xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.ถอนมติครม.ขึ้นค่าโทลเวย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (19ส.ค.) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอน มติครม.เมื่อวันที่ 11 เม.ย.49 และวันที่ 10 เม.ย. 50 ที่เห็นชอบบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถ.วิภาวดีรังสิต ตอน ดินแดง-ดอนเมือง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 21 ก.ย.50 ในการปรับขึ้นราคาอัตราค่าบริการทางยกระดับอัตราภิมุข อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้นายสมคิด หอมเนตร กับพวกรวม 21 คน ได้ฟ้อง รมว.คมนาคม อธิบดีกรมทางหลวง บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) คณะรัฐมนตรี กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-6 ที่มีส่วนร่วมในการออกประกาศขึ้นราคาอัตราค่าบริการทางยกระดับอุตรภิมุข ซึ่งจากสัญญาสัมปทานเดิมลงวันที่ 21 ส.ค.2532 ได้กำหนดอัตราค่าผ่านทางขั้นต้น เส้นทางทิศเหนือจุดผ่านทางหลวงสัมปทานดินแดง และทิศใต้ จุดผ่านทางหลวงสัมปทานดอนเมือง รถยนต์ 4 ล้อ อัตราค่าผ่านทางเฉลี่ยที่ 20-10 บาท และเกิน 4 ล้อ เฉลี่ยที่ 30-20 บาท ตามลำดับ
ต่อมาวันที่ 1 พ.ย. 52 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คน ได้รับเอกสารประชาสัมพันธ์ในการปรับอัตรค่าบริการทางยกระดับดังกล่าวของบริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ ซึ่งเป็นอัตราค่าผ่านทางขาออก กทม. ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ด่านดินแดงและด่านอื่นๆ และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ด่านหลักสี่ขาออก และด่านอนุสรณ์สถาน ซึ่งแสดงการใช้อัตราค่าผ่านทาง ตั้งแต่วันลงนามในสัญญาสัมปทานจนถึงอายุสิ้นสุด สัมปทาน
แต่ศาลพิจารณาเฉพาะที่พิพาทเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดี คือวันที่ 22 ธ.ค. 52 ถึงวันที่ 21 ธ.ค. 57 โดยกำหนดค่าจุดผ่านทางหลวงสัมปทานด่านขาออก รถยนต์ 4 ล้อ เฉลี่ย 60-25 บาท รถยนต์มากกว่า 4 ล้อ เฉลี่ย 90-35 บาท ส่วนด่านขาเข้ารถยนต์ 4 ล้อ เฉลี่ย 85-60 บาท และรถถยนต์มากกว่า 4 ล้อ 125-90 บาท ตามลำดับ โดยบริษัททางยกยกระดับดอนเมืองฯ ให้เหตุผลว่า การระงับขึ้นค่าผ่านทางเป็นเวลานาน มีผลทำให้บริษัทขาดทุนสะสมถึงปี 2549 เป็นจำนวนเงินกว่า 5.6 พันล้านบาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, 2 และ 4 ยินยอมให้บริษัททางยกระดับดอนเมืองฯ เก็บเงินค่าผ่านทางชดเชย ส่วนที่ลดลงเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ 22 ธ.ค.52 ถึงวันที่ 21 ธ.ค. 57
โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มติของคณะรัฐมนตรีในคดีดังกล่าวนั้น กระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากสภาพของทางยกระดับที่พิพาท มีสถานะเป็นทางสาธารณะประโยชน์ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตาม มาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การใช้ทางดังกล่าว จึงเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีรวมทั้งประชาชนทั่วไป มิได้เป็นการใช้ทางในลักษณะที่เป็นทางเลือก เพียงแต่ต้องชำระค่าผ่านทาง เนื่องจากเป็นทางหลวง ตามพ.ร.บ.ทางหลวงที่รับสัมปทาน 2473 แม้ว่าการก่อสร้างทางยกระดับดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์แห่งพ.ร.บ.ทางหลวง ที่รับสัมปทาน 2473 และ พ.ร.บ.ทางหลวงสัมปทาน 2542 โดยให้สิทธิแก่บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ สามารถเรียกเก็บค่าผ่านทางจากผู้ใช้ทาง แต่เนื่องจากทางยกระดับดังกล่าวแม้จะเป็นทางหลวงสัมปทาน แต่เป็นการก่อสร้างในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถ.วิภาวดีรังสิต อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมือง ซึ่งกรณีที่มีการขยายอายุสัมปทาน รวมทั้งเรียกเก็บค่าผ่านทางที่เกิดขึ้นภายหลังสัญญาสัมปทานฯ ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิการใช้ทางยกระดับดังกล่าว ดังนั้นมติของคณะรัฐมนตรีจึงกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้ง 21 คน
นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, 2 และ 4 ที่ร่วมกันให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ การจัดเก็บค่าผ่านทางที่เป็นมูลเหตุแห่งการร้องคดีนี้ ย่อมเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ฟ้องคดี และประชาชนอย่างเกินสมควร และไม่เหมาะสม
ดังนั้น ศาลจึงมีคำพิพากษาเพิกถอน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เม.ย.49 และวันที่ 10 เม.ย.50 เฉพาะส่วนที่ปรากฏ ภาคผนวก ข และภาคผนวก ค ของบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ เพราะมติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดียังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ในระยะเวลา 30 วัน นับจากนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น