xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชงนายกฯ สอบ “พชร” เมินฟ้อง “ธัมมชโย” ชี้ใช้ชื่อซื้อที่ดินผิด กม.ชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลง “ธัมมชโย” ใช้ชื่อซื้อขายที่ดิน ผิด พ.ร.บ.สงฆ์ แม้จะคืนในภายหลังแต่ก็ผ่านไปตั้ง 7 ปี ยันครบองค์ประกอบความผิด จ่อส่งหนังสือถึง “ประยุทธ์” พิจารณาตั้งทีมสอบอดีตอัยการสูงสุดถอนฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนสำนักพุทธฯ ส่อละเลยพระลิขิตสอยเจ้าอาวาสวัด แนะใช้อำนาจ ม.44 ตั้งคณะกรรมการร่วมคฤหัสถ์ บรรพชิต ศึกษาพระธรรมวินัย และชำระสมภารวัดพระธรรมกายต้องปาราชิกตามพระลิขิตหรือไม่ แต่ชี้ชัดพระลิขิตคือกฎหมาย และต้องพ้นผ้าเหลือง

วันนี้ (20 ก.ค.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการตรวจสอบกรณีพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย และนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปปท.) ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณี นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (อสส.) ในเวลานั้นที่มีคำสั่งถอนฟ้องคดีที่พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกฟ้องคดีต่อศาลอาญา ในความผิดเกี่ยวกับการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดิน เมื่อปี 2549 และกรณีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ในฐานเลขาธิการมหาเถรสมาคม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่บรรจุวาระการประชุมเกี่ยวกับการปาราชิกของพระธัมมชโย ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช โดยผู้ตรวจฯพิจารณาแล้วเห็นว่า การลงชื่อซื้อขายที่ดินในนามตนเอง ของพระธัมมชโยนั้น เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2535 ที่กำหนดว่าหากเป็นทรัพย์สินของวัดจะต้องมีการลงทะเบียนของวัดไว้เป็นหลักฐาน ว่าเป็นทรัพย์สินของวัด แม้ต่อมาพระธัมมชโยจะมีการคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นของวัดแต่ก็ล่วงเลยไปถึง 7 ปี

“ถือว่าการกระทำของพระธัมมชโยครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานทุจริต ผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 147 และ157 แม้ภายหลังจะมีการคืนทรัพย์สินให้วัด ก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญาซึ่งสำเร็จไปแล้วกลายเป็นไม่มีความผิด ดังนั้น ในประเด็นนี้ผู้ตรวจจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานพิจารณาว่าการที่นายพชร มีคำสั่งให้ถอนฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” เลขาธิการผู้ตรวจฯ กล่าว

เลขาธิการผู้ตรวจฯ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักพระพุทธศาสนานั้น หลังจากสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิต ฉบับลงวันที่ 26 เม.ย., 1 พ.ค. และ 10 พ.ค. 2542 ที่ระบุว่าพระธัมมชโยควรคืนทรัพย์สินให้วัด ซึ่งจะไม่ถือว่ามีโทษเพราะอาจไม่มีเจตนา และหากไม่ยอมคืนทรัพย์สินดังกล่าว จะถือได้ว่าจงใจเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตัวเอง ซึ่งถือได้ว่าพระธัมมชโยย่อมไม่เป็นสมณะ ย่อมต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุ ซึ่งพระลิขิตดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตดังกล่าว แต่ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนาไม่ได้ดำเนินการตามพระลิขิต จึงถือได้ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาละเลย ไม่ใส่ใจต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์บางรูป ผู้ตรวจฯจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เพื่อให้ขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมหาเถรสมาคม ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนา ผู้แทนจากสนช.และสปช. ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่

“ในมุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการสืบพยานหลักฐาน รวมถึงพยานหลักฐานในชั้นศาลเห็นตรงกันว่า การที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายลงชื่อตนเองในการซื้อขายที่ดิน เพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของตนเอง ซึ่งที่ดูจากพระลิขิตพระสังฆราชฉบับวันที่ 26 เม.ย. 42 หากแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็เหมือนว่า ถ้าพระธัมมชโยคืนทรัพย์นั้นเป็นของวัดเสียแต่ตอนนั้นก็จะไม่มีการเอาผิด แต่กลับไม่มีการคืน สมเด็จพระสังฆราชก็มีพระลิขิตฉบับต่อๆ มาอีก พระราชรัตนมงคล ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก็ได้แจ้งพระลิขิตนี้ไปยังมหาเถรสมาคม โดยระบุว่าเป็นพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช มหาเถรสมาคมย่อมต้องสนองพระลิขิต แต่จากข้อเท็จจริงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักพระพุทธศาสนาฯ ซึ่งทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ยังไม่ได้สนองงานตามพระบัญชาและพระกรณียกิจของสมเด็จพระสังฆราช หรือดำเนินการ ประสานงานกับคณะสงฆ์ในการลงนิคหกรรม ตรวจตราถวายคำแนะนำแก่พระเถรชั้นผู้ใหญ่ ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาเถรสมาคมให้สนองต่อพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช ซ้ำท้ายที่สุดมติมหาเถรสมาคมที่ออกมากลายเป็นว่า พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระดำริ ทั้งที่ถ้ายึดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระลิขิต ที่เป็นพระวินิจฉัยมีผลผูกพันตามกฎหมาย พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการด้วยตัวเองจึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป” เลขาธิการผู้ตรวจฯ กล่าว

นายรักษเกชากล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ขอให้ตรวจสอบมหาเถรสมาคมที่มีมติว่าเกี่ยวกับการปาราชิกของพระธัมมชโยไม่เป็นไปตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชนั้น เห็นว่ากรณีร้องเรียนดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ในฐานะพระสังฆธิการในการพิจารณาวินิจฉัยในกิจการของคณะสงฆ์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2535 จึงไม่ใช่เรื่องร้องเรียน อันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจบริหารที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเข้าไปมีอำนาจพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น