xs
xsm
sm
md
lg

การปรับ ครม. : การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้งานดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะนี้ข่าวการเมืองที่ร้อนแรง และอยู่ในความสนใจของประชาชนมากที่สุด เห็นจะได้แก่ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้จะเห็นได้จากผลการสำรวจของโพลสำนักหนึ่งที่ระบุว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการปรับ ครม.ถึง 59% และที่เป็นเช่นนี้น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยซึ่งอนุมานในเชิงตรรกะได้ดังนี้

1. รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการที่ คสช.ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยอาศัยเหตุอ้างเพื่อเข้ามาทำให้บ้านเมืองสงบ และคืนความสุขแก่ประชาชน

2. ก่อนที่ คสช.จะทำการยึดอำนาจ ได้มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ กปปส.ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกอีก 8 คนมีนายถาวร เสนเนียม เป็นต้น

ในความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนั้น กปปส.ได้นำมวลชนออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลเป็นจำนวนนับได้หลายล้านคนมากมายเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการชุมนุมทางการเมืองมาในประเทศไทย และข้อเรียกร้องหลักของ กปปส.ในครั้งนั้นก็คือให้มีการปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้านก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้ง

3. เมื่อ คสช.จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศ ก็ได้จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติซึ่งสอดคล้องหรือเป็นไปตามข้อเรียกร้องของ กปปส. จึงทำให้มวลชนของ กปปส.ส่วนใหญ่ยอมได้ และรอดูผลที่เกิดจากการทำงานของ สปช.

4. แต่จากวันที่ กปปส.ถือกำเนิดขึ้นมาจนถึงวันนี้ การปฏิรูปประเทศที่ชนกลุ่มนั้นต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปตำรวจ และการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐ อันเกิดจากการกระทำของนักการเมืองไม่มีความคืบหน้าที่ควรจะเป็น

ในภาวะที่ประเทศปกครองด้วยรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการสั่งการ โดยอาศัยมาตรา 44 จึงทำให้คนส่วนหนึ่งที่ต้องการเห็นการแก้ปัญหาที่ว่านี้เป็นไป “ด้วยความรวดเร็วและรุนแรง” เด็ดขาด ซึ่งควรจะมีจะเป็นตามแนวทางของรัฐบาลเผด็จการซึ่งเข้ามาเพื่อดำเนินการในสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำไม่ได้หรือไม่อยากทำก็เหลือจะคาดเดา

ด้วยเหตุ 4 ประการดังกล่าวข้างต้น การปรับ ครม.จึงได้รับการเห็นด้วยหรือการยอมรับจากประชาชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้สิ่งที่พวกเราอยากเห็นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของผู้นำรัฐบาลในขณะนี้ ก็ยังยืนยันหรือปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับ ครม.จะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้

ทำไมประชาชนจึงเห็นด้วยกับการปรับ ครม. และถ้าไม่ปรับจะเป็นผลเสียกับรัฐบาลโดยรวมหรือไม่อย่างไร

เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูหน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐบาลในฐานะผู้ที่อาสาเข้ามาเป็นคนทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยตรง ก็จะพบว่าไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยหรือรัฐบาลที่มาจากการทำปฏิวัติรัฐประหาร ล้วนแล้วแต่เข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวมในฐานะเป็นบุคคลสาธารณะ โดยมีรายได้ในรูปของเงินเดือน ค่าจ้าง หรือแม้กระทั่งจากเบี้ยประชุมกรรมการคณะต่างๆ ตามที่ได้รับแต่งตั้ง และเงินที่นำมาจ่ายเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เป็นต้น ได้มาจากการเก็บภาษีจากประชาชน

ดังนั้น ประชาชนในฐานะเป็นผู้จ่ายภาษีจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของบุคลากรในภาครัฐ ทั้งในส่วนของข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำเมื่อเห็นว่างานที่ได้กระทำไปส่งผลกระทบในทางลบต่อประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีภาวะที่แตกต่างระหว่างบุคลากรทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการเฉกเช่นที่รัฐมนตรีบางท่านได้พูดถึง

เมื่อข้าราชการการเมืองไม่มีภาวะที่แตกต่างในการทำงานในสองระบบการปกครอง ดังนั้น ประชาชนจึงมีความชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรโดยการปรับ ครม.เมื่อเห็นว่าการทำงานไม่เป็นไปตามหลักการ เหตุผล และความต้องการของประชาชนที่เห็นว่าควรจะมี ควรจะเป็นอย่างไร โดยยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

วันนี้ประชาชนเดือดร้อนเนื่องจากราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ปัญหาว่างงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากเหตุปัจจัย 2 ประการคือ

1. ในแต่ละปีมีผู้จบการศึกษาจำนวนมาก แต่ตำแหน่งงานทั้งในภาครัฐและเอกชนมีอยู่น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่จบการศึกษาออกมาและรวมกัน ผู้ที่ว่างงานอยู่ก่อนแล้ว ก็จะยิ่งทำให้จำนวนผู้ว่างงานมีมากขึ้นไปอีก

2. นับตั้งแต่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 220 บาทเป็น 300 บาท ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนหนึ่งแบกรับต้นทุนไม่ไหวได้ปิดตัวลง ทำให้ลูกจ้างตกงานและเมื่อนำจำนวนผู้ตกงานตามข้อ 1 มารวมกันแล้ว เชื่อว่ามีจำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดปัญหาทางสังคมในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นภาระในการแก้ไขป้องกันให้กับรัฐบาล จะเห็นได้จากปัญหาอาชญากรรม เช่น ขโมย ปล้น จี้ ชิงทรัพย์ เป็นต้น และนี่เองคือเหตุของการเรียกร้องให้มีการปรับ ครม.

ส่วนประเด็นว่า ถ้าไม่ปรับ ครม.จะมีผลเสียอันใดเกิดขึ้นกับรัฐบาลนั้น อนุมานได้จากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้
การเมืองเปรียบได้กับการกีฬาประเภทที่มีกติกาอนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ในระหว่างการแข่งขัน เช่น ฟุตบอล เป็นต้น

ส่วนประเด็นว่าจะมีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเมื่อใดนั้น อนุมานด้วยเหตุและผลดังต่อไปนี้

1. เมื่อเกมการเล่นเป็นรอง เนื่องจากผู้เล่นบางคนเล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น

2. เมื่อผู้เล่นได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขัน และไม่อยู่ในภาวะที่จะเล่นต่อไปได้

3. เมื่อผู้เล่นในบางตำแหน่งไม่ประสานงานกับผู้เล่นร่วมทีม และเป็นเหตุเปิดช่องให้คู่แข่งโจมตีและเสียคะแนนได้

ในทำนองเดียวกับการปรับ ครม.ก็ควรจะดำเนินการเมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้การทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากรัฐมนตรีบางคนทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน มีปัญหาทางด้านสุขภาพ และทำงานเป็นทีมร่วมกับคนอื่นไม่ได้

จากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ครม.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีปัญหาในทำนองเดียวกับการเล่นกีฬา และถ้าขืนปล่อยไว้โดยไม่มีการปรับ ครม.ผลเสียก็จะตกอยู่กับประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ความล้มเหลวจะเป็นตราบาปติดตัวผู้นำรัฐบาลไปตลอด ในฐานะเป็นกัปตันทีม
กำลังโหลดความคิดเห็น