xs
xsm
sm
md
lg

“MCOT” ดันรายได้ 3 พันล้าน ติดตั้ง MUX ครบ 39 ฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“อสมท” เผยติดตั้งโครงข่ายทีวีดิจิตอล หรือMUX ครบทั้ง 39 สถานีแล้ว คว้า “ทีวีรัฐสภา” เป็นผู้เช่ารายที่ 5 มั่นใจดันรายได้ธุรกิจใหม่สู่ 1,000 ล้านบาทตามแผน ส่งผลรายได้รวมบริษัทฯ ปีนี้ 3,000 ล้านบาท

นายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX) ของ อสมท ได้ดำเนินการติดตั้งครบทั้ง 39 สถานีหลักแล้ว เป็นไปตามแผนที่จะติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2558 นี้ โดยสัญญาณการออกอากาศจะครอบคลุม 80% ของจำนวนครัวเรือน ตามแผนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำหนดไว้

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อความมั่นใจของสถานีโทรทัศน์มากขึ้น ล่าสุด สถานีโทรทัศน์รัฐสภาได้ตกลงเช่าโครงข่ายฯ เป็นรายที่ 5 โดยมี นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนร่วมลงนามในสัญญาจ้างเหมาบริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นในระบบดิจิตอลของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 กับทาง อสมท

จากเดิมที่มีผู้เช่าโครงข่ายอยู่แล้ว 4 ราย คือ 1. ไทยรัฐทีวี 2. สปริงนิวส์ 3. วอยซ์ทีวี และ 4. MCOT ซึ่งโครงข่ายฯ ของ อสมท ยังคงเหลือ Standard Definition (SD) จำนวน 2 ช่อง ที่พร้อมให้บริการสำหรับลูกค้าต่อไปในอนาคต

สำหรับสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 เป็นโทรทัศน์ดิจิตอลสาธารณะของภาครัฐบาลรายแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติเห็นชอบให้สถานีฯ ได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2557ที่ผ่านมา อสมท ได้รับการอนุมัติจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการลงทุนโครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ของ บมจ.อสมท (MCOT) เป็นจำนวน 1,480 ล้านบาท ประกอบด้วยงบลงทุน 2 โครงการ

ประกอบด้วย 1. โครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล วงเงิน 752 ล้านบาท และ 2. โครงการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ วงเงิน 728 ล้านบาท

โดยแผนการขยายโครงข่ายฯ นั้นได้วางไว้ 3 ระยะตามที่ทาง กสทช.กำหนดไว้ คือ ระยะที่ 1 ครอบคลุมครัวเรือน 50%, ระยะที่ 2 ครอบคลุมครัวเรือน 80%, ส่วนระยะที่ 3 และระยะที่ 4 เป็นการติดตั้งสถานีเสริมเพื่อให้ครอบคลุมครัวเรือน 90% และ 95% ตามลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2560

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายได้จากการเช่าโครงข่ายฯ ครั้งนี้ จัดเป็นรายได้ใหม่ในส่วนของการเช่าสัญญาณและธุรกิจใหม่ ที่ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท จากรายได้รวมของ อสมท 5,000 ล้านบาท เติบโต 20% ที่วางแผนไว้ โดยรายได้มาจาก 3 ส่วนหลัก คือ 1. ทีวี 3,000 ล้านบาท 2. วิทยุ 1,000 ล้านบาท และ 3. ให้เช่าโครงข่ายและธุรกิจใหม่ 1,000 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น