xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เห็นชอบแผนปฏิรูปสธ. เพิ่มภาษีช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)วานนี้ (28ก.ค.) ได้มีการพิจารณารายงานระบบบริการสาธารณสุข ระบบการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และระบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ ของคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สปช. โดย นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกมธ.ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ภายในระบบบริการสุขภาพที่เป็นลักษณะแยกส่วนทำให้เกิดช่องว่าง เนื่องจากกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบ มีการแยกส่วน ไม่เหมือนกันทั้งระดับการจ่าย และวิธีการจ่าย จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบการเงินการ คลังสุขภาพ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจให้หน่วยงานระดับจังหวัดมีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงบูรณาการ การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพต่างๆ บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพ โดยการออกเป็น พ.ร.บ.จัดตั้งคณะกรรมการประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพต่างๆ
นอกจากนี้ เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศ ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.) เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการข้อมูลสาระสนเทศการประกันสุขภาพ รวมถึงให้เพิ่มภาษีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เป็นภัยต่อสุขภาพ โดยผลักดันแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายสรรพสามิต เพื่อนำรายได้ดังกล่าวมาสร้างความยั่งยืนการเงินการคลังด้วย
ทั้งนี้ สมาชิกบางส่วนได้อภิปรายและเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ อย่างจริงจัง โดยกำหนดให้มีศูนย์ข้อมูลในเรื่องสมุนไพรของไทย ว่า มีอะไรบ้าง และใช้รักษาโรคใดได้บ้าง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สมาชิก สปช. อภิปรายว่าการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งนี้ อยากเห็นการก้าวข้ามความขัดแย้ง การขจัดความความเหลื่อมล้ำ พัฒนาระบบบริหารสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย และระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จึงขอเสนอให้กมธ.ปฏิรูปค่าตอบแทนในวิชาชีพแพทย์ เพราะความขัดแย้งของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ และแพทย์ชนบท สาเหตุล้วนเกิดขึ้นมาจากเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 183 เพื่อให้ กมธ.ปฏิรูปฯ นำไปปรับปรุง ก่อนส่งให้ครม. พิจารณาต่อไป

**ส่งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ ที่มี นายจุมพล รอดคำดี เป็นประธานฯ ได้ส่งรายงาน และ ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ... ฉบับที่ปรับปรุงและแก้ไขตามข้อเสนอและความเห็นของ สปช. รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปยัง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อให้พิจารณาส่งไปยังรัฐบาล เพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว
ทั้งนี้ มีประเด็น ที่ที่ประชุมยกมาพิจารณาและบางเรื่องมีมติแก้ไข ประกอบด้วย
1. เปลี่ยนชื่อเรียกขอใบรับรองการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็น"บัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพ" 2. ประเด็นคำว่า"สวัสดิการ" และ"สวัสดิภาพ" ของผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ได้คงไว้ตามบทบัญญัติเดิม แต่ได้เขียนคำนิยามให้มีความหมายที่ชัดเจน กล่าวคือ คำว่า"สวัสดิการ" จะหมายถึงความปลอดภัย การได้รับการดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ และรวมถึงการเดินทางด้วย เพราะขณะนี้สวัสดิการ จะหมายถึงรายได้
3. ประเด็นเงินประเดิมเพื่อจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ประชุมได้ยืนตามบทบัญญัติเดิมที่ช่วงแรกของการก่อตั้ง รัฐต้องจัดสรรเงินทุนประเดิมให้ ทั้งนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทุนประเดิมดังกล่าว ไม่ใช่การแทรกแซงการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตามได้เขียนความหมายให้ครอบคลุมด้วยว่า การจัดตั้งองค์กรตามกฎหมายต้องไม่มีการไปขอเงินจากรัฐเพิ่มเติม ขณะนี้เงินที่ใช้จ่ายเพื่อดำเนินการที่ได้รับจากส่วนต่างๆ เช่น กองทุนเงินที่ได้จากรายงานที่สถานทีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ส่งคืนคลัง ได้เขียนรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากขึ้น
4 . กรรมการจริยธรรม ได้ปรับในส่วนของการทำหน้าที่ตรวจสอบด้านจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้เป็นหน้าที่ของกรรมการจริยธรรมโดยตรง จากเดิมที่กำหนดให้เป็นอำนาจของกรรมการกำกับโดยภาคประชาชน
5 .โครงสร้างและที่มาของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้คงจำนวนและที่มาไว้ตามร่างกฎหมายเดิม คือ มีจำนวน 15 คน และระยะเริ่มแรกให้มาจากการสรรหา คือ ที่มาจากวิชาชีพ จำนวน 8 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน และจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน ทั้งนี้ ได้เขียนรายละเอียดว่า ในระยะยาว หรือ 3-4 ปี ในส่วนของกรรมการสภาฯ ที่มาจากผู้แทนวิชาชีพนั้น ให้ใช้การเลือกตั้งแทนการสรรหา โดยต้องคำนึงสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพในภูมิภาคด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น