ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลัง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ประกาศและมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้กรณีดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์กันในหมู่นักท่องโซเชียลเน็ตเวิร์คไม่น้อย ซึ่งมีทั้งที่แสดงความพอใจ เห็นด้วย กับ พ.ร.บ.นี้ บ้างไม่เข้าใจเนื้อหาบางประเด็น หรือที่ร้ายที่สุดเมื่อเจอประโยคที่ว่า “ถ้าไม่อยากให้แชร์ก็อย่าโพสต์”
นับเป็นตลกร้ายบนโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อผู้ใช้งานบางกลุ่มแสดงความเห็นแก่ตัวและโพสต์ประโยคเหล่านี้ด้วยอารมณ์ที่แสดงถึงความเขลาทางเชาวน์ปัญญา ซึ่งนับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีในทางที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแก้ไขเนื้อหาใน พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ อาจไม่สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเท่าใดนัก หากไม่ใช่ผู้ที่ชอบแชร์หรือก๊อบปี้ข้อมูล แน่นอนว่าเหรียญมีสองด้าน สำหรับนักแชร์ นักก๊อบปี้ นักเลงคีย์บอร์ด ที่ปราศจากความระมัดระวังในการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตแล้ว คงจะได้รับผลของการกระทำไม่มากก็น้อย
นั่นเพราะเนื้อหาในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้ ระบุว่าการส่งต่อข้อมูลด้วยการแชร์ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายและวิดีโอ จำเป็นต้องอ้างอิงที่มา และให้เครดิตแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เสมอ กระนั้นก็ยังมีรายละเอียดด้านมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ ในที่นี้หมายถึงการลบลายน้ำดิจิตอลออกจากภาพถ่ายหรือวิดีโอนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน
กระนั้นบทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นแบ่งออกเป็นความผิดสองฐาน 1. โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากทำเพื่อการค้า ปรับ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท หากทำเพื่อการค้า ปรับ 50,000 บาทถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทันทีที่ พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้ สำนักข่าวรวมไปถึงสถานีโทรทัศน์ต่างตื่นตัวทันที เห็นได้จากรายการเล่าข่าวตอนเช้า ที่มักนำข่าวจากหลายแหล่งมาเล่า ทั้งนี้ยังแชร์คลิปวิดีโอทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย แม้จะมีการให้เครดิตที่มาของวิดีโอ แต่ก็ยังมีคำถามที่น่าสนใจว่า กรณีแบบนี้ถือเป็นการละเมิดหรือไม่
มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายถึงกรณีนี้ว่า “ข่าวประจำวันทั่วไปเป็นส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ จึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต”
ในที่นี้คงไม่อาจหมายความรวมถึงคลิปวิดีโอหรือผลงานที่เผยแพร่ใน YouTube ซึ่งหากมองเพียงผิวเผินอาจทำให้เข้าใจว่าสามารถนำมาเผยแพร่ต่อได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ในกรณีนี้หากเป็นการทำซ้ำด้วยการดาวน์โหลดและนำมาเผยแพร่ต่อแม้จะให้เครดิตข้างท้ายก็เข้าข่ายละเมิดและมีความผิด
แม้จะมีคำตอบที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่อาจมีบางจุดที่ให้สงสัยเมื่อรายการเล่าข่าวเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ถึงจะไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อการค้าแต่ต้องไม่ลืมว่ารายการโทรทัศน์สามารถสร้างรายได้จากการโฆษณา
หลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 บทลงโทษเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์กันว่า โทษสูงสุดของการละเมิดนั้นรุนแรงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับแฮกเกอร์ ที่ส่วนใหญ่มักไม่โดนโทษหนักจากสาเหตุสำคัญที่ว่า นักเจาะข้อมูลส่วนใหญ่ทำไปเพราะแค่นึกสนุกและทำเพียงแค่เจาะข้อมูลเพื่อดูและไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ
ในขณะที่ไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งถือได้ว่าประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ถูกแก้ไขมีความเข้มข้นมากขึ้น แน่นอนว่าชาวเน็ตคงต้องพึงระวังให้มากและอาจนำมาซึ่งความกังวลถึงกรณีที่ว่าจะสามารถหาข้อมูลที่ถูกลิขสิทธิ์จากแหล่งไหนมาใช้งาน
Creative Commons License หรือสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ซึ่งหมายถึงข้อตกลงที่ช่วยให้ผู้สร้างสรรค์งานสามารถแชร์ข้อมูล ผลงานของตัวเองต่อผู้อื่นได้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งงานที่อยู่ภายใต้ Creative Commons License ผู้เข้าถึงข้อมูลสามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้โดยไม่ต้องดำเนินการขออนุญาตเจ้าของผลงาน แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า ต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานด้วย
ข้อดีของ Creative Commons คือความพยายามที่จะเผยแพร่งานสร้างสรรค์ด้วยการสงวนสิทธิ์บางประการ (Some rights reserved) มากกว่าจะต้องยึดติดกับการสงวนสิทธิ์ทั้งหมด (All rights reserved)
ทั้งนี้ชาวเน็ตสามารถสังเกตสัญลักษณ์ผลงานที่ถูกกำกับด้วยลิขสิทธิ์ จะมี ? แต่หากเป็นผลงานที่อยู่ภายใต้ Creative Commons License จะมีสัญลักษณ์ CC ปรากฏ
ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องลิขสิทธิ์ Creative Commons License น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเจ้าของผลงานยังมีสิทธิ์ในตัวชิ้นงานอยู่เช่นเดิม และชิ้นงานนั้นไม่ได้เป็นสมบัติของสาธารณะไปเสียหมด ซึ่งงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในภายใต้สัญญาดังกล่าวมีอยู่มากมาย เช่น บทความ คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย เพลง ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมเสรี (Free Culture) ที่ทุกคนสามารถแบ่งปันกันได้ มากกว่าจะมุ่งเน้นไปในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ปัจจุบัน Creative Commons License มีรูปแบบภาษาไทยแล้ว
แม้จะมีทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้งานโดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าการนำข้อมูลใดๆ มาใช้งานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเคารพสิทธิ์ในเจ้าของเดิม ด้วยการไม่ทำการดัดแปลงหรือต่อเติมอันจะนำมาซึ่งการสูญเสียมูลค่าและคุณค่า
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับแก้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ เพื่อคุ้มครองผู้สร้างสรรค์งานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต คงจะดีกว่าไม่น้อยหากจะไม่ต้องหยิบยกข้อกำหนดของพระราชบัญญัติขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ หากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนท่องโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยจิตสำนึก หรือโพสต์แชร์ข้อมูลด้วยสติที่อุดมปัญญา