xs
xsm
sm
md
lg

ม.44รื้อคดีธัมมชโยผู้ตรวจฯชงนายกฯชี้อาบัติ"ปาราชิก"สอบอสส.ถอนฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ตรวจฯชงนายกฯใช้ ม.44 ตั้งกรรมการสอบกรณี"ธัมมชโย"ใช้ชื่อตัวเองซื้อที่ ชี้อาบัติปาราชิก ตามพระลิขิตพระสังฆราช พร้อมให้สอบปมอัยการสูงสุดถอนฟ้อง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

วานนี้ (20ก.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการตรวจสอบ กรณีพระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย และ นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปปท.) ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (อสส.)ในเวลานั้น ที่มีคำสั่งถอนฟ้องคดีที่ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกฟ้องคดีต่อศาลอาญา ในความผิดเกี่ยวกับการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดิน เมื่อปี 2549 และ กรณีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ในฐานเลขาธิการมหาเถรสมาคม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย กฎหมาย ไม่บรรจุวาระการประชุมเกี่ยวกับการปาราชิกของพระธัมมชโย ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช โดยผู้ตรวจฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การลงชื่อซื้อขายที่ดินในนามตนเอง ของพระธัมมชโยนั้น เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดว่า หากเป็นทรัพย์สินของวัดจะต้องมีการลงทะเบียนของวัดไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นทรัพย์สินของวัด แม้ต่อมา พระธัมมชโย จะมีการคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นของวัด แต่ก็ล่วงเลยไปถึง 7 ปี

"ถือว่าการกระทำของพระธัมมชโย ครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานทุจริต ผิดตามกฎหมาอาญา มาตรา 147 และ 157 แม้ภายหลังจะมีการคืนทรัพย์สินให้วัด ก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญาซึ่งสำเร็จไปแล้วกลายเป็นไม่มีความผิด ดังนั้น ในประเด็นนี้ผู้ตรวจจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานพิจารณาว่าการที่นายพชร มีคำสั่งให้ถอนฟ้องเป็น ไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่" เลขาธิการผู้ตรวจกล่าว

ในส่วนของสำนักพระพุทธศาสนานั้น หลังจากสมเด็จพระสังฆราช มีพระลิขิต ฉบับลงวันที่ 26 เม.ย. 1 พ.ค. และ 10 พ.ค.42 ที่ระบุว่า พระธัมมชโย ควรคืนทรัพย์สินให้วัด ซึ่งจะไม่ถือว่ามีโทษ เพราะอาจไม่มีเจตนา และหากไม่ยอมคืนทรัพย์สินดังกล่าว จะถือได้ว่าจงใจเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตัวเอง ซึ่งถือได้ว่าพระธัมมชโย ย่อมไม่เป็นสมณะ ย่อมต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ซึ่งพระลิขิตดังกล่าว ถือว่าเป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตดังกล่าว

แต่ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนา ไม่ได้ดำเนินการตามพระลิขิต จึงถือได้ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาละเลย ไม่ใส่ใจต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์บางรูป ผู้ตรวจฯ จึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อให้ขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิต เช่น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมหาเถรสมาคม ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนา ผู้แทนจาก สนช .และ สปช. ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช หรือไม่

" ในมุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการสืบพยานหลักฐาน รวมถึงพยานหลักฐานในชั้นศาลเห็นตรงกันว่า การที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ลงชื่อตนเองในการซื้อขายที่ดิน เพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของตนเอง ซึ่งที่ดูจากพระลิขิตพระสังฆราช ฉบับวันที่ 26 เม.ย. 42 หากแปลเป็นภาษาชาวบ้าน ก็เหมือนว่าถ้าพระธัมมชโยคืนทรัพย์นั้นเป็นของวัดเสียแต่ตอนนั้น ก็จะไม่มีการเอาผิด แต่กลับไม่มีการคืน สมเด็จพระสังฆราช ก็มีพระลิขิตฉบับต่อๆ มาอีก พระราชรัตนมงคล ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก็ได้แจ้งพระลิขิตนี้ไปยังมหาเถรสมาคม โดยระบุว่า เป็นพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช มหาเถรสมาคม ย่อมต้องสนองพระลิขิต แต่จากข้อเท็จ จริง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักพระพุทธศาสนาฯ ซึ่งทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ยังไม่ได้สนองงานตามพระบัญชาและพระกรณียกิจของสมเด็จพระสังฆราช หรือดำเนินการ ประสานงานกับคณะสงฆ์ในการลงนิคหกรรม ตรวจตราถวายคำแนะนำแก่พระเถรชั้นผู้ใหญ่ ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาเถรสมาคม ให้สนองต่อพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช ซ้ำท้ายที่สุด มติมหาเถรสมาคมที่ออกมากลายเป็นว่า พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระดำริ ทั้งที่ถ้ายึดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระลิขิตที่เป็นพระวินิจฉัย มีผลผูกพันตามกฎหมาย พระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิก แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการด้วยตัวเอง จึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป"

นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ขอให้ตรวจสอบมหาเถรสมาคม ที่มีมติว่าเกี่ยวกับการปาราชิกของพระธัมมชโย ไม่เป็นไปตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช นั้น เห็นว่ากรณีร้องเรียนดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ในฐานะพระสังฆธิการในการพิจารณาวินิจฉัยในกิจการของคณะสงฆ์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2535 จึงไม่ใช่เรื่องร้องเรียน อันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจบริหารที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเข้าไปมีอำนาจพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น