xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย2จังหวัดค้านโรงไฟฟ้า บุกศาลากลาง จี้ผู้ว่าฯสงขลาเลิกสั่งห้ามแสดงออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน บุกศาลากลางจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ให้ยกเลิกคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมเคลื่อนไหวในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการ อบต.ปากบาง อ.เทพา ในวันจัดเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้อาจขัดต่อสิทธิชุมชนและขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

วานนี้ (26 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายเทพารักษ์ถิ่น พร้อมด้วยกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมใน จ.สงขลา ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา มาเป็นผู้รับหนังสือแทน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวานนี้ (25 ก.ค.) สืบเนื่องจากนายธำรง เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ลงนามในคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 เรื่อง ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมเคลื่อนไหวหรือดำเนินการด้วยประการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาต หรือผู้ที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ด้วยขณะนี้จากการประมวลข้อมูลข่าวสาร สามารถสรุปสถานการณ์ อาจมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา อันอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 27(3) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จึงออกคำสั่งห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมหรือดำเนินการด้วยประการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในระหว่างเวลา 01.00 น. ของวันที่ 26 ก.ค.2558 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 28 ก.ค.2558

ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามนัยแห่งมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2558 สั่ง ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2558
โดยตัวแทนชาวบ้านระบุว่าจากหนังสือคำสั่งดังกล่าวทำให้ประชาชนใน อ.เทพา และพื้นที่ใกล้เคียงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากคำสั่งอยู่ในห้วงเวลาของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ครั้งที่ 3 หรือเวที ค.3 ซึ่งจะจัดที่ที่บริเวณสำนักงาน อบต.ปากบาง อ.เทพา ชาวบ้านซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้มองว่าคำสั่งกังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมและผิดกฎหมายก็เป็นได้ จึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนโดยระบุว่า...

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 26 กรกฎาคม 2558 เรื่องขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ 2941/2558 เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา อ้างถึง คำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558

ข้าพเจ้าทั้งหลายดังรายชื่อท้ายหนังสือนี้ เป็นกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกัน เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นในพื้นที่ตำบลเทพา ตำบลท่าม่วง ตำบลสะกอม ตำบลเกาะสะบ้า ตำบลลำไพล ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน ตำบลนาทับ ตำบลบ้านนา ตำบลป่าชิง ตำบลคลองเปียะ ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตำบลท่ากำชำ และตำบลบางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยใช้ชื่อเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2,200 เมกกะวัตต์ อันเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าจะก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างรุนแรง

ทางกลุ่มได้รวมตัวกันโดยได้จัดการศึกษารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงาน ถ่านหิน จากทุกภาคส่วนทั้งจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเจ้าของโครงการ กลุ่มนักวิชาการ ชุมชน ผู้เคยมีประสบการณ์ทางตรงในพื้นที่ที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน แม้กระทั่งข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศ จนแน่ใจได้ว่าผลกระทบจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะมีต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชน ไม่อาจจะป้องกันได้ จึงต้องคัดค้านโครงการนี้ เพื่อปกป้องชุมชนไม่ให้ต้องได้รับความเสียหาย

เครือข่ายฯขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาของการทำงานเพื่อศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้กระทำไปอย่างเปิดเผย ด้วยความสงบ ตรงต่อข้อเท็จจริง และเปิดกว้างในการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าเป็นความเห็นในเชิงคัดค้านหรือสนับสนุนก็ตาม แต่กลับปรากฏว่า ในการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่การชี้แจงข้อมูลต่อชุมชนก็กล่าวแต่เพียงด้านดีของโครงการ ไม่ได้มีการชี้แจงว่า โครงการนี้จะสร้างมลพิษชนิดใดในปริมาณเท่าใด มีวิธีบำบัดอย่างไร ส่วนที่บำบัดไม่ได้จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นในกระบวนการที่เรียกว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งการจัดเวทีจัดทำขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค1) และกระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค2) ก็ไม่มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน โดยในการจัดการรับฟังความเห็นมีการกีดกัน ข่มขู่ฝ่ายที่มีไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการ นอกจากนั้นยังใช้วิธีการเอาผลประโยชน์เข้าล่อโดยแจกข้าวสารเพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงจำนวนมากมาร่วมลงชื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้า วิธีการเช่นนี้ย่อมทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกบิดเบือนไปเป็นเพียงพิธีกรรมสร้างเอกสารสำหรับการอนุมัติ เห็นชอบ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฯโดยไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมและเนื้อหาผลกระทบที่แท้จริง

เครือข่ายพบว่าในวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2558 นี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค3) ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาจะมาทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นผู้ลงนามออกประกาศและจัดส่งคำสั่งดังกล่าวไปให้สมาชิกบางคนของเครือข่ายฯ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารที่อ้างถึง โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวระบุว่าจากการประมวลข้อมูลข่าวสารอาจมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา อันอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของประชาชนหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ จึงมีคำสั่งห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมหรือดำเนินการด้วยประการใดได้อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบางและปริมณฑลในระหว่างเวลา 00.01 น. ของวันที่ 26 กรกฎาคม 2558-เวลา 24.00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

คำสั่งดังกล่าวของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ทางเครือข่ายได้รับทราบแล้วและมีความเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลักการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการใช้ประโยชน์และคุ้มครองรักษาทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นของตน อันเป็นสิทธิที่บัญญัติรับรองไว้ตามความในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ทั้งอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีอันเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ดังรายละเอียดต่อไปนี้

กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นกระบวนการตามบทบังคับของกฎหมายให้ผู้ดำเนินโครงการมีหน้าที่ในการจัดทำเพื่อขออนุมัติให้ความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการดำเนินโครงการ ดังนั้นหน่วยงานของรัฐในทุกระดับชั้น จึงไม่มีความเหมาะสมใดๆที่จะแสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนหรือผลักดันให้มีการดำเนินโครงการดังกล่าวไว้ล่วงหน้า ทั้งๆที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปและวินิจฉัยว่าโครงการนั้นๆก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ เพียงใด การมีคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าฯย่อมมีผลในทางกดดันเครือข่ายและกลุ่มผู้มีความเห็นต่างในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ

การมีคำสั่งฉบับดังกล่าวอ้างว่า กลุ่มผู้เห็นต่างอาจเข้าไปก่อให้เกิดความไม่สงบ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงห้ามเข้าไปชุมนุมหรือเข้าไปกระทำการใดๆ บริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ปากบางและปริมณฑล อันเป็นสถานที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า เป็นความพยายามที่จะกีดกันเครือข่ายและกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นย่อมไม่เป็นผลดีกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากในวันจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจริง มีแต่เพียงกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการและผู้ดำเนินโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียวที่ได้เข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนทั่วไปว่า ทางราชการมีการเลือกปฏิบัติเพื่อมุ่งสนับสนุนการดำเนินโครงการของผู้ประกอบกิจการเท่านั้น ทั้งยังจะมีผลทำให้กระบวนการทบทวนร่างรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ทางการปกครองในการสร้างความสามัคคีและลดความขัดแย้ง ช่วยให้ความเห็นต่างได้มีโอกาสแสดงออก โต้แย้งกันอย่างมีเหตุผลสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่มุ่งการสมานฉันท์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมือง ในกรณีนี้ การมีคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าฯ จังหวัดสงขลาจึงขัดต่อหลักการดังกล่าวข้างต้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ว่าเครือข่ายและกลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้เคยมีการใช้ความรุนแรงหรือประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใดตามที่กล่าวอ้างในคำสั่งนั้น

ถ้อยคำที่ใช้ในคำสั่งเป็นการกล่าวหาใส่ร้ายเครือข่าย กลุ่มผู้เห็นต่าง และกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ทำให้ประชาชนผู้ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวเกิดความเข้าใจผิดว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีความมุ่งหมายจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ ก่อความรุนแรง และประสงค์จะขัดขวางการบริหารราชการแผ่นดิน เครือข่ายเห็นว่า หากผู้ว่าฯ มีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ยืนยันการกระทำดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง ผู้ว่าฯควรที่จะเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ทางเครือข่ายขอเรียกร้องให้ท่านผู้ว่าฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยชี้แจงเครือข่ายและสาธารณชนว่าข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ว่าฯ ได้รับรายงานจากผู้ใดหรือเจ้าหน้าที่หน่วยราชการใด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เครือข่ายที่ได้รับความเสียหาย


เครือข่ายเห็นว่าทางออกที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากคำสั่งฉบับดังกล่าวที่อ้างถึงของผู้ว่าฯ ซึ่งมีเหตุผลชัดแจ้งเพียงพอแล้วว่าไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย จึงควรแก้ไขโดยการประกาศยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าว และเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ขอท่านผู้ว่าฯ ยกเลิกการปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม รวมทั้งเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและคณะผู้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทบทวนกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนกันเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น

หากคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกยกเลิก การจัดรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2558 ย่อมไม่มีบรรยากาศของการหารือ ถกเถียง เพื่อหาทางออกของโครงการได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ เครือข่ายจึงจะไม่เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นดังกล่าว

เราเชื่อมั่นว่า ถ้าเหตุและผลของเราได้ประจักษ์ต่อการรับฟังความคิดเห็น การจะดำเนินโครงการหรือไม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมและเจ้าหน้าที่ประจำศาลากลางจังหวัดสงขลาที่ออกมาพบปะตัวแทนชาวบ้าน ระบุว่าหนังสื่อคำสั่งที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 นั้น เป็นหนังสือที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เป็นผู้ร่างขึ้นมาและส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาลงนาม โดยตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเพียงผู้ลงนามเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ทำหนังสือดังกล่าวตามรายละเอียดที่ระบุแต่อย่างใด และหลังจากได้รับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้าน ก็จะส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาในทันที.
กำลังโหลดความคิดเห็น