“พาณิชย์” ทำคู่มือแจกประชาชนสร้างความเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ หวังเบรกกระแสแชร์มั่ว ห้ามแชร์ผ่านไลน์ เฟซบุ๊ก โซเชียลเน็ตเวิร์ก จนปั่นป่วนไปหมด ชี้การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของคนอื่นไปใช้ผิดกฎหมายฉบับเดิมอยู่แล้ว ส่วนที่ปรับปรุงใหม่เพื่อให้มีความเข้มข้นขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดทำคู่มือเพื่อสร้างความเข้าใจการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 ส.ค.นี้ ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความสับสนจากการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ยังมีความเข้าใจผิดว่าทันทีที่กฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้จะทำให้การแชร์ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ มีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วการนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาแชร์ หรือมาใช้ เป็นการผิดกฎหมายลิขสิทธิ์เดิมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นการทำให้กฎหมายมีความชัดเจน มีความรัดกุม และมีความเข้มงวดในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออินเทอร์เน็ตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ได้เพิ่มเติม 8 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. กำหนดการคุ้มครองสิทธิของตนเองไม่ให้คนอี่นมาลบหรือเปลี่ยนแปลง เช่น การลบข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อนักแสดง เป็นต้น โดยหากบุคคลใด ลบ หรือเปลี่ยนแปลง ข้อมูลดังกล่าว ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ 2. คุ้มครองงานลิขสิทธิ์ที่เจ้าของใส่พาสเวิร์ดเอาไว้ หากมีการเจาะข้อมูลจะถือว่ามีความผิด 3. กรณีการทำซ้ำชั่วคราว เช่น ดูหนังฟังเพลง แล้วมีการเก็บไว้ในหน่วยความจำ ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ 4. ให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเอาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บไซต์ และเจ้าของเว็บไซต์ดำเนินการตามคำสั่งศาล เจ้าของเว็บไซต์ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว
5. การขายภาพเขียน หนังสือ ที่มีลิขสิทธิ์ ไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่การขายซีดีเพลง ซีดีภาพยนตร์ แม้ไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวิดีทัศน์ด้วย 6. เพิ่มสิทธินักแสดงโดยให้มีสิทธิระบุชื่อตนในการแสดงที่ตนได้แสดง และห้ามไม่ให้บุคคลใดกระทำต่อการแสดงของตนจนทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ 7. ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย และ 8. กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือทำลายสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำละเมิด และสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง