xs
xsm
sm
md
lg

เสียงวอนผ่าน “เจ้าพระยา” ฟังเสียงประชาชน ก่อนวิถีริมน้ำจะถูกทำลาย!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสียงคัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการก่อสร้างโครงการเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มหนาหูมากขึ้น หลังจากที่หลายฝ่ายมองว่า ทางเดินและทางจักรยานเลียบแม่น้ำที่ฟังดูเหมือนกับเส้นทางในฝันนั้นอาจสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้กับชุมชนริมน้ำและแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่าที่คิด

สำหรับโครงการเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้กำเนิดขึ้นอีกครั้งเมื่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปดูงานที่เกาหลีใต้ และได้ไปเห็นเส้นทางเลียบแม่น้ำฮันซึ่งเป็นทั้งสวนสาธารณะและเส้นทางจักรยานของชาวเกาหลี จึงปิ๊งไอเดียกลับมาสร้างกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองไทย โดยแผนที่รัฐบาลวางไว้จะครอบคลุมเส้นทางตั้งแต่สะพานพระราม3 - สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 50 กม. (ฝั่งละ 25 กม.) ซึ่งในช่วงแรกของการก่อสร้างจะมีเส้นทางครอบคลุมตั้งแต่สะพานปิ่นเกล้า-พระราม7 ระยะทาง 14 กม. กับงบประมาณ 14,000ล้านบาท

แต่ด้วยสภาพพื้นที่ สภาพภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม การใช้ชีวิตและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำของแม่น้ำฮันและแม่น้ำเจ้าพระยานั้นแตกต่างกัน จึงทำให้มีผู้คัดค้านและต้องการให้ทบทวน รวมถึงต้องการให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากกว่านี้
จากซ้ายไปขวา อ.ปองขวัญ ลาซูส ผู้ดำเนินรายการ ผศ.ดร.รุจิโรจน์ อนามบุตร ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คุณอรศรี ศิลปี อ.ปราณิศา บุญค้ำ คุณจรัสวรรณ แก้วก้องกังวาน และรศ.นพ.นริศ กิจณรงค์
ดังนั้น ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ม.ศิลปากร ประชาคมบางลำพู ผู้ประกอบการริมแม่น้ำเจ้าพระยา และกลุ่ม Friend of the River จึงได้ร่วมกันจัดงานเสวนา “มองแม่น้ำเจ้าพระยา จากริมน้ำท่าพระจันทร์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.รุจิโรจน์ อนามบุตร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร คุณอรศรี ศิลปี ตัวแทนประชาคมบางลำพู อ.ปราณิศา บุญค้ำ หัวหน้าภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม ม.ธรรมศาสตร์ คุณจรัสวรรณ แก้วก้องกังวาน เจ้าของเรือคุณแม่ ในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางน้ำ และ รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณะบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม รพ.ศิริราช มาร่วมให้ความเห็นในงานเสวนาครั้งนี้

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นผู้เริ่มต้นกล่าวในงานเสวนาครั้งนี้ ในฐานะของประชาคมธรรมศาสตร์ที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยาและได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ โดยยืนยันว่าการมารวมตัวกันในวันนี้ไม่ได้มาเพื่อคัดค้าน แต่มาเพราะต้องการทราบข้อมูลของโครงการว่าเป็นอย่างไร และขอการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะนี่คือเรื่องของสาธารณะ เงินที่ใช้ก็เป็นของสาธารณะ พื้นที่ก็เป็นพื้นที่ของสาธารณะ ประโยชน์ที่ทำก็เป็นประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบก็เกิดกับสาธารณะ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องฟังเสียงของสาธารณชน
บรรยากาศในงานเสวนา
“ในการทำโครงการใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับผู้คนมากมาย เมื่อทำแล้วควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมทราบว่าจะทำอะไร และเมื่อแจ้งให้ทราบแล้วก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนที่อยู่ริมน้ำด้วยว่าเขาคิดอย่างไร ถ้าออกแบบมาโดยไม่ฟังเสียงคนริมน้ำก็คงไม่ดี หลักการทั้งสองข้อนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ควรทำ ไม่ว่าจะมีมาตรา 44 หรือไม่ นี่คือเรื่องพื้นฐานของทุกรัฐบาล เพราะการตัดสินใจโดยคนไม่กี่คนในเรื่องที่เกี่ยวกับคนเป็นล้านๆ คน ไม่เคยมีที่ตัดสินใจแล้วจะถูกใจคนเป็นล้าน ดังนั้นต้องฟังเสียงประชาชนว่าเขาต้องการอย่างไร”

“และสิ่งที่สำคัญมากคือ เรื่องบางเรื่องที่เสียไปแล้ว เช่นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชนริมน้ำ ถ้าสูญเสียไปแล้ว เรามานั่งเสียใจถึงตอนนั้นเอาเงินมากองท่วมหัว มีเป็นพันล้านหมื่นล้านก็ซื้อกลับคืนไม่ได้ อย่างดีก็แค่สร้างได้อะไรที่เป็นสิ่งจำลองในอดีต”

ด้านตัวแทนประชาคมบางลำพู อรศรี ศิลปี กล่าวว่า เคยได้รับเชิญให้ไปรับฟังโครงการเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เนื่องจากไม่ได้รับคำตอบจากคำถามที่ถามไป จึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมอีกในครั้งต่อไป
ชุมชนมิตรคาม ใกล้สะพานกรุงธนบุรี หนึ่งในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ
“ในการประชุมดิฉันก็ถามเขาไป 3 ข้อ ขอให้ตอบเราว่า 1.ถ้าทำแล้ว รัฐได้อะไร ประชาชนได้อะไร 2.เมื่อทำขึ้นแล้ว ประชาชนจะได้สิทธิ์อะไรบ้าง เสียสิทธิ์อะไรบ้าง และ 3.แล้วชุมชนที่เขาอยู่ริมน้ำ ซึ่งเป็นชุมชนที่เป็นรากเหง้าของเราที่อยู่มาเป็นร้อยปี เขามีส่วนแน่ๆ คือรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาให้เราจนทุกวันนี้ เขาจะเสียสิทธิ์อะไรบ้าง เขาต้องย้ายออก เขาต้องทำอะไร แต่ในที่ประชุมไม่ได้ตอบคำถามเลย และไม่ทราบว่าบันทึกหรือเปล่า ดังนั้นเมื่อมีประชุมอีกสองครั้งเลยไม่ได้ไปร่วมอีก”

สิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นตรงกันก็คือ โครงการเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้ จะทำให้วิถีชีวิตชุมชนริมน้ำหายไป โดย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า “กรุงเทพฯ เมืองหลวงที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักผ่านใจกลางเมือง วิถีชีวิตริมน้ำและความหลากหลายของชุมชนเป็นจุดแข็งของกรุงเทพฯ ที่ผู้คนอยากมาเห็น ไม่ว่าใครก็ตามที่มาก็จะอยากมาล่องเรือชมแม่น้ำ แต่ถ้าหากว่าโครงการมันออกมาแบบดื้อๆ ด้านๆ แบบนั้นผมจะไปนั่งเรือดูอะไร มองไปริมฝั่งก็เห็นแต่เขื่อนเห็นแต่ถนนอย่างนั้น”
ศาลเจ้าแม่ทับทิม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมองจากสะพานกรุงธน
เช่นเดียวกับ อรศรี ที่กล่าวว่า “เขาบอกว่าโครงการที่ทำนั้นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ดิฉันถามว่า สำหรับการท่องเที่ยวนั้น เราอยู่ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ มีนักท่องเที่ยวมากมายหลากหลาย มีรายได้มากมาย ถามว่ารัฐมาสร้างสิ่งเหล่านั้นไหม มันเป็นประเพณี วัฒนธรรม เป็นเสน่ห์ของชุมชนที่มีอยู่ดั้งเดิม ถ้าคุณทำเพื่อการท่องเที่ยวแล้วชุมชนหายไป จะไปเอาเสน่ห์ที่ไหนมา แล้วใครจะมาเที่ยว บนเกาะรัตนโกสินทร์มีวัดวา มีประวัติศาสตร์ มีเสน่ห์ของชุมชน มีวิถีชีวิตที่เขาหาไม่ได้ ถ้าคุณบอกว่าจะทำเพื่อการท่องเที่ยว ตรงนั้นคิดว่าผิดเป้า”

ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางน้ำที่ทราบถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จรัสวรรณ แก้วก้องกังวาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พานักท่องเที่ยวเที่ยวแม่น้ำลำคลอง ชมแม่น้ำเจ้าพระยามากว่า 30 ปี คิดว่าถ้ามีโครงการสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างนี้คงไม่มีใครอยากมาเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวมาเพราะอยากมาเห็นวิถีริมน้ำ อยากเห็นความเก่าแก่ อยากเห็นชาวบ้านซักผ้าริมน้ำ เด็กเล่นกระโดดน้ำ หรือแม้กระทั่งตอนน้ำลงเขาอยากเห็นเสาตอม่อใต้ถุนบ้าน ซึ่งเดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยวตามคลองต่างๆ ก็มีน้อยแล้ว เหลือไม่ถึง 10% เพราะเขาถามว่าจะเข้าไปดูอะไร ดูเขื่อนหรือ? เขื่อนเมืองนอกอาจจะสวยงาม แต่ของบ้านเราคือทำเพื่อกันน้ำท่วม ความสวยงามไม่มี ส่วนมากเขาก็จะมาเที่ยวช่วงกลางคืน มาชมสถาปัตยกรรมริมน้ำเช่นวัดพระแก้ววัดอรุณยามกลางคืนที่มีแสงสี”
วิถีริมน้ำที่แม้จะไม่ดูดีสะอาดตาแต่ก็เป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินอยู่ของชาวบ้าน
และเมื่อมองจากมุมมองของสถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญในด้านภูมิสถาปัตย์ อ.ปราณิศา บุญค้ำ กล่าวว่า การออกแบบพื้นที่สาธารณะจะต่างกับการออกแบบพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ โดยการออกแบบพื้นที่สาธารณะนั้นสิ่งสำคัญคือผู้ใช้งาน การออกแบบนั้นไม่ใช่สถาปนิกจะอยากให้หน้าตาเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับเจ้าของหรือคนจ่ายเงิน ซึ่งสำหรับโครงการนี้คนจ่ายเงินก็คือประชาชนผู้ใช้งานทุกคน ดังนั้นจึงจะต้องลงไปคุยกับผู้ใช้งาน ซึ่งจะมีหลายกลุ่มมาก

“ศาสตราจารย์ในต่างประเทศพูดไว้ว่า คำว่าภูมิทัศน์หรือ Landscape นั้นหมายถึงสถานที่และผู้คน สองอย่างร่วมกัน ไม่ใช่แค่สถานที่อย่างเดียว แต่คือชีวิตของคนที่อยู่กับภูมิทัศน์นั้นๆ ด้วย การออกแบบจึงต้องศึกษาไปถึงอดีต มองเห็นคุณค่าของอาคารเก่า รวมไปถึงชีวิตที่เคยมีอยู่ในอดีต ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคต มันยากตรงที่ต้องเข้าใจตรงนี้ทั้งหมดเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน”
ทางเดินริมน้ำที่มีอยู่เดิมบริเวณระหว่างสวนสันติชัยปราการถึงสะพานปิ่นเกล้า
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.รุจิโรจน์ อนามบุตร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ซึ่งทีแรกเมื่อรู้ข่าวว่าจะมีโครงการนี้ก็ดีใจจนขนลุก และเมื่อได้เห็นรูปแบบโครงการก็ขนลุกอีกทีด้วยความกลัว

“โครงการพัฒนาแม้จะใช้งบมหาศาลแต่ถ้าเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำแล้วถือว่าไม่แพงเลย เพราะผลตอบแทนที่กลับมาสำหรับเกาะรัตนโกสินทร์หรือส่วนอื่นๆ ในฝั่งธนบุรีจะยั่งยืนอีกนานมาก พูดอย่างนี้หมายความว่า การออกแบบมันต้องยึดโยงกันและแก้ปัญหาเป็นส่วนๆ ไป ไม่ใช่สร้างพาดเหมือนกันไปหมด เพราะชาวบางลำพูต้องการคนละแบบกับศิริราช คนละแบบกับธรรมศาสตร์ กับท่าช้าง กับผู้ประกอบการเรือ ปัญหาของแต่ละกลุ่ม การออกแบบแต่ละแบบ จะต้องนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้ได้กรอบใหญ่ นั่นคือการพัฒนาเมืองที่เรียกว่าผังเมือง มันไม่ใช่ว่า อยากได้อะไรแล้วก็เอามาสวมครอบเลย มันต้องคิดถึงประโยชน์ของทุกๆ ฝ่าย”
ลานกว้างใต้สะพานพระราม 8 เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในแถบนั้น
“แต่จะทำยังไงตรงไหนก็ยังตอบไม่ได้หรอก เพราะมันต้องอาศัยความคิดจากคนละส่วนมาเรียงร้อยต่อกัน และไม่ใช่เฉพาะคนริมน้ำเท่านั้น แต่รวมถึงบนคนฝั่ง เชื่อมต่อไปสนามหลวง ธรรมศาสตร์ ต่อคลองบางกอกน้อย เท่านี้ก็เห็นความซับซ้อนหลากหลาย ดังนั้นอยากขอให้ฟังเสียงความซับซ้อนหลากหลายเหล่านี้ และหาวิธีเอามาเรียงร้อยกันให้ได้ประโยชน์และยังรักษาคุณค่าที่แท้จริงของแม่น้ำอยู่”

นอกจากนั้น ยังมีตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย นครินทร์ ชายทวีป สถาปนิกของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมให้ความเห็นว่า เมื่อมองดูพื้นที่ริมน้ำจากแบงค์ชาติไปทางขวามือจะเป็นวังของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ถัดมาเป็นวังเทวะเวสม์ ซึ่งมีตำหนักเรือนแพยื่นลงไปในแม่น้ำ ถัดมาเป็นวังบางขุนพรหม ลอดใต้สะพานพระราม 8 ไปก็เป็นโรงพิมพ์ธนบัตรเดิม ในฐานะที่เป็นนักออกแบบดูแล้วเป็นไปได้ยาก โดยตนมองว่าถ้าจะทำทางจักรยานจริงๆ ทำไมต้องมาอาศัยริมแม่น้ำ เพราะบ้านเรามีพื้นที่สาธารณะที่ว่างๆ อีกเยอะ ควรไปพัฒนาลานวัดต่างๆ ที่อยู่ริมน้ำ หรือพื้นที่ถนนที่วิ่งเข้าไปแล้วตันริมแม่น้ำดีกว่า แล้วจับเอาแต่ละโซนมาเชื่อมกันเป็นทางจักรยานโดยไม่ต้องเป็นทางริมแม่น้ำก็ได้ กลับเข้ามาริมฝั่งก็ได้ ซึ่งต้องไปศึกษาและลงรายละเอียดในการออกแบบ
ชุมชนบริเวณท่าเรือเทเวศร์
ในช่วงสุดท้ายของการเสวนา อ.ปริญญา กล่าวปิดท้ายว่า “เรามีต้นทุน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตริมน้ำที่ฝรั่งเขาไม่มี วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ คือการอยู่ร่วมกันของความหลากหลาย เรามีอะไรที่รกๆ อยู่บ้าง ริมน้ำก็มีอะไรรกๆ บ้าง แต่มันก็น่าดู นักท่องเที่ยวชอบ เหมือนบ้านที่มีคนอยู่ มันจะมีความรกอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากเกินไป อะไรที่รกเกินไปก็ต้องจัดการให้มันอยู่ในขอบเขต เชื่อว่าทุกคนคงเห็นตรงกันว่า เราไม่ได้ค้านการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา เราเห็นด้วยกับโครงการพัฒนาริมน้ำ แต่ที่เราพูดกันอยู่คือเราขอข้อมูลหน่อย และขอการมีส่วนร่วมหน่อย ว่าการพัฒนาริมน้ำนี่มีรูปแบบเดียวหรือเปล่า และรูปแบบนี้มันจะทำลายมากกว่าสร้างสรรค์หรือไม่ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือต้นทุนของกรุงเทพและของไทย ถ้าไทยจะมีอะไรที่ดีกว่าประเทศทั้งหลายที่เจริญกว่า ก็คือความหลากหลายของชุมชนวัฒนธรรมนี่แหละ”

นอกจากนั้น อ.ปริญญายังได้กล่าวอีกว่า ความเข้มแข็งของประเทศและสังคม ไม่ใช่ความเข้มแข็งของรัฐบาล แต่คือความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม คือพวกเราทั้งหลาย ลำพังเพียงแค่รัฐบาลหรือสภาปฏิรูปแห่งชาติก็เป็นคนจุดไอเดียในการเริ่มต้น แต่คนที่จะอยู่กับมันก็คือคนไทยทั้งหมด
ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา
“สมมติว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป คือร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสภาปฏิรูปแห่งชาติประมาณ 7 ก.ย. 2558ประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ราว 10 ม.ค. 2559 และคงมีการเลือกตั้งประมาณเดือน ส.ค. หรือประมาณอีก 1 ปีนับจากนี้ ส่วนโครงการนี้คิดว่าใน 1 ปีก็ยังสร้างไม่เสร็จ แล้วจะเกิดไรขึ้น? โครงการลักษณะนี้เมื่อสร้างไปแล้วมันเกิดผลกระทบเยอะ มันสร้างยากนะในรัฐบาลที่ไม่มีมาตรา 44 แปลว่ามันจะสร้างเสร็จไปแค่บางช่วงแล้วมันอาจจะไปต่อไม่ได้ ก็จะกลายเป็นโฮปเวลหรืออะไรทำนองนั้น ฉะนั้นมีทางเดียวคือต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดความหลากหลายในการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น