สปช.โหวตคว่ำ ร่าง รธน.ด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7 หลังมีกระแส "บิ๊กคสช."สั่งล็อบบี้ให้คว่ำ ก่อนพังในชั้นประชามติ "ประยุทธ์"ยันเดินตามโรดแมปเดิม ตั้งกก.ยกร่าง 21 คนใน 30 วัน ทำการร่างรธน.ใน 180 วัน แล้วให้ประชาชนลงประชามติ จากนั้นออกกฎหมายลูก คาดเลือกตั้งปี 60 "บวรศักดิ์"แถลงอำลาเก้าอี้ บอกโล่งใจ ไม่รับเป็นกก.ยกร่างอีก "ชม 3 บิ๊กทหาร"ที่ลงมติเห็นชอบ แต่ก็เข้าใจทหารที่โหวตคว่ำ เพราะยังต้องอยู่ในระบบราชการ "สิระ" โวยสปช. ร่างเอง คว่ำเอง แฉมีล็อบบี้ชัด ยันคืนเงินเดือนสปช.1.7 ล้านวันนี้ ด้าน"วันชัย"ปัด"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"ไม่ เกี่ยว แบะท่าพร้อมรับเก้าอี้สภาขับเคลื่อนฯ
วานนี้ (6 ก.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมนัดพิเศษ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานที่ประชุม จะเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. มีวาระสำคัญคือ การลงมติร่างรัฐธรรมนูญจากการจัดทำของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน โดยบรรยากาศก่อนการประชุมตั้งแต่เวลา 08.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลทั้งในและนอกเครื่องแบบ ตั้งเต็นท์และยืนรักษาความปลอดภัยโดยรอบถนนอู่ทองใน ถนนที่ใช้สัญจรหลักในการเข้าสู่อาคารรัฐสภา และได้นำแผงเหล็กกั้นแยกถนนอู่ทองในเพื่อกั้นการจราจรให้เป็นเฉพาะของสมาชิก สปช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขณะที่สมาชิก สปช.ได้ทยอยเดินทางเข้าร่วมลงชื่อเพื่อแสดงตนก่อนเข้าร่วมประชุมที่ห้องโถงชั้น 2 ของอาคารรัฐสภาและได้ถ่ายรูปร่วมกัน ขณะที่สมาชิกสปช.ได้ทยอยเดินทางมารัฐสภาและจับกลุ่มคุยกันอย่างคึกคักและมีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกันเพื่อเป็นที่ระลึก เมื่อ 09.00 น. ที่ลานจอดรถหน้าพระสยามเทวาธิราช โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดสถานที่ให้ถ่ายรูปให้เรียงตามลำดับท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุ
ทั้งนี้ นายเทียนฉายได้เปรยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนยังไม่หายเครียด แต่เชื่อว่าวันนี้ (7 ก.ย.) จะหาย ขณะที่ นายบวรศักดิ์ ยอมรับว่าเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ได้ไปวัดเพื่อทำบุญมาจริง เพื่อทำให้มีความสุข และไม่ทุกข์ ส่วนการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ตนไม่ขอประเมิน และปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกระแสการล็อบบี้ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแลกรับผลประโยชน์ ทางด้านนายพารณ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าข่าวล็อบบี้เพื่อแลกรับผลประโยชน์นั้นไม่ได้ เพราะ สปช.ล้วนเป็นผู้ใหญ่ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรเวลา 12.00 น. ของวันนี้ (6 ก.ย.) จะได้รับรู้แล้ว
มีรายงานด้วยว่า คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย นายบวรศักดิ์ และกรรมาธิการบางส่วน เช่น นายมานิจ สุขสมจิต พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ ได้เดินทางไปสักการะพระแก้วมรกต ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสนาราม และพระสยามเทวาธิราช ที่พระบรมมหาราชวัง เพื่อขอพรให้ช่วยคุ้มครองให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งนี้ได้บอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ขณะนี้ภารกิจของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้เมื่อตอนเข้าปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม การขานชื่อเพื่อทำการลงมติ ได้เริ่มขึ้นในเวลา 10.35 น. ได้ลงมติเสร็จสิ้นในเวลา 10.59 น. พบว่ามีผู้เห็นชอบ 105 ไม่เห็นชอบ 135 งดออกเสียง 7 ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป ในขณะที่ สปช. ก็สิ้นสุดสถานภาพทันที
**รายชื่อสปช.ที่โหวตคว่ำร่างรธน.
นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด นายกาศพล แก้วประพาฬ นายกิตติ โกสินสกุล นายกมล รอดคล้าย นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล นางกอบแก้ว จันทร์ดี นายกิตติภณ ทุ่งกลาง นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายเกษมสันต์ จิณณวาโส
นายโกเมศ แดงทองดี นายโกวิทย์ ทรงคุณ นายโกวิท ศรีไพโรจน์ พลตำรวจตรี ขจร สัยวัตร์ พลอากาศเอก ขวัญชัย เอี่ยมรักษา พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร นายคณิศร ขุริรัง นายคุรุจิต นาครทรรพ พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา นายจรูญ จึงยิ่งเรืองรุ่ง
พลเอก จิระ โกมุทพงศ์ พลเอก จิรพันธ์ เกษมศานติ์สุข พันตำรวจโท จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ นายจิรวัฒน์ เวียงด้าน นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ นายเจน นำชัยศิริ นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ พลอากาศเอก เจษฎา วิจารณ์ นายจำลอง โพธิ์สุข
นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ นายชัย ชิดชอบ นายชัยพร ทองประเสริฐ นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายชาลี เอียดสกุล พลเรือเอก ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายชิตชัย จิวะตุวินันท์
พลเอก ชูศิลป์ คุณาไทย นายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์ พลโท ฐิติวัจน์ กำลังเอก นายดิเรก ถึงฝั่ง นายดำรงค์ พิเดช นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์ พลเอก เดชา ปุญญบาล นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล นางเตือนใจ สินธุวณิก นายถาวร เฉิดพันธุ์
นายทิวา การกระสัง นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ พันเอก ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายธวัช สุวุฒิกุล พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร นายธวัชชัย อุ่ยพานิช นายธำรง อัศวสุธีรกุล นายนันทวัฒน์ บรมานันท์
นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด นายนิคม มากรุ่งแจ้ง นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายนิมิต สิทธิไตรย์ นายนิรันดร์ พันทรกิจ นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง นายนำชัย กฤษณาสกุล นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ นายบุญถิ่น มั่นเกษวิทย์ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช
นายประทวน สุทธิอำนวยเดช นางประภาศรี สุฉันทบุตร นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ พลเอก ประสูตร รัศมีแพทย์ นายประเสริฐ ชิตพงศ์ นายประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ นายปรีชา บุตรศรี พลตำรวจตรี ปรีชา สมุทระเปารยะ นายเปรื่อง จันดา นายพนา ทองมีอาคม
นายพรชัย มุ่งเจริญพร นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ นางพรรณวีรินทร์ รัตนวานิช พลเอก พอพล มณีรินทร์ นายเพิ่มศักดิ์ เชื้อชาติ นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา นายไพโรจน์ พรหมสาส์น นาวาอากาศเอก ไพศาล จันทรพิทักษ์ นางภัทรียา สุมะโน พลเอก ภูดิศ ทัตติยโชติ
พลอากาศเอก มนัส รูปขจร นายมนู เลียวไพโรจน์ นายมนูญ ศิริวรรณ พันตำรวจตรี ยงยุทธ สาระสมบัติ พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พลเอก วรวิทย์ พรรณสมัย นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา พลเอก วัฒนา สรรพานิช นายวันชัย สอนสิริ นายวัลลภ พริ้งพงษ์
นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ พลเอก วิชิต ยาทิพย์ นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน พลเอก วุฒินันท์ ลีลายุทธ นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา พลเรือเอก ศุภกร บูรณดิลก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสมเกียรติ ชอบผล
นายสมเดช นิลพันธุ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ นายสยุมพร ลิ่มไทย นายสรณะ เทพเนาว์ พันเอก สิรวิชญ์ นาคทอง นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ นายสุชาติ นวกวงษ์ นายสุพร สุวรรณโชติ พลเรือเอก สุรินทร์ เริงอารมณ์
นายสุวัช สิงหพันธุ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ นายอนันตชัย คุณานันทกุล พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ นางอัญชลี ชวนิชย์ พลตำรวจโท อาจิณ โชติวงศ์ พันตรี อาณันย์ วัชโรทัย นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายเอกราช ช่างเหลา
** รายชื่อสปช.ที่โหวตเห็นชอบร่างรธน.
นางกัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ นายกงกฤช หิรัญกิจ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ นายเกริกไกร จีระแพทย์ นายไกรราศ แก้วดี นายไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ นายเขมทัต สุคนธสิงห์ นายเข็มชัย ชุติวงศ์
นายคำนูณ สิทธิสมาน นายจรัส สุทธิกุลบุตร นายจรัส สุวรรณมาลา นายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี นางจุรี วิจิตรวาทการ นายจุมพล รอดคำดี นายจุมพล สุขมั่น นางชัชนาถ เทพธรานนท์ นายชาลี เจริญสุข
นายชาลี ตั้งจีรวงษ์ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ นายชูชัย ศุภวงศ์ นายชูชาติ อินสว่าง นายเชิดชัย วงศ์เสรี นายเชื้อ ฮั่นจินดา นางฑิฆัมพร กองสอน นายณรงค์ พุทธิชีวิน นายณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร
นายณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา นายดุสิต เครืองาม นางตรึงใจ บูรณสมภพ นางถวิลวดี บุรีกุล นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ นายธวัชชัย ยงกิตติกุล นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์
นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ พลโท นคร สุขประเสริฐ นางนรีวรรณ จินตกานนท์ นายนิพนธ์ คำพา นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นางเบญจวรรณ สร่างนิทร นายประชา เตรัตน์ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด นางประภาภัทร นิยม นายประมนต์ สุธีวงศ์ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายปรีชา เถาทอง นายปิยะวัติ บุญ-หลง นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ นายพงศ์โพยม วาศภูติ นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช
นางพรรณี จารุสมบัติ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นายพลเดช ปิ่นประทีป พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป นางพันธุ์ทิพย์ สายสุนทร นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายมานิจ สุขสมจิตร
นายมีชัย วีระไวทยะ นางสาวรสนา โตสิตระกูล พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายวรรณชัย บุญบำรุง นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นายวิทยา กุลสมบูรณ์ นายวินัย ดะห์ลัน นายวิบูลย์ คูหิรัญ นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร
นายวุฒิสาร ตันไชย นายศานิตย์ นาคสุขศรี นายศักรินทร์ ภูมิรัตน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายศุภชัย ยาวะประภาษ นายสมชัย ฤชุพันธ์ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง
นายสิระ เจนจาคะ นางสีลาภรณ์ บัวสาย นางสุกัญญา สุดบรรทัด นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม นางสาวสุภัทรา นาคะผิว นายสุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล นายอมรวิชช์ นาครทรรพ
นางสาวอรพินท์ สพโชคชัย นายอลงกรณ์ พลบุตร นางสาวอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายอุดม ทุมโฆสิต นางอุบล หลิมสกุล นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์
**รายชื่อสปช.ที่งดออกเสียง
นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นางสาวทัศนา บุญทอง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ พลโท นาวิน ดำริกาญจน์ นายอำพล จินดาวัฒนะ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ นางทิชา ณ นคร (ลาออก) นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ (ใบแดง ) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ (ลาออก)
** แฉ"บิ๊กคสช."ส่งสัญญาณคว่ำ
รายงานข่าวจาก สปช.แจ้งว่า สำหรับกระบวนพูดคุย โน้มเอียงให้สมาชิก สปช. เห็นคล้อยตามในแนวทางโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญนั้น เกิดขึ้นอย่างหนักในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงมติเพียง 2 สัปดาห์ โดยมี สปช. 4 ราย ที่ล้วนมีความใกล้ชิด บิ๊กคสช. บางคน ซึ่งประกอบไปด้วย อดีตนายทหาร 3 ราย และพลเรือนอีก 1 ราย แบ่งหน้าที่พูดคุยทำความเข้าใจกับสมาชิก สปช. แต่ละสาย โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ เนื่องจากได้รับข้อมูลจากทหารที่ลงพื้นที่ไปสอบถามความเห็นแกนนำชุมชนในต่างจังหวัด ต่อท่าที ร่างรัฐธรรมนูญ หากก้าวพ้นจากการโหวตสปช.ไปถึงชั้น การลงประชามติ จะมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งผลสำรวจที่ออกมามีเปอร์เซ็นต์สูง ที่ทั้งพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ และเสียงส่วนใหญ่จากชาวบ้านที่พร้อมใจจะโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญในชั้นลงประชามติอย่างแน่นอน ซึ่งไปถึงตอนนั้น จะสร้างความเสียหาย แรงกระเพื่อมให้ คสช. มากกว่าการคว่ำกันเองจาก 1 ในแม่น้ำ 5 สาย
รายงานข่าวจาก สปช.รายนี้เปิดเผยอีกว่า ช่วงเดินสายทำความเข้าใจอย่างหนักอยู่ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการลงมติ ทำให้เสียงจากเดิมที่ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญมีเพียง 50 คน เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการงัดกลยุทธ์จูงใจในช่วงโค้งสุดท้ายหลายประการ จากนั้นคณะแกนนำที่เดินสายได้มาประชุมจัดทำเป็นตัวเลขผลสรุป โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่โหวตรับรัฐธรรมนูญแน่นอน คือกลุ่ม AA+ คิดเป็นอัตราสูงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ จากการลงคะแนนเสียงโดยคิดคะแนนในชั้นต้นเสียงที่จะออกมาสูงถึง 145-150 เสียง แล้วนำไปคูณ 0.9 จะได้เป็นผลตัวเลขที่ออกมาซึ่งใกล้เคียงกับผลที่ ออกมาอย่างมากคือ ผลโหวตที่ออกมาจะอยู่ระหว่าง 130-135 เสียง จึงมีความมั่นใจมาก ในชั้นสุดท้ายอย่างไรเสียงที่ออกมา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกคว่ำอย่างแน่นอน
รายงานข่าวเผยอีกว่า ก่อนเข้าห้องประชุมลงมติ ยังมีการเช็กเสียงในครั้งสุดท้าย มีการจัดทำเป็นตารางเอกสาร สรุประหว่างฝ่ายที่จะรับ ไม่รับ ซึ่งผลที่ออกมาคลาดเคลื่อนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการส่งสัญญาณจากฝ่ายไม่รับร่างในชั้นสุดท้าย ที่มีการส่งสัญญาณมือ ลักษณะกำมือ แต่ชูนิ้วโป้งขึ้น ขณะที่บางรายที่มีความสนิทสนมกันมาก จะเดินมากระซิบกับแกนนำกลุ่มที่ไปพูดคุย “ผมเอาด้วย” “ผมโหวตคว่ำแน่” หลังการลงมติแล้วเสร็จ สปช. บางคนที่โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญถึงขั้นเดินมาจับไม้จับมือ หยอกล้อกับแกนนำ หัวหน้าสาย พูดคุยกันอย่างออกรสชาด
**"บวรศักดิ์"แถลงอำลาตำแหน่ง
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลัง ร่าง รธน.ถูกคว่ำ โดยก่อนที่จะแถลง นายบวรศักดิ์ ได้นำพระหลวงปู่ดี ธมมธิโร วัดเทพากร บางพลัด กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากมาแจกจ่ายต่อสื่อมวลชน พร้อมให้ชื่อรุ่นพระในครั้งนี้ด้วยตัวเองว่า“รุ่นไม่รับร่าง”จากนั้นได้แถลงว่า ในฐานะอดีตหมาดๆ ของกมธ.ยกร่างฯ และในฐานะอดีตประธาน เมื่อประมาณ 2 ชั่วโมง ที่ผ่านมา ซึ่งตนเคยได้บอกกับผู้สื่อข่าวมานานแล้ว ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็จะดีใจ แต่เหนื่อย เพราะว่าต้องไปชี้แจงการทำประชามติ รวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับ
"แต่ถ้าผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ผ่าน ผมได้ตอบไปแล้วว่า โล่งใจ เพราะว่า ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีกต่อไป ไม่ต้องอธิบายประชามติ ไม่ต้องทำกฎหมายลูกอะไรทั้งสิ้น ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับไป ต่อจากนี้ การรับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ กรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่ 21 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะตั้งขึ้น เป็นอันว่าอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องขอขอบคุณผู้สื่อข่าวที่ติดตามมาตลอด ขอขอบคุณ สปช.105 ท่าน ที่ลงมติรับร่าง" นายบวรศักดิ์ กล่าว และว่า โดยเฉพาะนายทหารทั้ง 3 คน ได้แก่ พล.ร.อ.พะจุนณ์ ตามประทีป พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และ พล.อ.นคร สุขประเสริฐ ถือเป็น 3 นายทหารใหญ่ ที่ลงมติให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความตั้งใจ จริงใจ เอาปัญหาบ้านเมือง และประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาปัญหาตัวเองเป็นตัวตั้ง ตามคำปฏิญาณที่มีต่อพระแก้วมรกต และพระสยามเทวาธิราช เป็นหน้าที่ที่สมบูรณ์ และภูมิใจ ต่อไปพวกตนจะไปทำหน้าที่เป็นประชาชน และคงจะได้พบเจอกันในที่ต่างๆ แต่ไม่ใช่ในฐานะกมธ.ยกร่างฯอีกแล้ว โดยสมบูรณ์
**ยันไม่รับเป็นกก.ร่างรธน.อีก
"ผมยืนยันว่าจะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อไป เพราะว่าเสียดายสิ่งที่เขียนเอาไว้ให้ประชาชน ให้พลเมืองเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับชุมชน ผู้หญิง และคนยากไร้ผู้ด้อยโอกาส ก็หมดไป เสียดายเหมือนกันเรื่องการปฏิรูปดีๆ ที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และในกฎหมายประกอบว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะถึงประชาชนโดยตรง แต่ว่าก็น่าเห็นใจ เพราะประชาชนไม่มีเสียง เสียงที่อยู่ในสื่อมวลชนของประเทศไทยนั้น เป็นเสียงที่ดังของนักการเมืองทั้งสิ้น น่าเสียดายตรงนี้ ผมเข้าใจว่า พวกเราในฐานะประชาชน ต้องพยายามดูว่า เขาร่างกันต่อไป จะคิดถึงประชาชนขนาดไหน ประชาชนจะเป็นใหญ่มั้ย มีความสำคัญหรือไม่ การปฏิรูปจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ต้องจับตามอง" นายบวรศักดิ์ ระบุ
เมื่อถามว่ามองว่าผลที่ออกมา มีการล็อบบี้กันหรือไม่ นายบวรศักดิ์ ย้อนกลับหาผู้สื่อข่าวว่า "คุณพูดเองนะ พูดเองทั้งสิ้น ผมไม่เห็น เรื่องมันผ่านไปแล้ว ก็ให้ผ่านไป"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ระบุชื่อนายทหาร 3 ท่าน ที่ลงมติเห็นชอบ ส่วน สปช.สายทหารที่เหลือโหวตคว่ำทั้งหมด จะเป็นการตั้งข้อสังเกตหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ ต้องขอขอบคุณท่านทั้งสาม ซึ่งเห็นชอบ ขณะที่ท่านอื่น ก็ต้องฟังผู้ใหญ่ของเขา ถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ เราเข้าใจกัน ขนาดในกรรมาธิการยกร่างฯ ยังมีงดออกเสียง 1ราย เช่นกัน เพราะเพิ่งได้เป็น พล.อ. มาหมาดหมาด ยังต้องอยู่ในราชการต่อไป ท่านก็ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นที่เข้าใจได้ ต้องเห็นใจท่าน
ถามอีกว่า แสดงว่าผู้ใหญ่ที่ระบุว่า ต้องฟังนั้น มีการกำกับมา นายบวรศักดิ์ ยังยืนยันว่า ผู้สื่อข่าวพูดขึ้นมาเอง ตนไม่ได้พูด พร้อมขอบคุณและพยายามจะเดินออกจากที่แถลง แต่ผู้สื่อพยายามวิ่งเข้าไปสอบถามอีกว่า ถูก คสช.หลอกและหักหลังหรือไม่ นายบวรศักดิ์ บอกว่า ตนไม่ได้พูด ให้สื่อมวลชนไปตรวจสอบเอาเอง พร้อมยืนยันว่า จะไม่ตอบคำถามเหล่านี้อีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังสัมภาษณ์เสร็จ นายบวรศักดิ์ ได้เปลี่ยนใจให้ชื่อรุ่นพระดังกล่าวอีกครั้งว่า "รุ่นโล่งใจ"
**เผยไทม์ไลน์หลังร่างรธน.ถูกคว่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังร่างรธน.ถูกคว่ำ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเป็นผู้ตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คน ภายในเวลา 30 วัน มาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีระยะเวลาการยกร่างฯ 180 วัน จากนั้น ทำการประชาสัมพันธ์ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจก่อนลงประชามติ ซึ่งคาดว่า ร่างรธน.จะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค. 59 และจะมีการทำประชามมติ เดือนก.ค.59 จากนั้นต้องออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จเรียบร้อย ซึ่งระยะเวลาของการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะมีการกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560
**นายกฯยันเดินหน้าตามรธน.ชั่วคราว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ก่อนที่สมาชิกสปช. จะมีผลการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนไว้ เมื่อถามว่า วันนี้นายกฯ จะติดตามการโหวตของ สปช. ที่ไหน นายกฯ กล่าวแบบติดตลกว่า "ห้องน้ำ"
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึง กรณีการเคลื่อนไหวในภาคส่วนท้องถิ่น ภายหลังสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตามกฎหมาย หากกมธ.ยกร่างฯได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องไปขอความเห็นชอบจาก สปช. หาก สปช.เห็นว่าผ่าน ก็คือผ่าน ไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน แสดงว่ามี 2 หนทางให้เลือกออกมา อย่างไรก็ตาม สังคมต้องยอมรับ และอยู่ตามนี้ จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะต้องร่างใหม่ตามโรดแมป ตนหวังว่า ประชาชนจะเข้าใจและปล่อยให้รัฐบาลเดินหน้าประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการสั่งการใดๆ เป็นพิเศษ เพราะประชาชนรู้อยู่แล้วว่าหลักการพิจารณาเป็นอย่างไร เมื่อถามว่าอาจมีฝ่ายการเมืองที่ไม่ยอมรับการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การปลุกมวลชน จะมีการใช้กลไกของท้องถิ่นเข้ามาดูแลหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวสั้นๆ ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวก่อนเดินขึ้นรถในทันทีว่า "ไม่มี ผมบอกแล้วไงว่า ไม่มี ที่ผมไม่พูด เพราะไม่อยากให้ไปเขียนนำอะไร ประเทศชาติจะเสียหาย ผมอธิบายไปแล้วว่าก็ต้องมี 2 หนทาง หากผลออกมาทางไหน สื่อก็ถามอยู่ดี"
**ยันคว่ำรธน.ไม่เกี่ยว"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. กล่าวหลังทราบมติผลโหวตร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ก่อนหน้าตน และสมาชิกสปช.บางส่วนได้ตั้งคณะทำงาน 5 คน ซึ่งประกอบด้วย สปช.ด้านการเมือง และด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้เห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่รับร่างฯ ฉบับนี้ในขั้นของสปช. ซึ่งได้พูดคุยขยายคณะทำงานใน สปช.สายจังหวัด สายสื่อมวลชน เพิ่มขึ้นจนมีสมาชิกล่าสุดในวันที่ 1 ก.ย. 133 เสียง ซึ่งมีคะแนนปฏิเสธไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 147-150 เสียง ซึ่งในวันนี้ เป็นไปตามแผนทุกประการ แต่บางคนที่รับปากแต่ไม่ทำตามก็จะมีเพียง 2-3 คน
ทั้งนี้ยืนยันว่า การไม่รับร่างฯไม่เกี่ยวข้องกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากการพิจารณาของ สปช. ด้วยตนเอง เนื่องจากเห็นว่าไม่ควรให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปถึงขั้นให้ประชาชนลงประชามติจนกว่าจะร่างฯ ฉบับนี้เรียบร้อยแล้ว
นายวันชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนเนื้อหา กล่าวชัดเจนว่า โครงสร้างทางการเมืองมีปัญหาไม่จะเป็นระบบการเลือกตั้ง ที่มา ส.ว. ที่มานายกรัฐมนตรี ที่สำคัญในร่างมีเนื้อร้ายอย่างคณะกรรมการยุทศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ได้พูดคุยมาตั้งแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรต้องปรับปรุงและแก้ไข
"อีกส่วนมีปัญหาทั้งข้อเท็จจริง คือ ถ้าไปทำประชามติอาจมีปัญหา และข้อกฎหมาย อาจจะต้องใช้เสียงกว่า 24 ล้านเสียง เพราะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งขอให้ผู้เกี่ยวข้องไปทำรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อย ส่วนกรรมการยกร่างฯ เชื่อว่านายกฯได้พิจารณาแล้ว เป็นคนมีความรู้ความเข้าใจ และเชื่อว่าข้อมูลที่ กมธ.ยกร่างฯ ชุดปัจจุบันสามารถนำไปแก้ไขได้ โดยไม่ต้องวิตกกังวล สปช. แม้จะหมดภารกิจแล้วก็ยังมีสิทธิให้ข้อสังเกตและข้อเสนอ"
เมื่อถามว่าเมื่อร่างใหม่เนื้อหา คปป. ก็ยังมีอยู่ นายวันชัย กล่าวว่า อาจจะมี แต่อาจต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในบางเรื่อง ไม่น่าจะอยู่ส่วนเดียวกับการปรองดอง ซึ่งผบ.เหล่าทัพ จะรู้เรื่องการปฏิรูปได้อย่างไร
ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าคนที่คว่ำร่างฯ วันนี้จะอยู่ในตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นายวันชัย กล่าวว่า เอาตนเองเป็นประกัน สาบานได้ว่าไม่เคยมีใครมาติดต่อให้เคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว แล้วจะให้ตำแหน่งสภาขับเคลื่อนฯ จะเป็นหรือไม่เป็นไม่ใช่สาระสำคัญ ถามว่าถ้ามีคนมาเชิญจะรับหรือไม่รับ ถ้าเชิญก็รับไปทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ แต่ยังไม่มีใครเชิญและติดต่อใดๆ
**เสียงทหารโหวตคว่ำท่วมท้น
พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สปช. ที่โหวตไม่รับร่างรธน. ปิดเผยว่า เหตุที่ไม่โหวตรับ ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี เพียงแต่มองว่า หากโหวตผ่านไปถึงขั้นลงประชามติจะมีปัญหา ไม่เพียงเสียงบประมาณการทำประชามติเท่านั้น แต่ คสช.จะเสียหายด้วย หากประชามติไม่ผ่าน ดังนั้นการโหวตไม่ผ่านตอนนี้จึงน่าจะดีกว่า สปช.เมื่อรู้ว่าจะหมดอายุลง จึงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากร่างนี้ 2. กลุ่มที่มองดูและชั่งน้ำหนักหากผ่าน หรือไม่ผ่านไปแล้วจะเป็นอย่างไร 3. กลุ่มที่รอดูผู้มีอำนาจให้สัมภาษณ์ แล้วนำมาประกอบการตัดสินใจ เดิมทีรัฐธรรมนูญเริ่มขัดแย้งตั้งแต่ในชั้นรับฟังแสดงความคิด เห็น หลายเรื่องก็ไม่ได้รับการแก้ไขจากฝ่ายที่เรียกร้องมา นายกรัฐมนตรี ก็บอกไม่ใช่แค่รัฐบาลจะผ่านไม่ผ่าน รัฐบาลจะบริหารได้ไม่ได้ แต่ต้องควบคู่ไปกับการปรองดองการปฏิรูปด้วย ถ้าปรองดองไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะปฏิรูปเลย จะทำอะไรก็คงไม่สำเร็จ แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนมาให้แก้ยากมาก หรือแก้ไม่ได้เลย อย่าไปมองว่านักการเมืองคิดแต่จะเลือกตั้ง ถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ ทุกคนก็กังวลว่าถ้าบังคับใช้ไปแล้วจริงๆ แล้วความขัดแย้งเกิด ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วใครจะรับผิดชอบ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่กรรมาธิการกฎหมาย กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่มีความรู้ความสามารถทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็ยังไม่เห็นด้วยเลย แสดงว่าเนื้อหาบางส่วนน่าจะมีปัญหาจริงๆ
เมื่อถามว่ามีการล็อบบี้อย่างหนัก เพื่อให้โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ พ.ต.อาณันย์ กล่าวว่า ไม่มี ไม่มีการเสนอตำแหน่งหรือพูดถึงตัวเลขใดๆทั้งสิ้นถามอีกว่าเสียงที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ยังเป็นทหาร สะท้อนถึงอะไรได้บ้าง พ.ต.อาณันย์ กล่าวเพียงว่า ไม่ได้มองว่าเป็นปรากฎการณ์อะไร แต่เขาคงคิดกังวลถึงความขัดแย้งในอนาคตถ้ารัฐธรรมนูญผ่านไป ขอย้ำอีกครั้งว่า ผลการโหวตที่ออกมาไม่ได้รับสัญญาณจากใครมาทั้งสิ้น
** "สมบัติ"ยก 3 เหตุผล สปช. คว่ำร่างรธน.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสปช. และประธานการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า สาเหตุที่ทำสปช.โหวตคว่ำร่าง รธน. มาจาก 3เหตุผลคือ 1. เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหา อาทิ ที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก , ที่มาส.ว.สรรหา ,ระบบการเลือกตั้งผสมส่งผลทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง 2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่สปช. หลายคนไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าวจำนวนมาก และ 3. หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายการทำประชามติ ที่จะยึดหลักเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิ ดังนั้นมั่นใจได้ว่า จะไม่มีเสียงประชาชนเห็นชอบ หรือรับร่างรัฐธรรมนูญถึง 23 ล้านเสียงขึ้นไป ประกอบกับ 2 พรรคการเมืองใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว จึงเห็นควรว่า ไม่ควรที่จะเสียเวลาทำประชามติอีก 4 เดือน และเสียงบประมาณอีก 4,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำไปแล้ว และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะต้องตั้งกรรมาร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ซึ่งตนเองยังไม่ได้รับการทาบเข้าร่วมแต่อย่างใด
** คว่ำเพราะไม่ขอพาประเทศเดินลงเหว
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า ส่วนตัวประเมินว่าสาเหตุที่สมาชิกสปช. จำนวน 135 คน ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญมี 2 ปัจจัยสำคัญด้วยกัน 1. เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ระบบเลือกตั้ง ส.ส.ที่นำระบบสัดส่วนผสมมาใช้ ซึ่งจะทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมากเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎร อาจก่อให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองอีก เช่นเดียวกับการให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ที่จะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีจากคนนอกไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องบริหารผลประโยชน์ในสภาฯ และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง 2. สถานการณ์ภายนอก โดยต้องยอมรับว่า เวลานี้มีกลุ่มคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากปล่อยให้ทำประชามติ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้างได้อีก
" ในเมื่อโอกาสที่จะทำประชามติให้ผ่านเป็นไปได้ยาก เมื่อเราเห็นว่าข้างหน้าเป็นเหว แล้วยังจะกระโดดลงไปอีกหรือ และการที่ สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เป็นการตบหน้า คณะกมธ.ยกร่างฯ แต่อย่างใด เพราะต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ เปรียบเหมือนกับ กมธ.ยกร่างฯ เป็นพ่อครัว ทำอาหารมาให้ สปช.ชิม เมื่อไม่อร่อย จะให้บอกว่าผ่านคงไม่ได้" นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า คิดว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คนที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้น สามารถหยิบยกร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกมธ.ยกร่างฯได้ดำเนินการเอาไว้แล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ มาปรับใช้ แต่ควรยกเลิก คปป. เพราะเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจมากเกินไป รวมทั้งจะต้องเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน มาร่วมแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ อย่าไปรังเกียจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องร่วมมือกัน เหมือนกับการสร้างกำแพงเมืองจีนที่ต้องใช้คนจำนวนมากถึงจะประสบความสำเร็จ
นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิก สปช. ที่ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คะแนนของสมาชิกสปช. ที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 135 เสียง ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 5 เสียง เชื่อว่า สาเหตุที่ สปช.ลงมติไม่เห็นด้วยนั้นมาจากการหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ในข้อดี และข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการล็อบบี้
สำหรับกรณีที่มีการอ้างว่าให้มีการลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแลกกับตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้นยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
**โวยมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมีล็อบบี้ชัด
นายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสปช. กล่าวว่า การลงมติครั้งนี้ มีเรื่องที่ผิดปกติ เพราะมีการล็อบบี้อย่างเห็นได้ชัด กลุ่มที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้แสดงสปิริตเหมือนกับที่ตนได้แสดงด้วย เพราะร่างรัฐธรรมนูญนั้นพวกสปช.ร่างกันเอง คว่ำกันเอง ร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เงินมูลค่านับพันล้านบาท เพื่อร่างขึ้นมาในวันนี้ กลายร่างรัฐธรรมนูญฉบับปาหี่ กลายเป็นเศษกระดาษ ประชาชนยังไม่ได้อ่านแม้แต่ตัวเดียว แต่สปช.ได้ฉีกไปแล้วโดยภาษีของประชาชน
"สปช.นั่งเครื่องบินชั้นบิสิเนสฟรี กินฟรี อุดมสมบูรณ์ มีผู้ช่วยจำนวน 5 ท่าน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถให้ประชาชนใช้ได้ หรืออกประชามติได้ ผมอยากจะถามว่าทำไมล่ะ ตัวหนังสือทุกตัวในนี้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่วันนี้ลงมติไม่เห็นชอบด้วย ถามความรับผิดชอบว่า จะทำอย่างไรกับงบประมาณที่เสียไป เวลาที่เสียไป ต่อจากนี้ผมจะไม่แอบอ้างว่าเป็นอดีต สปช. เพราะว่าอาย ทำให้รัฐเสียเงินเป็นพันๆล้าน แล้วทำอะไรให้ไม่ได้" นายสิระกล่าว
**ยันคืนเงินเดือนสปช.1.7 ล้าน
นายสิระ กล่าวว่า ในวันที่ 7 ก.ย. ตนจะคืนเงินเดือนที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกสปช. จำนวน 1.7 ล้านบาท แก่สำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎร ตนรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถผลักดันร่างรัฐธรรมนูญ ที่นักการเมืองกลัวมากที่สุด และประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่มีมา แต่สปช.กลับไม่กล้าให้ประชาชนไปลงประชามติ ตนคิดว่ามามีเรื่องผิดปกติต่อการลงมติในครั้งนี้อย่างร้ายแรง คนที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญถ้าทำงานล้มเหลวขนาดนี้และมีการไปจ้างต่อไปสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องนี้ก็จะตรงกับที่ตนได้ยินข่าวมาว่า มีผลประโยชน์ตอบแทนกันอยู่ ซึ่งตนก็ได้เจอกับตัวเองมาแล้ว เรื่องนี้ขอให้ประชาชนคนไทยช่วยกันดูด้วยว่าอย่าเอา สปช. ที่ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญพวกนี้เข้ามาทำงานอีก
ทั้งนี้ เหตุผลของการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ 1. คว่ำก่อนเห็นร่างรัฐธรรมนูญ 2. คว่ำโดยเห็นว่าเนื้อหาสาระดี กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีการปรับแก้ตามกลุ่มสปช.ได้เสนอไปแล้วจนไม่มีข้อติ แต่ก็คว่ำ 3. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยมีผู้ล็อบบี้ 2 คนตามข่าว โดยอ้างผู้ใหญ่ และ 4. คว่ำโดยหมั่นไส้ กมธ.ยกร่างฯ
นายสิระ กล่าวอีกว่า ที่ตนออกมาสู้ทุกวันนี้ เพราะเป็นห่วงประเทศไทย ได้ยินว่าทุกวันนี้จะมีคนส่งเรื่องไปให้สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) ดูว่าสภาปฏิรูปกำลังเล่นปาหี่กันอยู่ และจะให้มาบีบประเทศไทย และตรงนี้จะเป็นช่องให้เกิดความชอบธรรมให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงประเทศไทยได้
ในภายหลังจากแถลงข่าว นายสิระได้มาดักยืนรอ นายวันชัย สอนศิริ หนึ่งใน สปช. ที่ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างนั้น นายวันชัยกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่ โดยนายสิระ กล่าวว่า ตนจะมาแสดงความยินดีกับนายวันชัย ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และกล่าวต่อว่าขอแสดงความยินดีกับนายวันชัย ที่ทำให้งบประมาณของประชาชนเสียหายไป 1 พันล้านบาท โดยที่ประชาชน ไม่ได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญเลย ขณะที่นายวันชัย ก็ได้กล่าวว่า คุณจะมาแสดงความยินดีอะไรตรงนี้
นายสิระ ยังได้ถามกลับนายวันชัย ด้วยว่า ที่ผ่านมาที่นายวันชัย ไม่ปฏิเสธตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนแห่งชาติ มีนัยอะไรหรือไม่ ที่ไปล็อบบี้ ถ้าล็อบบี้เปล่าๆ คงไม่มีใครล็อบบี้ นายวันชัย จงใจทำให้เกิดคามเสียหายจากเงินภาษีประชาชน ในระหว่างที่นายสิระพูดอยู่นั้น นายวันชัย ก็ได้หลบออกจากกลุ่มผู้สื่อข่าวเดินขึ้นไปยังชั้นบนของอาคารรัฐสภา อาคาร 1
**"สุเทพ"โพสเฟซฯถึงปชช.อย่าเสียกำลังใจ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยได้โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า
" ผมขอส่งกำลังใจถึงพี่น้องประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดินทุกท่าน เราได้แสดงเจตนารมณ์แทนพี่น้อง มวลมหาประชาชนว่า..เราต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกควํ่าไปเสียแล้ว พวกเราก็อย่าเสียกำลังใจ ขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศให้จงได้ สุขุม หนักแน่น เอาไว้ครับ"
**อย่าเอาวาระปฏิรูปเล่นเกมอำนาจ
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า มติสปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถูกชี้ขาดด้วยสปช.สายทหาร-ตำรวจ กว่า 30 คน ซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่า คสช.ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะด้วยเหตุผลประการใดเป็นสาเหตุสำคัญก็ตาม แต่จากนี้ไป จะทำให้วาระปฏิรูปประเทศไปอยู่บนบ่าคสช.เต็ม ๆ
ต่อไปคสช.จะบอกว่าเป็นไปตามโรดแมปในรัฐธรรมนูญชั่วคราว คสช.ไม่เกี่ยว จะฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว และคนจะเริ่มถามหาความจริงใจจาก คสช.ว่า ตกลงจะปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังหรือไม่ หรือเอาประเด็นปฏิรูปมาเป็นเกมอำนาจเท่านั้น จากนี้ไปจะเป็นบทพิสูจน์คสช.ว่า จะอยู่ต่อเพื่อปฏิรูปประเทศจริงๆ จังแค่ไหน
ทันทีที่มีการตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นมาใหม่ภายใน 30 วันจำนวน 21 คน ก็คงพอจะประเมินได้ระดับหนึ่งว่า จะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่า หรือแย่กว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งถูกคว่ำไป
ทั้งนี้ สิ่งที่ คสช.ควรทำ และไม่ต้องรอร่างรัฐธรรมนูญ คือ การบูรณาการอำนาจเร่งผลักดันการปฏิรูปในเรื่องสำคัญๆ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นการปฏิรูปในระดับโครงสร้าง เช่น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปตำรวจ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน และทรัพยากรที่เป็นธรรมและยั่งยืน การกระจายอำนาจ เป็นต้น
ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เราเห็นแต่โรดแมปของการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่เห็นโรดแมปของการปฏิรูป ที่เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระ เพราะได้รัฐธรรมนูญมาแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า การปฏิรูปจะสำเร็จเสมอไป
ถ้าคสช.ประกาศโรดแมปปฏิรูปในส่วนคสช. ก็จะทำให้สังคมเห็นภาพชัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือก่อนเลือกตั้ง และจะไม่เป็นการเสียของ เปลืองงบประมาณเหมือนช่วงที่ผ่านมา