xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”เบรกกม.ลิขสิทธิ์ป่วน แจง10ข้อทำอย่างไรไม่ละเมิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กรมทรัพย์สินทางปัญญาไขข้อข้องใจกฎหมายลิขสิทธิ์ ตอบ 10 คำถาม อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ย้ำเอาข่าวไปเล่า เอาภาพ เอาคลิปไปใช้เพียงบางส่วนไม่ผิด แต่ควรให้เครดิต แต่ถ้าลบลายน้ำ ดัดแปลงผิดเต็มๆ เผยดาวน์โหลดเพลง หนัง จากเน็ตมาดูได้ แต่แชร์ต่อไม่ได้ ย้ำขายหนังสือ ภาพ มือสองทำได้ แต่ซีดีเพลง หนัง ไม่ได้

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำคำถาม คำตอบ จำนวน 10 ข้อ เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หลังจากเกิดความไม่เข้าใจเกิดขึ้นในสังคมเป็นอย่างมาก กรมฯจึงต้องออกมาชี้แจง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

สำหรับข้อสงสัยที่เกิดขึ้น จากการที่กรมฯ ได้รวบรวมมาได้ มีประมาณ 10 คำถามที่ต้องตอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไปในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

“อย่างรายการเล่าข่าว ที่เอาข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มาเล่าให้ฟัง ในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร มาอ่านโดยใส่ลีลาการเล่าข่าวของพิธีกรเข้าไป ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เว้นแต่เอาเนื้อหาทั้งข่าวมาอ่านให้ฟัง แต่ถ้าจะให้ดี การเอางานของคนอื่นมาเล่า ควรให้เครดิตเขาด้วย”

2.การดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ก็สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้วจึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน

3.การก๊อปปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟสบุ๊กของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ ถือว่าบทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการก๊อปปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญและไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

4.การนำงานมาใช้และเผยแพร่ ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ จึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย

5.การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพหรือคลิปวีดิโอบนอินเทอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิทัลออก และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และหากทำการลบลายน้ำดิจิทัลออกโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิดก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน

โดยโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 20,000บาทถึง 200,000 บาท เพื่อการค้า 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท เพื่อการค้า ปรับ 50,000 ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การนำภาพ หรือคลิปวีดิโอ ที่มีการใส่รหัสเอาไว้ เช่น ภาพใส่ลายน้ำ หรือคลิปต่างๆ ที่มีการระบุข้อห้ามไว้ชัดเจน ถ้าเอามาใช้ อย่างเช่นในการเสนอข่าว จะไม่ถือว่ามีความผิด หากนำมาใช้เพียงเล็กน้อย ไม่ได้นำมาใช้ทั้งหมด แต่ถ้าจะให้ถูกต้อง ก็ควรต้องขออนุญาตก่อน แต่หากเป็นกรณีคลิปที่โพสต์กันทั่วๆ ไป
การนำไปใช้ก็ควรจะให้เครดิตคนโพสต์ เพราะเจตนาของผู้โพสต์ ก็ต้องการให้มีการเผยแพร่อยู่แล้ว”

6.การก๊อปปี้ภาพหรือบทความจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

7.การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูปมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ และในกรณีของการแชร์ลิงค์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

8.การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้น สามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลด เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้

9.ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) เช่น YouTube Google True DTAC ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

10. เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล

นางมาลีกล่าวอีกว่า กรณีการแชร์รูปภาพ Good Morning ผ่านทางไลน์ โดยมีรูปดอกไม้ หรือรูปภาพอื่นๆ ประกอบ กรมฯ เห็นว่าไม่ควรจะทำ เพราะไม่รู้ว่ารูปนั้นๆ มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ แต่ควรจะใช้วิธีการสร้างสรรค์รูปภาพของตัวเองขึ้นมาใหม่ แล้วแชร์จะดีกว่า และจะได้เป็นผลงานลิขสิทธิ์ของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้มีการนำคำถาม-คำตอบ ที่เป็นข้อสงสัยไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.ipthailand.go.th หรือหากยังมีข้อสงสัย สามารถสอบถามที่สายด่วน 1368 รวมทั้งยังได้จัดพิมพ์ประเด็นที่แก้ไขในกฎหมายใหม่ เป็นคู่มือเพื่อแจกจ่ายประชาชนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น