xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ธัมมี่-แม้ว” ผู้มีบารมีเหนือ ม.44

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เห็นภาพเหล่าสาวกผู้คลั่งไคล้ศรัทธาใน “ลัทธิธรรมกาย” ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสร่วมพันคน เดินทางไปที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 พร้อมชูสารพัดป้าย เช่น “เราแค่มาขอความเป็นธรรมให้หลวงพ่อธัมมชโย” “ชีวิตยอมตายเพื่อพระพุทธศาสนา” “ผู้ตรวจการฯ ไม่ใช้หลักกฎหมาย แต่ตะเกียกตะกายใช้หลักกู” ฯลฯ แล้ว ต้องบอกว่า นับวันยิ่ง “มั่นใจ” ในความยิ่งใหญ่ของตัวเองยิ่งนัก

พวกเขาคือม็อบที่พร้อมใจกันมากดดัน ประท้วงและแสดงความไม่พอใจที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้ “มาตรา 44” ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 รื้อคดี “พระเทพญาณมหามุนี(ไพบูลย์ ธัมมชโย)” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ลงชื่อซื้อขายที่ดินเมื่อปี 2549 เนื่องเพราะวินิจฉัยตามข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า “ต้องอาบัติปาราชิก” ตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ถามว่าทำไมสาวกเหล่านั้นถึง “กล้า” จัด “ม็อบ” ในยามที่รัฐบาลทหาร คสช.มีประกาศิตเด็ดขาดว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม

ก็ต้องตอบว่า เพราะพวกเขามั่นใจว่า รัฐบาลทหารไม่กล้าที่จะเล่น “ไม้แข็ง”

แถมท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายก็ช่างแตกต่างจากท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อกลุ่ม “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เสียเหลือเกิน

ที่สำคัญก็คือ พวกเขามั่นใจด้วยว่า รัฐบาลทหารไม่กล้าใช้มาตรา 44 จัดการกับพระเทพญาณมหามุนีตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน

และในที่สุดทุกอย่างก็เป็นไปตามที่วัดพระธรรมกายคำนวณไว้ หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลการตรวจสอบเพียงแค่ 1 วัน ในวัดถัดมาคือวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ได้ปฏิเสธอย่างชัดแจ้งว่าจะไม่ใช้มาตรา 44 ดำเนินการใดๆ กับพระธัมมชโยตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ

“อ๋อ เรื่องพระธัมมชโยใช่ไหม เรื่องมาตรา 44 สื่อเอามาใช้ก็แล้วกัน มันมีวิธีการตั้งเยอะแยะ กฎหมายปกติก็มีอยู่และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสอบสวน ถ้ามันถูกก็ว่าไปตามถูก แต่ถ้ามันผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จะใช้มาตรา 44 ไปจับพระอย่างนั้นหรือ ให้มันรู้เรื่องกันบ้าง”

พล.อ.ประยุทธ์ตอบเสียงดังฟังชัด ซึ่งแปลไทยเป็นไทยก็คือ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ใช้มาตรา 44 ตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน แถมยังมีความเห็นด้วยว่า การเสนอใช้มาตรา 44 เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะมีกฎหมายปกติอยู่แล้ว และตบท้ายชัดๆ เน้นๆ ด้วยว่า “ให้มันรู้เรื่องกันบ้าง”

คำถามมีอยู่ว่า แล้วกระบวนการขั้นตอนตามปกติมีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะทำหรือไม่

ถ้ามีทำไมถึงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาให้สังคมได้เห็นกันบ้าง

กระนั้นก็ดี ถ้าหากย้อนกลับไปดูท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์เกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายก่อนหน้านี้ ก็คงจะไม่แปลกใจอะไรที่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีท่าที เยี่ยงนี้

หากยังจำกันได้ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการที่ “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนา ได้เชิญผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาชี้แจง ประกอบหลักฐานต่างๆ จำนวนมาก และในที่สุดก็ชี้ว่า พระธัมมชโยเป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องบังคับการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม

ในครั้งนั้น ดูเหมือนว่า เรื่องดังกล่าวจะสร้างความหงุดหงิดให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต่างจากครั้งล่าสุดนี้เช่นกัน ถึงขนาดประกาศว่า “เอาให้มันสงบๆ กันบ้างไม่ได้หรือ ทั้งคนทั้งพระทั้งฆราวาส วุ่นไปหมดเลยประเทศไทย”

สุดท้ายด้วยแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาทำให้นายไพบูลย์ต้องประกาศยุติบทบาทคณะกรรมการชุดดังกล่าวไปในที่สุด พร้อมๆ กับเรื่องที่ค่อยๆ เงียบหายไปทีละน้อย ไม่มีความคืบหน้าทั้งคดีเดิม และคดีใหม่คือคดีรับเงินโกงจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ผู้เป็นศิษย์เอกวัดพระธรรมกายด้วยตัวเลขเฉียดพันล้านบาท

หลังเรื่องเงียบหายไปจนสังคมแทบจะลืมเลือนและหมดความหวังที่จะจัดการกับพระธัมมชโย ฟ้าก็ผ่าครืนลงมาอย่างไม่คาดฝัน และดันผ่าลงมาในช่วง “ขาลง” ของรัฐบาล คสช.เสียด้วย เมื่อสำนักงานตรวจการแผ่นดินตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงผลการตรวจสอบเรื่องฉาวโฉ่ที่ถูกซุกใต้พรมมาเป็นเวลานาน

20 กรกฎาคม 2558 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐมและนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ(มปปท.) ได้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (อสส.)ในเวลานั้น ที่มีคำสั่งถอนฟ้องคดีที่ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกฟ้องคดีต่อศาลอาญา ในความผิดเกี่ยวกับการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดิน เมื่อปี 2549 และ กรณีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ในฐานะ เลขาธิการมหาเถรสมาคม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย กฎหมาย ไม่บรรจุวาระการประชุมเกี่ยวกับการปาราชิกของพระธัมมชโย ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้น ผู้ตรวจฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การลงชื่อซื้อขายที่ดินในนามตนเอง ของพระธัมมชโยนั้น เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดว่า หากเป็นทรัพย์สินของวัดจะต้องมีการลงทะเบียนของวัดไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นทรัพย์สินของวัด แม้ต่อมา พระธัมมชโย จะมีการคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นของวัด แต่ก็ล่วงเลยไปถึง 7 ปี

ด้วยเหตุดังกล่าว การกระทำของพระธัมมชโย ครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานทุจริต ผิดตามกฎหมาอาญา มาตรา 147 และ 157 แม้ภายหลังจะมีการคืนทรัพย์สินให้วัด ก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญาซึ่งสำเร็จไปแล้วกลายเป็นไม่มีความผิด

ดังนั้น ในประเด็นนี้ผู้ตรวจจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานพิจารณาว่าการที่นายพชร มีคำสั่งให้ถอนฟ้องเป็น ไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ขณะที่ในส่วนของสำนักพระพุทธศาสนานั้น หลังจากสมเด็จพระสังฆราช มีพระลิขิต ฉบับลงวันที่ 26 เม.ย. 1 พ.ค. และ 10 พ.ค.42 ที่ระบุว่า พระธัมมชโย ควรคืนทรัพย์สินให้วัด ซึ่งจะไม่ถือว่ามีโทษ เพราะอาจไม่มีเจตนา และหากไม่ยอมคืนทรัพย์สินดังกล่าว จะถือได้ว่าจงใจเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตัวเอง ซึ่งถือได้ว่าพระธัมมชโย ย่อมไม่เป็นสมณะ ย่อมต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ซึ่งพระลิขิตดังกล่าว ถือว่าเป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตดังกล่าวแต่ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนา ไม่ได้ดำเนินการตามพระลิขิต

ดังนั้น จึงถือได้ว่า พศ.ละเลย ไม่ใส่ใจต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์บางรูป ผู้ตรวจฯ จึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อให้ขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิต เช่น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมหาเถรสมาคม ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนา ผู้แทนจาก สนช .และ สปช. ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช หรือไม่

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีความเห็นเอาไว้อย่างชัดแจ้งว่า “ถ้ายึดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระลิขิตที่เป็นพระวินิจฉัย มีผลผูกพันตามกฎหมาย พระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิก”

เพียงแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการด้วยตัวเอง จึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป

ทั้งสองกรณี ศิษยานุศิษย์ของพระธัมมชโยที่ยกโขยงกันไปที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะโต้เถียงว่าไม่เป็นความจริงและคดีเป็นที่ยุติแล้ว โดยในหนังสือที่ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่า ประเด็นเรื่องพระลิขิตที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างถึงนั้น เป็นคำแนะนำ ไม่มีผลบังคับตาม พ.ร.บ.สงฆ์ และมหาเถรสมาคม(มส.)ได้นำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี 2542 การรื้อฟื้นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปแล้วจึงถือว่าขัดหลักนิติธรรม ฝ่าฝืนพระธรรมวินัย

ส่วนกรณีที่อัยการสูงสุดถอนฟ้องก็เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลก็ได้อนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว เท่ากับศาลเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมที่จะอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเสนอให้ตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการมาดำเนินการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ให้เป็นที่เสียหายแก่ระบบการปกครองทั้งศาสนจักรและอาณาจักรอีกต่อไป

แต่ดูเหมือนม็อบวัดพระธรรมกายจะไม่ประสบความสำเร็จในประเด็นที่ 2 หรือใช้คำว่า “หน้าแหกชนิดหมอไม่รับเย็บ” เพราะในวันที่มีการชุมนุมที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้มีความชัดเจนออกมาจากทางอัยการสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมี น.ส.นิภาพร รุจนรงศ์ ผู้ตรวจการอัยการ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

อัยการสูงสุดได้ทำให้ม็อบและสาวกพระธัมมชโยเห็นแล้วว่า สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ได้ตาม “หลักการ” มิใช่ “หลักกู”

เพียงแต่ไม่แน่ใจว่า นี่จะเป็นไปตามกระบวนการตามปกติที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกหรือไม่ หรือเป็นเพียงการแก้เกมให้เห็นว่า คดีมีความคืบหน้าเพื่อสยบกระแสความไม่พอใจที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น

สำหรับกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิต เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช หรือไม่ ชัยชนะตกเป็นของฝ่ายพระธัมชโย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธออกมาเสียงดังฟังชัดแล้วเช่นกันว่า ไม่ใช้และไม่ทำ

คำถามก็คือ ทำไมถึงไม่ใช่และไม่ทำ ติดขัดอยู่ที่ตรงไหนหรือ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว การใช้มาตรา 44 เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องแปลกอะไร ที่สำคัญจะได้คลี่คลายปัญหาทั้งหลายทั้งปวงให้จบให้สิ้นไปอีกต่างหาก เพราะสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินระบุชัดเจนว่า ไม่มีอำนาจดำเนินการด้วยตนเอง จึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือ รัฐบาล คสช.เพื่อใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาที่ติดขัด

จะ “ผิด” จะ “ถูก” อะไรก็ให้มันชัดเจนไปในครั้งนี้

แน่นอน การ “ไม่กล้า” จัดการในสิ่งที่ถูกที่ควร ทั้งๆ ที่มีองค์กรที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเสนอเรื่องตามกระบวนการ ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช.ต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงไป รื่อยๆ ยิ่งเมื่อบวกกับภาวะภัยแล้ง ภาวะเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่าด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คนที่เคยให้การสนับสนุนและคล้อยตามรัฐบาล คสช.เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้มาตรา 44 หรือใช้กระบวนการตามปกติก็ตาม สิ่งที่สังคมอยากเห็นก็คือ “ความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม”

มิใช่ปล่อยให้กลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกายลูกศิษย์พระธัมมชโยออกมาข่มขู่ว่า หากรื้อฟื้นขึ้นมาจะสร้างความแตกแยกและขัดต่อนโยบายปรองดองของ คสช.

หรือว่า “บิ๊กตู่” อยากที่จะปรองดองกับวัดพระธรรมกายที่มีสายสัมพันธ์กับระบอบทักษิณจริงๆ

ส่วนจะปรองดองกับระบอบทักษิณด้วยหรือไม่นั้น ไม่ทราบได้ เพียงแต่ขณะนี้กระบวนการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็ถูกซุกเข้าลิ้นชักเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ให้กระบวนการกฎหมายดำเนินไปตามปกติ โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษอย่าง ม.44 เข้ามาจัดการ

สำหรับเรื่องพระธัมมชโยสุดท้ายคงต้องให้สังคมพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ “ตัวละคร” ที่สำคัญอีกคนหนึ่ง นั่นคือ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของ คสช.และรัฐบาล

นายวิษณุกล่าวเอาไว้ว่า “เมื่อเขาออกตัวแต่แรกว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจ เขาทำอะไรไม่ได้จึงให้รัฐบาลทำ แล้วเขาก็รู้ว่า รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ นอกจากไปงัดมาตรา 44 ขึ้นมา อันนั้นแสดงว่า ก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว แต่คนที่จะใช้อำนาจมาตรา 44 เป็น คสช. ไม่ใช่รัฐบาล รัฐบาลใช้มาตรา 44 ไม่ได้ ตรงนี้จึงขอดูเรื่องของสำนักงานผู้ตรวจฯก่อนแล้วค่อยพูด ถ้าหากว่า เรื่องมาถึงแล้วเป็นเรื่องขอให้ใช้มาตรา 44 รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะรัฐบาลใช้อำนาจปกติตามกฎหมายที่มี จึงต้องส่งให้คสช. แต่ตรงนี้เป็นแค่เบื้องต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขอดูรายละเอียดก่อนว่าเขาขอให้ทำอะไร ให้ใครเป็นคนทำ และทำอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นคำแนะนำ รัฐบาลก็คงจะดูว่า ในส่วนของรัฐบาลทำอะไรเองได้บ้างหรือไม่ บางทีรัฐบาลอาจจะทำอะไรไม่ได้ แต่หากทำได้แล้วเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็ยินดี”

…เห็นคำตอบบ้างหรือยังว่าเรื่องนี้จะดำเนินไปในทิศทางใด

ด้วยประการฉะนี้ สุดท้ายแล้ว ธมฺมชโย ปาริโก โหติ อสงฺวาโส หรือพระธัมมชโยผู้ต้องอาบัติปาราชิกเป็นผู้หาสังวาสไม่ได้ จึงยังคงเป็น พระเทพญาณมหามุนี(ไพบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต่อไป เพราะไม่มีใครสามารถสร้างความระคายเคืองให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น