ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ต้องลุ้นให้เสียเวลา เสียอารมณ์ ทุกอย่างเป็นตามคาด เพราะรู้ๆ กันอยู่แล้วว่าอย่างไรเสีย สหรัฐฯ ก็จะยังคงอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ต่อไป โทษฐานที่ทำตัวเป็นเด็กดื้อ ไม่ยอมอยู่ในโอวาท และรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปีของสหรัฐฯ ก็เป็นที่รู้กันดีว่านี่คือเครื่องมือทางการเมืองหรือไม้เรียวของพี่เบิ้มที่เอาไว้หวดก้นเด็กดื้อให้ยอมทำตามที่ตัวเองต้องการ ก็เท่านั้น
รายงาน Trafficking in Persons (TIP) ความยาว382 หน้ากระดาษที่เผยแพร่โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น แคร์รี ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่27 กรกฎาคม 2558 ระบุว่า เทียร์ 3หมายถึงกลุ่มประเทศซึ่งรัฐบาลยังไม่เคารพกฎหมายและหลักปฏิบัตินานาชาติที่ว่าด้วยการค้ามนุษย์ และ “ไม่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”
การคงอันดับประเทศไทย ไว้ที่กลุ่ม 3หรือ เทียร์ 3 (Tier3)ซึ่งหมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้า มนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นอันดับต่ำสุดในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ
นอกจากไทยที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้แล้ว ยังมี รัสเซีย อิหร่าน ลิเบีย เวเนซุเอลา แอลจีเรีย ซีเรีย เยเมน เกาหลีเหนือ ซูดานใต้ และซิมบับเว
ไม้เรียวหวดก้นคือรางวัลจากมหามิตรเก่าแก่ที่ตอบแทนไทยในฐานะที่รับใช้มาตลอด ช่างแสบทรวงยิ่งนัก เพราะเห็นชัดเจนเลยว่านาทีนี้ สหรัฐฯ จัดไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งกับสหรัฐฯ เช่น รัสเซีย หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นประเทศที่ถูกจัดอยู่ในข่ายก่อการร้ายสากล เช่น เกาหลีเหนือ ซีเรีย
ขณะที่ มาเลเซีย คิวบา อุซเบกิสถาน ซึ่งโอนอ่อนตามที่สหรัฐฯ ต้องการ อย่างมาเลเซียที่ตอบรับเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ที่มีสหรัฐฯเป็นโต้โผใหญ่ซึ่งต้องการเอาTPP ไปสู้กับจีน หรือ คิวบา ที่รัฐบาลโอบามาเพิ่งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ ได้รับการ “ตกรางวัล” โดยถูกปรับอันดับขึ้นเป็นกลุ่มเทียร์ 2 ซึ่งหมายถึงประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น
ก่อนอื่นมาดูสาระสำคัญใน TIP Report ที่สหรัฐฯจัดไทยไว้ในTier3 ตามการประเมินผลซึ่งใช้ข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม 2557ถึงสิ้นมีนาคม 2558 ที่มีการระบุว่า “รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์ต่อมาตรฐานขั้นต่ำสุด เพื่อจำกัดการค้ามนุษย์และไม่พยายามมากพอ ไทยได้สืบสวนและดำเนินคดีกับเหล่าเจ้าหน้าที่พวกที่พัวพันการค้ามนุษย์บ้าง แต่ปัญหาคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ยังเป็นอุปสรรคในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์”
ประเด็นแรก รายงานของสหรัฐฯ กล่าวถึงการถูกบังคับขู่เข็ญของเหยื่อค้ามนุษย์ ที่มีทั้งคนไทย และแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ประมาณ 3 - 4 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากพม่า ลาว กัมพูชา โดยเชื่อกันว่าบางส่วนของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ถูกบังคับขู่เข็ญหรือหลอกใช้แรงงาน หรือไม่ก็ค้าบริการทางเพศ และมีรายงานว่าบางส่วนของเหยื่อค้ามนุษย์ทางแรงงานเหล่านี้ถูกแสวงหาประโยชน์ในการประมงเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตามโรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานทำงานบ้าน
ประเด็นที่สอง ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย โดยรัฐบาลไทยได้ปรับแก้กฎหมายประมงที่ใช้มานานกว่า 68 ปี นำมาสู่การขึ้นทะเบียนเรือประมงและแรงงาน และส่งคณะทำงานที่มาจากหลายภาคส่วนเข้าตรวจตราบนเรือตรวจสอบสภาพแวดล้อมของแรงงาน แต่การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ ขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์และการเงิน ไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลกันอย่างเป็นระบบระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาความร่วมมือที่ขาดตอนในหน่วยงานที่ดูแลกฎระเบียบในอุตสาหกรรมประมง กลายเป็นตัวส่งเสริมให้การแสวงหาประโยชน์จากการกดขี่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ได้รับการเว้นโทษ
“ผู้ชายไทย พม่า กัมพูชาและอินโดนีเซีย ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงไทย บางส่วนต้องอยู่กลางทะเลนานหลายปี ได้รับค่าจ้างแค่เล็กน้อยหรือแค่ชั่วคราว ต้องทำงาน 18 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ หรือไม่ก็ถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกาย
“เหยื่อค้ามนุษย์บางคนในภาคการประมงไม่สามารถกลับบ้านได้ เนื่องจากต้องทำงานในสถานที่โดดเดี่ยว ไม่ได้รับจ้างและไม่มีเอกสารระบุตัวตนเอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือแม้แต่ไม่มีหนทางในการเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดอย่างปลอดภัย”
ประเด็นที่สาม การคอร์รัปชั่น สืบเนื่องมาจากขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล และไม่ทราบสิทธิของตนเอง แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นโดยเฉพาะพวกที่ไม่มีเอกสารจึงกลัวที่จะแจ้งเหตุเกี่ยวกับอาชญากรรมค้ามนุษย์ ขณะเดียวกัน “เจ้าหน้าที่ของไทยบางส่วนมีส่วนรู้เห็นกับอาชญากรรมค้ามนุษย์ และการคอร์รัปชั่นยังคงกัดเซาะความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์”
รายงาน TIP ยกตัวอย่างว่ามีการคอร์รัปชั่นของเหล่าเจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝั่งของแนวชายแดนที่รับสินบนจากพวกลักลอบนำเข้าแรงงานระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ลาว พม่าและกัมพูชา ซึ่งบ่อยครั้งแรงงานต่างด้าวบางส่วนเหล่านี้ก็กลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์
“แหล่งข่าวสื่อมวลชนในปี 2013รายงานว่าพลเรือนและเจ้าหน้าที่ทหารของไทยทำเงินจากการขายผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจากพม่าและบังกลาเทศ ซึ่งจะถูกนำไปบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงต่างๆ ..... ตำรวจไทยบางนายพาตัวชาวโรฮีนจาออกจากค่ายกักกัน และขายพวกเขาแก่นายหน้าที่ลำเลียงพวกเขาไปยังภาคใต้ของประเทศ บางส่วนถูกบังคับให้ทำงานเป็นกุ๊กและการ์ดในค่าย หรือไม่ก็ขายเป็นแรงงานบังคับแก่ฟาร์มการเกษตรหรือบริษัทเดินเรือต่างๆ” รายงานฉบับดังกล่าว ระบุ
ประเด็นที่สี่ เรื่องการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญที่ “ไม่ได้ส่อให้เห็นถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างมีนัยสำคัญ”อันเป็นผลให้ไทยต้องอยู่ในชั้น 3 อีก 1 ปี กล่าวคือ
ในปี 2557รัฐบาลรายงานการสอบสอบเรื่องค้ามนุษย์ 280 กรณี ในขณะที่ปีก่อนหน้ามีถึง 674 กรณี
ในปี 2557 ดำเนินคดีนักค้ามนุษย์155 คน ในขณะที่ปี 2556 มีคน 483 คนถูกดำเนินคดี
ในปี 2557 ในจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีนั้น มี 151คนถูกลงโทษ ในขณะที่ปี 2556 มี 225คนถูกลงโทษ
แม้ว่าจะมีการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้นทั่วไป แต่รัฐบาลไทยกลับรายงานการสืบสวนสอบสวนแค่ 58 กรณี ในขณะที่ปี 2556 มีรายการการสืบสวน 154 กรณี
ในปี 2557นั้นมีคนถูกดำเนินคดีเรื่องการบังคับใช้แรงงาน 27 คน ในขณะที่ปี 2556 มี 109 คน ถูกดำเนินคดี
ประเด็นคือ ปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานไม่ได้ลดลง แต่ทำไมการดำเนินคดีถึงได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ ถ้าจะอ้างว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยล่าช้าก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะศาลไทยเคยพิจารณาคดีเสร็จ 90 คดีภายในระยะเวลาน้อยกว่า 1 ปี (รายงานฯหน้า332)
สำหรับข้อมูลในรายงานของสหรัฐฯ รอบนี้ ส่วนใหญ่มาจากการให้การในสภาคองเกรส ของกลุ่มสิทธิมนุษยชน Fortify Rights ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ประกอบกับความเห็นของนายMark Lagon อดีตเอกอัครราชทูต และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาและควบคุมการค้ามนุษย์ กระทรวงต่างประเทศ ของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นประธานFreedom house NGOs ที่จัดอันดับเสรีภาพทั่วโลกซึ่งเสนอแนะต่อสภาคองเกรส ให้คงไทยไว้ในเทียร์ 3เพื่อกระตุ้นให้ไทยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ดีขึ้น
เทียร์ 3 แล้วไง?
ท่าทีตอบสนองจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดูเหมือนจะออกมาแบบ ยักไหล่ ช่างมันฉันไม่แคร์ อะไรประมาณนั้น รัฐบาลไม่มีท่าทีอะไร เราก็ทำงานของเราต่อไป ก็ดีทะเลก็จะได้พักบ้าง ถ้าสหรัฐฯ เห็นความตั้งใจแก้ไขปัญหาโอกาสหน้าก็น่าจะดีขึ้น
“ขอให้ใจเย็นๆ อย่าไปกังวล ถ้าเราทำความดีแล้ว ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าเราแก้ไข วันนี้เราไม่ได้แก้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราแก้เพื่อประเทศไทยของเรา ....วันนี้เราต้องทำสองอย่าง คือพันธะสัญญากับต่างประเทศ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติของไทย ....ไม่อยากให้ประชาชนเป็นกังวลในเรื่องนี้มาก เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้ประเมิน เราไม่ได้เป็นคนประเมินตัวเอง แต่เราทำหน้าที่ของเรา แต่เมื่อเขาประเมินมา เราก็แก้ไขทุกอย่าง อยู่ที่จะเร็วหรือช้า เรื่องนี้เป็นกำลังใจให้กันจะดีกว่า เพราะกดดันกันเองก็ไม่เกิดประโยชน์กับใคร ขออย่ามาว่ากันเอง...” นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์แบบนิ่มๆ ไม่มีตีโพยตีพายให้พี่เบิ้มเย้ยหยันซ้ำสอง
แล้วหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.กระทรวงการต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าจะไม่มีการคว่ำบาตรไทยตามมาแน่นอน ส่วนจะมีผลต่อกรณีที่สหภาพยุโรป(อียู) เตรียมจะประเมินเรื่องการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ตามกฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ (ไอยูยู) หรือไม่ ก็อาจจะมีอะไรโยงกันเล็กน้อย แต่ผลกระทบจากไอยูยูจะมีมากกว่าเทียร์ 3
คนที่วิเคราะห์การคงอันดับไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 อย่างชนิดที่ว่ามองขาด ต้องยกนิ้วให้นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้ามนุษย์ ที่ตีกลางแสกหน้ามหามิตรเก่าแก่ของไทยเลยทีเดียว
อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ วิเคราะห์เรื่องนี้โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ว่า
“ตอนนี้เป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว ถ้าไม่ปฏิวัติก็คงขึ้น tier 2 WL ไปแล้ว
สหรัฐฯ ต้องการกดดันไทยต่อไปทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ เพราะรัฐบาลนี้ได้ทำทุกอย่างที่จะทำได้อย่างเต็มที่แล้ว แต่การพิจารณาไม่ได้ทำกันอย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อหา ซึ่งสหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายเศรษฐกิจไทยต่อไป
“แล้วจะตามมาด้วย EU ในเรื่องประมง IUUรวมทั้งเรื่องมาตรฐานการบิน สหรัฐฯ และยุโรป ต้องการกดดันการส่งออกของไทยให้ถึงที่สุด เป็นการแซงก์ชันรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ นอกเหนือจากการตัด GSP การไม่เจรจาทำข้อตกลงทางการค้า การจัดเป็น tier3 เพื่อให้ประเทศสหรัฐฯ และยุโรป รณรงค์ไม่ให้ประชาชนซื้อสินค้าไทย ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะแก้เกมอย่างไร จะพึ่งจีนคงไม่ไหว เพราะจีนก็เอาเปรียบชนิดพม่ากับลาวยังถอยหนี และจีนกำลังทำสงครามเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ อยู่อย่างรุนแรง”
นายวันชัย ยังโพสต์เพิ่มเติมอีกว่า
“เรื่องการจัดอับดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐ Tier 1 คือ ประเทศที่ไม่มีปัญหา หรือมีแต่แก้ได้แล้ว Tier 2 คือ ประเทศที่มีปัญหา ยังแก้ไม่ได้ แต่ได้พยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง Tier 3 คือ ประเทศที่มีปัญหามาก แต่ไม่แก้ หรือไม่พยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจังในเรื่องนี้ รัฐบาลนี้พยายามแก้ปัญหามากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาในทุกด้าน ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ มาตรฐาน และคำนิยามของ tier 2 ไม่มีทางที่จะอยู่ใน tier3 เลย
สหรัฐฯ ก็รู้มาตลอดว่าประเทศไทยทำเยอะมากมายขนาดไหน เรียกว่า พยายามแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ตามหลักเกณฑ์ มาตรฐาน และคำนิยามของ tier 2ถ้าไม่มีเรื่องทางการเมืองที่ต้องการกดดันทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย ชนิดที่มีการตั้งธงไว้แล้วนี่ อย่างไรประเทศไทยก็ต้องขึ้น tier 2 หรือ tier 2 watch list
การจัดอันดับปีนี้จึงไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง แต่เป็นการตัดสินใจด้วยประเด็นทางการเมืองล้วนๆ
การจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับ3 จะเปิดโอกาสให้ยุโรป และพรรคพวก อ้างเป็นเหตุไม่ซื้อสินค้าไทย เพื่อทำลายอุตสาหกรรมประมง อาหารทะเลอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูปจากอาหารทะเล และไม่ใช่เฉพาะอาหารทะเล แต่ลามปามไปสินค้าอื่น ๆ ด้วย คิดประเมินความเสียหายไว้ประมาณสองแสนล้านบาท
การส่งออกจะตกต่ำไปเรื่อยๆ ต่อเนื่อง สหรัฐฯโจมตีการส่งออก เพราะรู้ว่าเราพึ่งพิงการส่งออกมาก เป้าคือ ให้เศรษฐกิจตกมากๆ ให้ประชาชนเดือดร้อน แล้วลุกฮือต่อต้านรัฐบาล เพราะเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจะอยู่ยาก
อีกส่วนที่กำลังโจมตี คือ เรื่องมาตรฐานการตรวจสอบการบิน อันนี้เป็นอีกเรื่องที่เรามีจุดอ่อน เป็นการทำลายการเป็นศูนย์กลางการบินของไทยในระยะยาว ทำลายสายการบินต่างๆ ของไทย
และเป้าหมายสุดท้ายคือ ทำลายการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักอีกเส้นของไทย ทำนายได้เลยว่า เรื่องการบินไทยจะถูกใบแดง ทั้งจากยุโรป และสหรัฐฯ การบินไทยเจ๊งแน่ ๆ รวมทั้งสายการบินสัญชาติไทยด้วย”
สุดท้ายแล้ว อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ชี้แนะว่า “เราต้องเผยแพร่ในประเด็นกฎหมายครับ คือ ยกคำนิยาม และเอาอะไรที่เราทำมาเรียบเรียงว่าเราทำตามคำนิยามใน tier 2ให้ชัดเจนแล้วเผยแพร่แถลงข่าวออกไปอย่างเป็นทางการของ กต. (กระทรวงการต่างประเทศ)รวมทั้งชี้แจงไปทั่วโลก จุดอ่อนคือเรื่อง อุยกูร์ จะโดนโจมตีมาก แต่เรื่องอุยกูร์ไม่ใช่เรื่องค้ามนุษย์ เป็นเรื่องผู้ลี้ภัย คนละประเด็นกัน แต่สหรัฐฯมั่วจับมารวมกัน”
งานนี้ เรียกว่าสหรัฐฯ กับอียู เล่นการเมืองระหว่างประเทศ ผนึกกำลังกันปิดล้อมเศรษฐกิจไทยทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เลยทีเดียว
ถึงแม้สหรัฐฯ จะมั่วจับแพะชนแกะ เพื่อเล่นงานไทย แต่ไทยจะเพิกเฉย ไม่สน ช่างมันฉันไม่แคร์ ได้ไหม บวกลบคูณหารดูแล้ว คงได้คำตอบว่าเห็นท่าจะไม่ได้ เพราะทั้งสหรัฐฯและอียู ซึ่งใช้เรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ปิดล้อมเศรษฐกิจและการเมืองบรรดาเด็กดื้อที่ไม่อยู่ในโอวาทนั้น ถือเป็นตลาดการค้าสำคัญของไทย
ครั้นไทยจะหันไปหาจีน ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว และจีนชอบซื้อของราคาถูก หากอยากได้ราคาดียังไงก็ต้องขายให้ฝรั่ง ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดตอนนี้ก็คือ มุ่งมั่นแก้ไขปัญหากันต่อไป อย่างที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้
ปีหน้าฟ้าใหม่อันดับของไทยคงจะดีขึ้นกว่านี้ นี่เป็นคำปลอบประโลมจากสหรัฐฯ หลังจากมีเสียงวิจารณ์ดังขรมว่างานนี้พี่เบิ้มตั้งใจตกรางวัลมาเลเซียและหวดก้นเด็กที่เคยว่านอนสอนง่ายที่กลายมาเป็นเด็กดื้ออย่างไทย