xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สรรพากรปิดหมาย ปิดจ็อบ รีดภาษี “แม้ว” ได้หรือไม่ได้....ไม่รู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจาก “เนติบริกร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แนะช่องทางใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย”

ในที่สุด กรมสรรพากร ก็กระมิดกระเมี้ยนไปแปะหมายเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่อายุความจะหมดลงเพียง 3 วัน

ถือเป็นการเขี่ยลูกส่งต่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในขั้นสุดท้าย หนีข้อหาอุ้มชินคอร์ปของสรรพากรและรัฐบาล คสช.

และอีกอย่าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตีขนาบอยู่ข้างๆ จะปล่อยให้หมดอายุไปเสียเฉยๆ คงเรื่องใหญ่แน่

ส่วนจะเรียกเก็บภาษี 1.7 หมื่นล้าน จากนายทักษิณ ได้อย่างที่ สตง. มั่นอกมั่นใจ หรือจะเก็บไม่ได้ อย่างที่กรมสรรพากร ยกแม่น้ำทั้งห้ามาอ้างแล้วเพิกเฉยจนถูกบีบให้ต้องปิดจ๊อบด้วยการปิดหมาย ต้องติดตามในภาคต่อไป

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การคาเรื่องมัดปมไว้เช่นนี้ก็ดีกว่าปล่อยผ่านเลย โดยเฉพาะในวงการต่อรอง ปรองดอง ที่กำลังทำกันในทางลับและทางแจ้ง อย่างน้อย คสช. ก็มีไพ่ใบนี้อยู่ในมือ

และหากการต่อสู้ยกสุดท้ายสามารถเก็บภาษีได้อย่างที่เรียกไปก็ถือว่าประเทศชาติได้ประโยชน์

เงินภาษีก้อนโตที่หลบเลี่ยงรอดมาได้ตั้งหลายยก ฝ่ายทักษิณ ก็ต้องหาทางสู้สุดฤทธิ์ไม่ยอมเสียไปง่ายๆ เช่นกัน ดังจะเห็นว่า เมื่อกรมสรรพากร เดินหน้าปิดหมาย บรรดาลิ่วล้อทักษิณ ก็ดาหน้าออกมาถล่มรัฐบาล คสช. ตามฟอร์ม ทั้งนายนพดล ปัทมะ หรือนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เตรียมรายงานนายใหญ่ พร้อมตั้งทีมกฎหมายและยื่นอุทธรณ์สู้คดี ซึ่งหนีไม่พ้นการท่องสูตรรายได้จากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี และเรื่องหมดอายุความไปตั้งแต่ 6 เดือนแล้ว

เฉพาะบทนายเรืองไกร กะล่อหนักถึงขั้นว่าอาจจะต้องฟ้องกลับคืน ทำแต้มจากนายใหญ่

ขณะที่นายทักษิณ กลับมาแบบผิดฟอร์ม อยากจะเจรจากันมากกว่าจะไปฟ้องกัน อย่างที่ นายเรืองไกร ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันก่อนว่า "นายทักษิณ ต้องการให้เจรจาร่วมกันมากกว่า เพราะหากยึดหลักเอกสารเดิม มีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องคดีอาญาตามมาอีกหลายคดี เพื่อหาทางออกร่วมกัน"

เปิดหน้าไพ่ให้เห็นกันว่า งานนี้มีเจรจาหลังฉากตามมาแน่

การเปิดหน้าขอเจรจาส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่า ข้ออ้างข้างๆ คูๆ ที่ว่า เงินได้จากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษีนั้น มันไม่จริง เพราะคำพิพากษาของศาลอาญา ที่ลงโทษจำคุกนางเบญจา หลุยเจริญ และพวก ชี้ชัดแล้ว แม้ว่าคำตัดสินของแต่ละศาลจะไม่ผูกพันกันก็ตาม

มาดูกันชัดๆ อีกครั้ง

คำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำ อท.43/2558 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ได้สั่งจำคุกนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ขณะดำรงแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร และพวก ในความผิดร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการเอื้อประโยชน์ให้นายพานทองแท้-นางสาวพิณทองทา ชินวัตร ไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ราชการเสียหาย

คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องนางเบญจา และพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควรโดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ นางสาวพินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย
    
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เคยมีความเห็นเกี่ยวกับรายได้และส่วนต่างการโอนขายหุ้นให้กับบุคคลธรรมดา เข้าลักษณะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งต้องนำเงินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ซึ่งกรณีของนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ได้ประโยชน์จากส่วนต่างของการขายหุ้นละ 1 บาท จึงต้องเป็นรายได้ที่นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี

"โดยผลจากการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการตอบข้อหารือที่ขัดไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมสรรพากร ซึ่งความผิดสำเร็จตั้งแต่การตอบข้อหารือ โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งหารือมายังสำนักกฎหมาย แล้วนำคำหารือไปใช้ประโยชน์ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี"

นั่นจึงทำให้ สตง.ไล่บี้กรมสรรพากร อย่างที่เห็น เพราะในกรณีนี้กรมสรรพากร ได้มีการประเมินภาษีบุคคลทั้งสองแล้ว แต่เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำวินิจฉัยว่า นายทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง ดังนั้น กรมสรรพากร จึงต้องประเมินภาษีเจ้าของหุ้นที่แท้จริง คือ นายทักษิณ คิดเป็นภาษีรวมเบี้ยปรับและอื่นๆ ตก 17,073.68 ล้านบาท ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 10 ปี คือ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560

ตามพิธีกรรมเรียกเก็บภาษีนายทักษิณ คราวนี้ กรมสรรพากร ในยุคนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นอธิบดี ได้นัดหมายนายทักษิณ หรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจมารับทราบการประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 329.2 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 23 มกราคม2549 ให้กลุ่มเทมาเส็ก ในวันที่ 27 มีนาคม 2560 แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายก็ไม่มีตัวแทนนายทักษิณ มาแต่อย่างใด

เมื่อนายทักษิณ และตัวแทนไม่มารับทราบการประเมินภาษีดังกล่าว ในวันรุ่งขึ้น 28 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่ของกรม ได้นำหนังสือประเมินภาษีนายทักษิณ ไปติดที่หน้าบ้านพักจันทร์ส่องหล้า เลขที่ 472 ถ.จรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงและเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของนายทักษิณ ที่แจ้งไว้ในระบบทะเบียนราษฎร์ ของกระทรวงมหาดไทย โดยการติดหนังสือประเมินภาษีนายทักษิณ ดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่ต้องประเมินภาษีภายใน 10 ปี ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560

ตามกระบวนการหลังจากนี้ หากนายทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีของกรมสรรพากร สามารถทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งนายนพดล ก็พูดชัดแล้วจะยื่นอุทธรณ์สู้

และถ้าหากนายทักษิณ ไม่พอใจผลประเมิน ยังสามารถอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

แต่ถ้าหากนายทักษิณ ไม่ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนด กรมสรรพากร จะดำเนินการเก็บภาษีทันที หากไม่มาชำระ กรมจะใช้อำนาจยึดทรัพย์ เช่น เงินฝาก และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำมาชำระค่าภาษีให้ครบตามที่เรียกเก็บต่อไป

ดังนั้น ถ้าว่ากันตามกระบวนการแล้ว เรื่องนี้ยังต้องสู้กันอีกหลายยก หรืออาจจะลากยาวถึงไปถึงชาติหน้า ?!?


กำลังโหลดความคิดเห็น