xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินกทม.อีก 79 เส้นทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในช่วงเลือกตั้ง ผู้ว่ากทม.หลายครั้ง จะเห็นนโยบายหนึ่งที่บรรดาผู้ลงสมัครผลัดกันงัดกลยุทธ์ออกมาโปรโมตตนเองเพื่อขอคะแนนคนกรุง โดยเฉพาะโยบาย “เสาไฟฟ้า” ต่างคุยฟุ้งว่า “ถ้าเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะเก็บสายไฟมุดลงใต้ดินภายใน 1 ปี”

วันก่อนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยมอบหมายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นผู้ดำเนินการนำสายไฟฟ้าในอากาศบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญลงสู่ใต้ดิน มีรายละเอียดสั้น ๆ ระบุว่าโครงการนี้จะอยู่ภายใต้งบลงทุน 143,092 ล้านบาทรวมทั้งหมด 39 เส้นทาง ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร เพื่อปรับทัศนียภาพกรุงเทพฯ ให้เป็นเป็นนครแห่งการท่องเที่ยว

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” และ หัวหน้า คสช. ออกมายอมรับว่า โครงการนี้เป็นเรื่องระยะยาวที่การไฟฟ้าฯเสนอเรื่องเข้ามาขอทั้งหมด 127.3 กิโลเมตร ในกทม.และต่างจังหวัดในถนนและเส้นทางที่สำคัญ ซึ่งมีการสั่งการให้ไปศึกษาให้ดี และทำแผนให้ดีทั้งประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ท่อระบายน้ำเพราะถ้าจะเอาสายไฟฟ้าลงดินก็ต้องทำให้ครบ เพื่อขุดครั้งเดียวเป็นการบูรณาการ ฉะนั้นต้องใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและทยอยทำ ถ้าทำในปีที่ตนยังอยู่ตามโรดแมพที่เหลือก็ส่งให้รัฐบาลหน้าเขาทำ

ตามแผนที่ ครม.เห็นชอบเป็น “ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน” รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วงเงินลงทุน 143,092 ล้านบาท เพื่อให้สภาพภูมิทัศน์และรักษา สิ่งแวดล้อมให้สวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนรวมทั้งเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าและรองรับความต้องการไฟฟ้าในอนาคต

สำหรับโครงการที่จะทำประกอบด้วยโครงการย่อยที่ 1 ปี 57-65 รวม 49 เส้นทาง ระยะทาง 144.6 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็นในกรุงเทพมหานคร 99.2 กม. นนทบุรี 12.3 กม. สมุทรปราการ 33.1 กม. โครงการย่อยที่ 2 ปี 58-60 รวม 30 เส้นทาง ระยะทาง 117 กม. ในกรุงเทพมหานคร 92.6 กม. และนนทบุรี 24.4 กม. เมื่อรวมทั้งสิ้นมี 79 เส้นทาง ระยะทางรวมทั้งหมด 261.6 กม.แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 191.8 กม. นนทบุรี 36.7 กม. และสมุทรปราการ 33.1 กม.

สำหรับพื้นที่ที่จะดำเนินการในเขตศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร เช่น ถนนอังรีดูนังต์ ถนนชิดลม ถนนหลังสวน ถนนสารสิน ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 ถนนสาทร รวม 12.6 กม. รวมทั้งยังมี พื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทางเพื่อสนับสนุนพื้นที่เมืองชั้นในและศูนย์กลางเขตธุรกิจ ได้แก่ ถนนเจริญราษฎร์ ถนนเพชรบุรี ถนนดินแดง รวม 7.4 กม. เป็นต้น

ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้แสดงความเห็น โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นว่าโครงการนี้ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตามในการก่อสร้างอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน บริเวณพื้นที่ตามแนวสายไฟฟ้าพาดผ่าน และผลกระทบด้านอากาศและด้านคมนาคมรวมถึงผลกระทบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จึงควรให้ กฟน.กำหนดแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบดังกล่าวให้ครบถ้วนด้วย ส่วนกระทรวงพลังงานมีข้อสังเกตว่า กฟน. ควรบริหารจัดการงบประมาณที่ใช้ดำเนินการอย่างรอบคอบรวมทั้งตรวจสอบและติดตามงานก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น.

ย้อนหลับไปดูความเป็นมาของโครงการนี้ กฟน.มีแผนดำเนินการโครงการเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน เป็นแผนระยะยาว 10 ปี จำนวน 39 โครงการ ในถนนสายสำคัญและตามแนวรถไฟฟ้า รวมระยะทาง 127 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 48,000 ล้านบาท

มีข้อมูลคร่าว ๆว่า โครงการนี้ จะดำเนินการจนถึงปี 2565 แบ่งเป็นโครงการย่อยๆ อีกหลายเส้นทาง เช่น ถ.พระราม 4 ถ.สรรพาวุธ ถ.รามคำแหง ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ ถ.วิภาวดี-รังสิต ถ.จรัญสนิทวงศ์ และ ถ.บรมราชชนนี เป็นต้น เพื่อเตรียมรองรับการเป็น “มหานครแห่งอาเซียน”ที่เป็นความร่วมมือของ กฟน. กทม. และ การประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งกำกับโดยกระทรวงมหาดไทย

ที่นี้มาดูความคืบหน้าในการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยกฟน.สามารถ นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเสร็จแล้ว ระยะทางรวม 16.2 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการสีลม โครงการจิตรลดา และโครงการปทุมวัน

ส่วนสมัย ครม.รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”อนุมัติงบรวมทั้งสิ้น 9,089 ล้านบาทใน 2 โครงการ ระยะทางรวมประมาณ 22.5 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงการที่ 1 คือโครงการรัชดาภิเษก-อโศก ช่วงคลองสามเสนถึง ถ.พระราม 4 รวมระยะทาง10.1 กม. และโครงการที่ 2 คือโครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ช่วงแยกถนนลาดพร้าวถึงคลองสามเสน รวมระยะทาง 15.3 กม. โดยครอบคลุมพื้นที่ ถ.รัชดาภิเษก ถ.พระราม 9 ถ.เพชรบุรี และ ถ.พระราม 4 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2556-2563

เบื้องต้นโครงการนี้ เมื่อปี 2556-2557 มีการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา และบริษัทที่ปรึกษาศึกษา สํารวจ ออกแบบรายละเอียด จัดทํา TOR ส่วนปีนี้ 2558 มีการจัดหาผู้รับจ้าง และจัดหาที่ปรึกษาควบคุมงาน
โดยปีหน้า 2559-2561 จะเริ่มก่อสร้างงานโยธา ท่อร้อยสายไฟฟ้า บ่อพัก และฐานอุปกรณ์ จากนั้นปี 2561 -2563 จะมีการลากสาย Cable ติดตั้งอุปกรณ์ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน และรื้อถอนงานระบบสายไฟฟ้าอากาศต่อไป

ขณะที่ปี 2558 จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ สุขุมวิทซอย 3, 15, 22, 31 และซอย 33 รวมระยะทาง 5.6 กิโลเมตร และยังมีแผนจะดำเนินการในพื้นที่ต่อไปคือ บริเวณถนนนราธิวาส ถนนพระราม 3 และถนนรัชดาภิเษก

ส่วนพื้นที่ล่าสุด กำลังมีการดำเนินการบริเวณซอยสุขุมวิท 24 ที่การไฟฟ้านครหลวง (เพลินจิต) ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญที่มีโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก และมีอัตราความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2558 นี้

และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการระยะทางรวม 49.6 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการพหลโยธิน โครงการพญาไท โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท

แต่ที่ถนนพหลโยธิน ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนพญาไทและถนนศรีอยุธยา ตามแนวรถไฟฟ้า และถนนสุขุมวิท 1-สุขุมวิท 77 ตามแนวรถไฟฟ้านั้น ยังไม่สามารถนำเสาไฟลงใต้ดินได้ เนื่องจากยังมีสายสื่อสารจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้กดำลังมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะบริเวณ “ห้าแยกลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2548

ผู้ว่าการ กฟน. เคยแจ้งมาว่า “ล่าสุดทาง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ขอให้ทางการไฟฟ้านครหลวง ยืดระยะเวลาการรื้อถอนเสาไฟฟ้าในแนวถนนพหลโยธินออกไปก่อน พร้อมกับกำหนดแนวทางจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่พาดอยู่กับเสาไฟของ กฟน. ขณะที่ กสทช.ได้เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แบบบูรณาการแล้ว”

ดังนั้น “ที่ยังไม่สามารถเอาเสาไฟลงได้ เพราะต้องคงไว้เพื่อให้สายสื่อสารต่างๆอาศัยพาด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานอื่นทั้งนั้น เช่น สายสื่อสารของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีจำนวน 10 กว่าแห่ง สายสัญญาณของทีโอที และสายของ กสท โทรคมนาคม เป็นต้น ขณะนี้กำลังเร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของสายสัญญาณ กับ กสทช. หาทางนำสายสัญญาณสื่อสารลงใต้ดินให้เร็วที่สุด”ผู้ว่าการ กฟน.แจ้งไว้เมื่อรเร็ว ๆนี้

แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การนำสายไฟลงใต้ดินในหลายพื้นที่ อาจจะมีภาระเรื่องงบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า เมื่อเทียบกับการเดินสายไฟผ่านอากาศ หรือพาดไว้ตามเสา

เช่นเดียวกับ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ และหน่วยงานของรัฐบาลหน่วย เช่น การประปา โทรศัพท์ หรือ กทม. ก็กำลังร่วมกันขุดพื้นผิวถนน และทางเท้าในบริเวณพื้นที่เดียวกันกับ กฟน.

หลังจากนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ที่มีการสั่งการให้ไปศึกษาทำแผนให้ทั้งการประปา การไฟฟ้า โทรศัพท์ ท่อระบายน้ำ

“ถ้าจะเอาสายไฟฟ้าลงดินก็ต้องทำให้ครบ”

ล่าสุดทราบว่า คสช.ได้สั่งการให้ กสทช. เข้ามาแก้ปัญหาสายไฟฟ้า-สายสื่อสาร “รกรุงรัง” เพื่อจัดระเบียบเพื่อปรับภาพลักษณ์ และสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับเมืองกรุง ตามนโยบายให้กรุงเทพฯ เป็น เมืองสวรรค์ เป็น“มหานครแห่งอาเซียน”




กำลังโหลดความคิดเห็น