะท้อนต่อภาพใหญ่เรื่องภารกิจคืนความสุขของรัฐบาลด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น