xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านจี้เลิกสั่งห้ามแสดงออกค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จนท.แถ “ผู้ว่าฯ ไม่ได้สั่งแค่เซ็นชื่อ!?”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้ยกเลิกคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมเคลื่อนไหวหรือดำเนินการด้วยประการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการ อบต.ปากบาง อ.เทพา ในวันจัดเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้อาจขัดต่อสิทธิชุมชน และขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ด้านเจ้าหน้าที่ระบุผู้ว่าฯ แค่ลงนามไม่ได้สั่งให้ร่างหนังสือ

วันนี้ (26 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายเทพารักษ์ถิ่น พร้อมด้วยกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมใน จ.สงขลา ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา มาเป็นผู้รับหนังสือแทน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวานนี้ (25 ก.ค.) สืบเนื่องจาก นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ลงนามในคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 เรื่อง ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมเคลื่อนไหวหรือดำเนินการด้วยประการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาต หรือผู้ที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 

 
ด้วยขณะนี้จากการประมวลข้อมูลข่าวสารสามารถสรุปสถานการณ์อาจมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา อันอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 27(3) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 จึงออกคำสั่งห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมหรือดำเนินการด้วยประการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในระหว่างเวลา 01.00 น. ของวันที่ 26 ก.ค.2558 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 28 ก.ค.2558

ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามนัยแห่งมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
 

 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2558 สั่ง ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2558

โดยตัวแทนชาวบ้านระบุว่า จากหนังสือคำสั่งดังกล่าวทำให้ประชาชนใน อ.เทพา และพื้นที่ใกล้เคียงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากคำสั่งอยู่ในห้วงเวลาของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ครั้งที่ 3 หรือเวที ค.3 ซึ่งจะจัดที่ที่บริเวณสำนักงาน อบต.ปากบาง อ.เทพา ชาวบ้านซึ่งไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ มองว่าคำสั่งดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม และผิดกฎหมายก็เป็นได้ จึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนโดยระบุว่า

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 26 กรกฎาคม 2558 เรื่องขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ 2941/2558 เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา อ้างถึง คำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558
 

 
ข้าพเจ้าทั้งหลายดังรายชื่อท้ายหนังสือนี้ เป็นกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นในพื้นที่ตำบลเทพา ตำบลท่าม่วง ตำบลสะกอม ตำบลเกาะสะบ้า ตำบลลำไพล ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน ตำบลนาทับ ตำบลบ้านนา ตำบลป่าชิง ตำบลคลองเปียะ ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตำบลท่ากำชำ และตำบลบางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยใช้ชื่อเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ อันเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าจะก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของชุมชนอย่างรุนแรง

ทางกลุ่มได้รวมตัวกันโดยได้จัดการศึกษารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน จากทุกภาคส่วน ทั้งจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเจ้าของโครงการ กลุ่มนักวิชาการ ชุมชน ผู้เคยมีประสบการณ์ทางตรงในพื้นที่ที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน แม้กระทั่งข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศ จนแน่ใจได้ว่า ผลกระทบจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมีต่อทรัพยากร และวิถีชีวิตชุมชนไม่อาจจะป้องกันได้ จึงต้องคัดค้านโครงการนี้เพื่อปกป้องชุมชนไม่ให้ต้องได้รับความเสียหาย

เครือข่ายฯ ขอยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาของการทำงานเพื่อศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้กระทำไปอย่างเปิดเผย ด้วยความสงบ ตรงต่อข้อเท็จจริง และเปิดกว้างในการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
 

 
ไม่ว่าเป็นความเห็นในเชิงคัดค้าน หรือสนับสนุนก็ตาม แต่กลับปรากฏว่า ในการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่ได้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่การชี้แจงข้อมูลต่อชุมชนก็กล่าวแต่เพียงด้านดีของโครงการ ไม่ได้มีการชี้แจงว่า โครงการนี้จะสร้างมลพิษชนิดใด ในปริมาณเท่าใด มีวิธีบำบัดอย่างไร ส่วนที่บำบัดไม่ได้จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นในกระบวนการที่เรียกว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งการจัดเวทีจัดทำขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค1) และกระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค2) ก็ไม่มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน โดยในการจัดการรับฟังความเห็นมีการกีดกัน ข่มขู่ฝ่ายที่มีไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างโครงการ นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการเอาผลประโยชน์เข้าล่อโดยแจกข้าวสารเพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงจำนวนมากมาร่วมลงชื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้า วิธีการเช่นนี้ย่อมทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกบิดเบือนไปเป็นเพียงพิธีกรรมสร้างเอกสารสำหรับการอนุมัติ เห็นชอบ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฯ โดยไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วม และเนื้อหาผลกระทบที่แท้จริง

เครือข่ายพบว่า ในวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2558 นี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค3) ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จะมาทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นผู้ลงนามออกประกาศและจัดส่งคำสั่งดังกล่าวไปให้สมาชิกบางคนของเครือข่ายฯ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารที่อ้างถึง โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวระบุว่าจากการประมวลข้อมูลข่าวสารอาจมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา อันอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของประชาชนหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ จึงมีคำสั่งห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปชุมนุมหรือดำเนินการด้วยประการใดได้อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่บริเวณอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง และปริมณฑล ในระหว่างเวลา 00.01 น. ของวันที่ 26 กรกฎาคม 2558 เวลา 24.00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
 

 
คำสั่งดังกล่าวของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ทางเครือข่ายได้รับทราบแล้ว และมีความเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลักการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการใช้ประโยชน์และคุ้มครองรักษาทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นของตน อันเป็นสิทธิที่บัญญัติรับรองไว้ตามความในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 ทั้งอาจไม่สอดคล้องต่อแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีอันเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ดังรายละเอียดต่อไปนี้

กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นกระบวนการตามบทบังคับของกฎหมายให้ผู้ดำเนินโครงการมีหน้าที่ในการจัดทำเพื่อขออนุมัติให้ความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการดำเนินโครงการ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐในทุกระดับชั้น จึงไม่มีความเหมาะสมใดๆที่จะแสดงท่าทีไปในทางสนับสนุน หรือผลักดันให้มีการดำเนินโครงการดังกล่าวไว้ล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุป และวินิจฉัยว่าโครงการนั้นๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ เพียงใด การมีคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าฯ ย่อมมีผลในทางกดดันเครือข่ายและกลุ่มผู้มีความเห็นต่างในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ
 

 
การมีคำสั่งฉบับดังกล่าวอ้างว่า กลุ่มผู้เห็นต่างอาจเข้าไปก่อให้เกิดความไม่สงบ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงห้ามเข้าไปชุมนุมหรือเข้าไปกระทำการใดๆ บริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ปากบาง และปริมณฑล อันเป็นสถานที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า เป็นความพยายามที่จะกีดกันเครือข่าย และกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นย่อมไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในวันจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจริง มีแต่เพียงกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการ และผู้ดำเนินโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียวที่ได้เข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนทั่วไปว่า ทางราชการมีการเลือกปฏิบัติเพื่อมุ่งสนับสนุนการดำเนินโครงการของผู้ประกอบกิจการเท่านั้น ทั้งยังจะมีผลทำให้กระบวนการทบทวนร่างรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ทางการปกครองในการสร้างความสามัคคี และลดความขัดแย้ง ช่วยให้ความเห็นต่างได้มีโอกาสแสดงออก โต้แย้งกันอย่างมีเหตุผลสอดคล้องต่อแนวนโยบายแห่งรัฐที่มุ่งการสมานฉันท์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมือง ในกรณีนี้ การมีคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าฯ จังหวัดสงขลา จึงขัดต่อหลักการดังกล่าวข้างต้น ทั้งๆ ที่ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ว่าเครือข่ายและกลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้เคยมีการใช้ความรุนแรงหรือประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใดตามที่กล่าวอ้างในคำสั่งนั้น

ถ้อยคำที่ใช้ในคำสั่งเป็นการกล่าวหาใส่ร้ายเครือข่าย กลุ่มผู้เห็นต่าง และกลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ทำให้ประชาชนผู้ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวเกิดความเข้าใจผิดว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีความมุ่งหมายจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ ก่อความรุนแรง และประสงค์จะขัดขวางการบริหารราชการแผ่นดิน เครือข่ายเห็นว่า หากผู้ว่าฯ มีข้อมูล และข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ยืนยันการกระทำดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง ผู้ว่าฯ ควรที่จะเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ทางเครือข่ายขอเรียกร้องให้ท่านผู้ว่าฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยชี้แจงเครือข่าย และสาธารณชนว่าข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ว่าฯ ได้รับรายงานจากผู้ใด หรือเจ้าหน้าที่หน่วยราชการใด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เครือข่ายที่ได้รับความเสียหาย
 
 

 
เครือข่ายเห็นว่าทางออกที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากคำสั่งฉบับดังกล่าวที่อ้างถึงของผู้ว่าฯ ซึ่งมีเหตุผลชัดแจ้งเพียงพอแล้วว่าไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย จึงควรแก้ไขโดยการประกาศยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าว และเพื่อความโปร่งใส และเป็นธรรมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ขอท่านผู้ว่าฯ ยกเลิกการปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม รวมทั้งเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และคณะผู้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทบทวนกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และชุมชนกันเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น

หากคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกยกเลิก การจัดรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2558 ย่อมไม่มีบรรยากาศของการหารือ ถกเถียง เพื่อหาทางออกของโครงการได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ เครือข่ายจึงจะไม่เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นดังกล่าว

เราเชื่อมั่นว่า ถ้าเหตุและผลของเราได้ประจักษ์ต่อการรับฟังความคิดเห็น การจะดำเนินโครงการหรือไม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม และเจ้าหน้าที่ประจำศาลากลางจังหวัดสงขลาที่ออกมาพบปะตัวแทนชาวบ้าน ระบุว่า หนังสื่อคำสั่งที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ที่ 2941/2558 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 นั้น เป็นหนังสือที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เป็นผู้ร่างขึ้นมา และส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาลงนาม โดยตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเพียงผู้ลงนามเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ทำหนังสือดังกล่าวตามรายละเอียดที่ระบุแต่อย่างใด และหลังจากได้รับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้าน ก็จะส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาในทันที
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น