xs
xsm
sm
md
lg

ทีวีดิจิตอลโหม 1.6พันล. อัดคอนเทนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – สังเวียนทีวีดิจิตอล พร้อมหมัดเด็ดครึ่งปีหลัง คาดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท ศึกนี้สู้ด้วย ละครและกีฬา คอนเท้นท์ถูกจริตคนไทยมากสุด เสริมแกร่งด้วยดาราและการประชาสัมพันธ์ ชิงตำแหน่งอยู่รอดปลายปี พร้อมลุ้นเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลแตะ 5,000ล้าน
ผ่านพ้นครึ่งปีแรกด้วยอาการปาดเหงื่อกันเป็นแถว สำหรับอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล ที่เดิมหลายฝ่ายประเมินกันไว้ว่า ปีนี้จะเริ่มดีขึ้น เข้าสู่ช่วงการแข่งขันอย่างจริงจังเสียที แต่แล้วอุปสรรต่างๆทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความล่าช้าของภาคอินฟราสตรัคเจอร์ของทีวีดิจิตอล รวมถึงการเข้าถึงทีวีดิจิตอลของผู้คน และสุดท้ายโฆษณาไม่เข้า กลายเป็นขวากหนามทิ่มแทงให้ต้องดิ้นรน จนมีบางรายหมดแรงไม่พร้อมที่จะไปต่อ/
แต่อย่างไรเสีย เสียงส่วนใหญ่ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเอง และภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังคงมองว่าครึ่งปีหลังนี้ ทีวีดิจิตอลยังมีโอกาสสดใสอยู่มาก แม้ในท้ายที่สุดมันจะลงเอยว่าจะเหลือตัวจริงอยู่ไม่กี่ช่องก็ตาม
***สะพัด 1,600 ล.รับทีวีดิจิตอลครึ่งปีหลัง
นายเขมทัตต์ พลเดช อุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด บริหารช่อง PPTV กล่าวถึงสถานการณ์ทีวีดิจิตอลครึ่งปีหลังนี้ 2558 ไว้ว่า แนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มดีขึ้น หลังจากที่ได้จ่ายค่าสัญญางวดที่ 2 กันไปแล้ว ทำให้ต้นทุนเบาลง หลายๆช่องเริ่มมีการลงทุนด้านคอนเทนต์ เปิดตัวคอนเทนต์ใหม่ในครึ่งปีหลังมากขึ้น มองว่าเม็ดเงินรวมในแง่การลงทุนคอนเทนต์ของทีวีดิจิตอลครึ่งปีหลังนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท แค่เฉพาะช่องหลัก 4-5 ช่อง ยังใช้งบ 300-40 0 ล้านบาทต่อช่อง ดังนั้นช่องอื่นๆก็น่าจะใช้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อช่องหรือมากว่านั้นเช่นกัน
จากการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับทีวีดิจิตอลอย่างเห็นได้ชัด หลายช่องเริ่มปล่อยหมัดเด็ดส่งคอนเทนต์ใหม่ๆออกมากันแล้ว จากครึ่งปีแรกที่ดูสั่นคลอน แต่ในครึ่งปีหลังนี้ดูจะดุเดือดและน่าติดตามอย่างมาก สิ่งสำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่การลงทุนมากสุดจึงจะเป็นผู้ชนะ แต่คอนเทนต์ที่ถูกจริตคนดูคนไทยที่มาถูกที่ถูกเวลา ดูจะเป็นใบเบิกทางที่ส่งผลต่อตำแหน่งแชมป์ได้มากกว่า แล้วคอนเทนต์ประเภทใดที่มาวินที่สุดในเวลานี้
*** “กีฬา-ละคร” ของดีคนดูติดหนึบ
กระแสการตอบรับที่น่าจับตามองมากที่สุดในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นละคร แต่ที่น่าจับตามองยิ่งกว่า มันเกิดขึ้นแล้วในช่องทีวีดิจิตอล อย่าง ช่องจีเอ็มเอ็ม25 และช่องวัน ของทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่ว่าจะเป็น คลับฟรายเดย์ เดอะ ซีรีส์ , ugly duckling รักนะเป็ดโง่, ร้อยเล่ห์สเน่ห์ร้าย รวมถึง ละครรีเมค บัลลังก์เมฆ
นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม แชนเนล ดิจิตอล ทีวี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงงบประมาณในการลงทุนด้านคอนเทนทต์ไว้ว่า ทั้งปีอาจจะใช้งบลงทุนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จาก 1,000 ล้านบาท โดยน่าจะใช้ในครึ่งปีหลังมากกว่า แบ่งออกเป็น ค่าผลิตคอนเทนต์ 700 ล้านบาท และอื่นๆ อีก 300 ล้านบาท โดยจะมีการปรับแผนการลงทุนตามสถานการณ์
เช่นเดียวกับทางฝั่งอาร์เอส กับช่อง8 ซึ่งเดิมมีฐานคอละครฮาร์ดคอร์ถูกใจคนดูระดับแมสอยู่แล้ว ครึ่งปีหลังนี้ยังพร้อมจัดเต็ม โดยนายองอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการสายงานสถานีโทรทัศน์ ช่อง8 ดิจิตอลทีวี บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พร้อมใช้งบอีกกว่า 500 ล้านบาท จากงบรวม 1,200 ล้านบาทที่จะใช้ในปีนี้ แบ่งเป็น 100 ล้านบาท สำหรับ เทคโนโลยีในการออกอากาศ และอีก 400 ล้านบาท สำหรับเพิ่มคอนเทนต์ละครอีก 10 เรื่อง และจับมือในการจ้างผลิตรายการกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่ อย่าง 1. เจเอสแอล รวม 5รายการ คือ วาไรตี้ 2รายการ ซิทคอม1รายการ และละครอีก 2 เรื่อง ซึ่งเป็นรายการใหม่ทั้งหมดจะเริ่มเห็นในเดือนส.ค.นี้เป็นต้นไป และ 2.กันตนา กำลังเจรจากันอยู่
รวมถึงช่องPPTV ที่ออกตัวแรงมาเป็นอันดับต้น หลังจากปล่อยซีรีส์เกาหลียึดฐานผู้ชมได้ในระดับหนึ่งแล้ว ครึ่งปีหลังนี้ยังจะเน้นละครเพิ่มด้วย โดยนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด บริหารช่อง PPTV กล่าวว่า ในครึ่งปีหลังนี้พร้อมใช้งบอีกกว่า 500 ล้านบาท จะเน้นในส่วนของละครมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่ 1 เรื่องต่อสัปดาห์ คือ ปริศนา พบว่า ได้รับการตอบรับที่ดีมีเรตติ้งที่น่าสนใจ ส่งผลให้มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนละครในแต่สัปดาห์มากขึ้น จึงพร้อมจับมือกับผู้จัดละครอีกกว่า 10 เรื่อง ในการที่จะผลิตละครป้อนให้ คาดว่าจะได้รับชมกันปีหน้าเป็นต้นไป
นอกจากละครแล้ว ยังพบว่ากีฬาเป็นอีกคอนเทนต์ที่จะช่วยต่อลมหายใจให้ทีวีดิจิตอลในครึ่งปีหลังได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีหลายช่องกระโดดเข้ามาชิงพื้นที่กันหลายราย เช่น ล่าสุดช่องPPTV คว้าสิทธิ์ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลอังกฤษพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล2558/2559 จำนวน 26 แมตท์ จากปกติช่อง3จะได้ไป และล่าสุดการได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลบุนเดสลีกา เยอรมนี ฤดูกาล 2015-2016 โดยการจับมือกับ บริษัท ฟ็อกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แชนแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บุนเดสลีกาในเอเชีย 6 ปี ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป
ส่วนของช่อง3เองนั้น ในแง่ของคอนเทนต์กีฬาจะถูกจัดทัพลงในช่อง3SD เป็นหลัก โดยนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ช่อง 3SD กล่าวว่า โพซิชั่นนิ่งของช่อง3SD วางเป็นช่องทางเลือก ปีนี้จะเน้นนำเสนอคอนเทนต์ประเภทกีฬาที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไว้ เช่น ฟุตบอลยูโรรอบคัดเลือก, การแข่งขันมอเตอร์ไซค์ระดับโลก MOTOR GP ซึ่งจะนำเสนอในช่วงเวลาไพร์มไทม์ถือเป็นเวลาที่ดี ซึ่งเริ่มเห็นโฆษณาเข้าบ้างแล้ว
รวมถึงช่องโมโน29 เจ้าแห่งหนังและซีรีส์ ก็ได้ร่วมวงกับเขาด้วย โดยนายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือ โมโน กรุ๊ป บริหารช่องโมโน29 กล่าวว่า ครึ่งปีหลังทางช่องพร้อมใช้งบเพิ่มอีกกว่า 50 ล้านบาท นำเสนอคอนเทนต์กีฬาด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป เช่น ศึกดวลหมัดนักชกไทยและต่างชาติ สองแมทช์ใหญ่ระดับโลก “ศึกดวลกำปั้นชิงแชมป์โลก”, “ศึกดวลปั้นสะท้านโลก เป็นต้น
เช่นเดียวกับทางอสมท โดยนายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผุ้จัดการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ครึ่งปีหลังพร้อมใช้งบลงทุนด้านคอนเทนต์ราว 300-400 ล้านบาท และมีการปรับผังใหม่ในช่วงไตรมาสสาม ล่าสุดยังได้จับมือกับทางทรูวิชั่นส์ ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก 17 แมตช์ด้วย
*** “ดารา-พีอาร์” แม่เหล็กยุคดิจิตอล 
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าคอนเทนตดีอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะดึงเรตติ้งได้ หรืออาจจะช่วยให้ผู้ชมติดอยู่ที่หน้าจอได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น ส่วนสำคัญยังอยู่ที่ตัวแสดงด้วย เพราะถือเป็นแม่เหล็กชั้นดีและเร็วที่สุดที่จะทำให้ช่องนั้นอยู่ในกระแสและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของผู้เล่นรายเดิมที่มีดาราในสังกัดอยู่แล้ว ขณะที่ช่องเกิดใหม่ก็ต้องลุ้นว่าจะถูกหวยจากการครีเอทีฟคอนเทนต์นั้นๆว่าจะออกมาตรงใจผู้ชมได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญต้องมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ที่ดี โดยเฉพาะในยุคทีวีดิจิตอล การสื่อสารแบบไร้ขีดจำกัดคือเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้อยู่รอด
***วาไรตี้รอดยาก เกมส์โชว์มีแต้มต่อ
หากไม่กล่าวถึง 2คอนเทนต์ อย่างวาไรตี้และเกมส์โชว์ ดูจะเป็นการลำเอียงอย่างมาก โดยเฉพาะวาไรตี้ ถือเป็นคอนเทนต์ที่มีความเสี่ยงสูงสุดว่าจะไปรอดหรือไม่ เพราะหลายๆรายการเริ่มหายไปจากจอบ้างแล้ว ส่วนเกมส์โชว์ถ้าไม่เซียนจริงก็เอาอยู่ยาก ซึ่งในที่นี้ต้องยกไว้ “ช่องเวิร์คพ้อยท์ทีวี” และต้องจับตาดูว่า หลังดึงรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” มาอยู่ที่เวิร์คพ้อยท์ทีวีแล้ว ผลจะออกหัวหรือก้อยมากกว่ากัน
***ลุ้ นเม็ดเงินโฆษณา5,000ล.
แน่นอนว่า ครึ่งปีหลังนี้ ศึกทีวีดิจิตอลน่าดูมากกว่าทุกครั้ง คึกคักยิ่งกว่าครั้งไหน งานเข้าคนดูเต็มๆ จะดูอะไรกันดี ถ้ามีดีกันทุกช่องแบบนี้ เรตติ้งเริ่มมี กระแสเริ่มมา โฆษณาเริ่มเข้า อาจจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ว่า ถึงสิ้นปีจำนวนช่องทีวีดิจิตอลจะยังคงอยู่เท่ากับปัจจุบันที่ออกอากาศ ส่วนเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลน่าจะมีมูลค่าจริงที่ 5,000 ล้านบาท จะทำได้หรือไม่ ต้องจับตาดูกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น