xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเตือนจอมก๊อบปี้ระวังไว้! กม.ลิขสิทธิ์มีผลอังคารนี้ ฉกรูป-คลิปไม่ให้เครดิตเจอโทษปรับเป็นแสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล เผย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับ 2 มีผล 4 ส.ค. หวังคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานทุกประเภทในอินเทอร์เน็ต เตือนชาวเน็ตนำภาพ-คลิปที่หาได้ในเว็บหาข้อมูลไปตัดชื่อผู้โพสต์ออกแล้วนำไปใช้ทางการค้าเจอฟ้องแน่ ถ้าคนธรรมดาจิ๊กแต่ให้เครดิตไม่ผิด แต่นิติบุคคลถ้าไม่ได้คุยเจ้าของโดนแน่ๆ โทษปรับหนัก 10,000-100,000 บาท หากการค้าเจอคุก 3 เดือน - 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท เชื่อทำนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยั่งยืน

วันนี้ (27 ก.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การบังคับใช้ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 (การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไปนั้น มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานทุกประเภทที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงาน และผู้จ้องที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากงานนั้น ซึ่งใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เดิม มิได้ระบุโทษชัดเจนสำหรับพฤติกรรมความผิดการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต แต่ใน พ.ร.บ.นี้กำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กนำภาพ หรือวิดีโอ ที่ได้จากการค้นหาใน google หรือบริการเว็บไซต์ค้นหาอื่นๆ แล้วนำมาตัดชื่อเครดิตออกเพื่อแอบอ้างว่าเป็นผลงานของตนเอง หรือนำภาพ หรือ คลิปวิดีโอไปใช้ในทางการค้า กฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถฟ้องร้องผู้แอบอ้างได้ หากผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เป็นบุคคลธรรมดานำภาพไปโพสต์ต่อโดยยังให้เครดิตเจ้าของภาพอยู่ถือว่าไม่มีความผิด แต่หากเป็นนิติบุคคลอาจจะมีความผิดข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ จึงควรขออนุญาต เจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนจะนำภาพไปใช้

“กฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำผิดมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้าจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน - 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสิ่งของละเมิดลิขสิทธิ์ หรือศาลอาจสั่งให้ทำลาย โดยผู้ละเมิดต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำลาย ทั้งนี้พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะช่วยคุ้มครองผู้สร้างสรรผลงานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โดยกฎหมายยังเปิดช่องให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงสามารถบังคับให้ผู้ที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ยุติการละเมิด เป็นแรงจูงใจให้คนอยากผลิตนวัตกรรม และผลงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ผลจากกฎหมายฉบับนี้เชื่อว่าจะทำให้นโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เติบโตได้อย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.ipthailand.go.th หรือสายด่วน 1368


กำลังโหลดความคิดเห็น