xs
xsm
sm
md
lg

กม.อุ้มบุญบังคับใช้วันนี้ อยากทำต้องขออนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กฎหมายอุ้มบุญบังคับใช้ 30 ก.ค.นี้ เอาผิดหมดหากใครทำ ทั้งหมอ นายหน้า หญิงจ้างท้อง สธ.เผยทำอุ้มบุญทุกรายต้องขออนุญาต กคทพ. หวังช่วยสกัดทำผิดกฎหมาย ย้ำคู่รักต่างชาติอุ้มบุญในไทยไม่ได้ เว้นทำกิฟต์เพื่อตั้งท้องเอง ด้านคู่รักร่วมเพศต้องรอไทยคลอดกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันก่อน สบส.แนะคู่รักเกย์มะกันยื่นฟ้องศาลขอเป็นผู้ปกครอง "น้องคาร์เมน" พม.เผยเด็กอุ้มบุญจากพ่อยุ่นบางรายป่วย

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ก.ค.2558 นี้ว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นการคุ้มครองประชาชนที่มีบุตรยาก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีช่วย รวมถึงเด็กที่จะเกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี เพราะมีการกำหนดข้อห้ามที่สำคัญ ได้แก่ ห้ามสามีและภรรยาที่ทำอุ้มบุญปฏิเสธรับเด็กเป็นบุตร ห้ามรับตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ห้ามเป็นนายหน้าจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน ห้ามโฆษณาว่ามีหญิงรับตั้งครรภ์แทน และห้ามซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้าหรือส่งออก อสุจิ ไข่หรือตัวอ่อน โดยสถานประกอบการ แพทย์ คู่สามีภรรยา ผู้รับตั้งครรภ์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากกระทำผิดจะมีโทษทั้งจำและปรับ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตามกฎหมายจะมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ทำหน้าที่เสนอนโยบาย ออกประกาศ พัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และพิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนและควบคุมกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งนี้ คู่สามีภรรยาที่ต้องการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนทุกรายจะต้องยื่นขออนุญาตต่อ กคทพ. ซึ่งจะช่วยป้องกันในเรื่องการอุ้มบุญผิดฎหมายได้ เพราะมีการตรวจสอบทุกราย โดยคู่สมรสที่ต้องการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนจะต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายไทย หากเป็นคนไทยสมรสกับชาวต่างชาติต้องจดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีประจักษ์พยานว่าใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยา และต้องผ่านการตรวจประเมินโดยแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามที่แพทยสภากำหนด ส่วนหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ไม่ใช่พ่อแม่หรือลูก แต่จะต้องเป็นพี่น้องท้องเดียวกันของสามีหรือภรรยาผู้ที่ต้องการมีบุตร และเคยมีบุตรมาก่อนต้องได้รับความยินยอมจากสามี

“โทษของผู้ฝ่าฝืน เช่น แพทย์ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานแพทยสภา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำเชิงการค้า รับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หากเป็นนายหน้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีขายอสุจิหรือไข่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่มีการดำเนินการอุ้มบุญมาก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้สามารถยื่นรับรองบุตรได้” อธิบดี สบส. กล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า หากสามีและภรรยาเป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่น้องโดยสายโลหิต กฎหมายเปิดช่องให้สามารถมีการตั้งครรภ์แทนได้ แต่ต้องมีหลักฐานมายืนยันชัดเจน โดยหญิงที่จะมารับตั้งครรภ์แทนคู่สามีภรรยาต้องจัดหามาเอง และต้องผ่านการพิจารณาอนุญาตจาก กคทพ. ก่อน ซึ่งจะมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดทั้งอายุ การตรวจเลือด ข้อตกลง การประเมินสุขภาพจิต การยินยอมของคู่สมรส รวมถึงกระบวนการรู้จักกับหญิงที่ตั้งครรภ์แทนจนถึงเหตุผลที่รับดำเนินการด้วย ทั้งหมดนี้ ต้องดำเนินการก่อนการตั้งครรภ์แทน ซึ่งจะมีการออกประกาศ สธ. บังคับใช้ต่อไป

รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ คณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ อนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ โดยที่คู่สมรสที่ต้องการมีบุตรต้องเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันรับรองเฉพาะคู่สามีภรรยาที่เป็นหญิงกับชาย แต่หากอนาคตไทยมีกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะครอบคลุมด้วย ส่วนการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์โดยไม่มีการตั้งครรภ์แทนนั้น เช่น ทำกิฟต์ เด็กหลอดแก้ว คู่สมรสชาวต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ที่คู่รักเกย์ชาวอเมริกันและสเปนจะสามารถนำ "น้องคาร์เมน" ที่เกิดจากการอุ้มบุญไปรับเลี้ยงได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรณีนี้เกิดขึ้นก่อนมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ซึ่งตามกฎหมายที่มีอยู่ คือ หญิงตั้งครรภ์เป็นผู้ปกครองของเด็ก แต่หากคู่รักเกย์ดังกล่าวต้องการเป็นผู้ปกครอง ก็ต้องยื่นต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเป็นผู้ปกครองเด็ก ซึ่งศาลจะพิจารณาในเรื่องที่ว่าฝ่ายใดมีความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กมากกว่ากันด้วย ก็มีความเป็นไปได้ที่คู่รักเกย์อาจได้สิทธิเป็นผู้ปกครอง

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการดูแลเด็กอุ้มบุญที่เกิดจากพ่อชาวญี่ปุ่น นางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. กล่าวว่า เด็กทั้ง 13 รายอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ โดยพบว่าเด็กบางรายไม่แข็งแรงเท่าเด็กปกติ เช่น มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการคลอดก่อนกำหนด แต่ทางสถานสงเคราะห์ก็มีการดูแลอย่างดี ทั้งพยาบาล นักกายภาพบำบัด ส่วนเรื่องการรับเด็กดังกล่าวไปเลี้ยงนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องรอให้การพิจารณาทางศาลสิ้นสุดเสียก่อน ซึ่งยังต้องใช้เวลา

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาการทำอุ้มบุญผิดกฎหมายในประเทศไทย ส่งผลต่อเรื่องการค้ามนุษย์ของไทยด้วยหรือไม่ นางระรินทิพย์ กล่าวว่า อาจมีส่วนบ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ก็จะช่วยป้องกันเรื่องการซื้อขายไข่ การทำอุ้มบุญเพื่อการค้า ซึ่งถือเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น