ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใครไม่รู้ให้นิยามกับพฤติกรรมตำรวจบางคนที่ทำงานไม่เข้าตา แถมออกมาในทางน่าขัดอกขัดใจว่า เป็นเพราะความไม่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาในวิชาชีพ หรือความไม่เอาไหน ไร้น้ำยา ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าช่างเป็นมุมมองที่สะท้อนภาพความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอย่างยิ่ง
ย้อนกลับไปวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา หากไม่มีกรณีของ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. ที่ถูกคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. หักด่านไม่ยอมเยียวยาตามคำสั่งศาลปกครอง ก็คงมีการวิเคราะห์เจาะลึกถึงโผการแต่งตั้งนายพลนอกฤดู ตีแผ่ให้สังคมมองเห็นความเหมาะสม หรือความพิลึกพิลั่นกับวิธีคิดของนายตำรวจระดับ “พลเอก”ว่าเขาจัดการบริหารบุคคลกรในองค์กรสีกากีกันอย่างไร
วันนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาเป็นประธาน พร้อมกับคณะ ก.ตร. ครบชุด เว้นแต่ พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ จริตเอก รอง ผบ.ตร. ฝ่ายปราบปราม ขอลาป่วยอย่างกระทันหัน
ตำแหน่งต่างๆ ที่พิจารณามีทั้งระดับ รอง ผบช. และ ผบก. รายชื่อที่น่าสนใจคนแรกคือ พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ ฉันทวรลักษ์ ผบก.ประจำ บช.ก. นรต. 38 อดีตผู้การ 191 ซึ่งทราบกันดีว่า เป็นเด็กในคาถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการโหวตจาก ก.ตร. ให้เลื่อนขึ้นเป็นรองผบช.จเรตำรวจ ถ้ามองแง่บวก ต้องยกเป็นสปิริตตำรวจลายพรางที่ยังให้ความชอบธรรมกับตำรวจต่างค่าย ให้มีโอกาสเติบโตกันตามปกติ หรือเข้าข่ายยึดหลักปรองดองสมานฉันท์กันไปโน่น
แต่ถ้ามองกันติดลบ ก็ต้องกล่าวหาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้การโยกย้ายซูเอี๋ยกับอำนาจเก่า ซึ่งจะคิดกันมุมใดคงห้ามกันไม่ได้ ตำแหน่งต่อมา คือ การกระโดดค้ำถ่อของ พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบก.น.3 มาเป็น ผบก.ตำรวจน้ำ
ถามว่า ตำแหน่ง ผบก.น.3 กับ ผู้การตำรวจน้ำ อย่างไรดีกว่ากัน ก็ต้องตอบย่างไม่ต้องติดว่า ตำแหน่งผู้การตำรวจน้ำ ต้องดีกว่าแน่นอนทั้งในเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่ เรื่องการจัดตั้งงบประมาณประจำปี และการหลุดพ้นจากวังวนของปัญหามากมาย ซึ่งปัจจุบันตำรวจท้องที่มีแต่งานให้รับผิดชอบ ส่วน “เงิน” หมดยุครุ่งเรืองอีกต่อไป เผลอๆ อาจจะซวยถูกหวยวันใดวันหนึ่งก็เป็นได้
ผู้การสมประสงค์ เป็นใครมาจากไหน ประวัติย่อๆ จากข่าวเขาบอกว่า เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่น 42 อดีตนายเวร พล.ต.อ.สมชาย มิลินทางกูร สายตรง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายสุดเลิฟของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งว่ากันว่าไม่มีอำนาจใดอีกแล้วในแวดวงตำรวจที่จะเบ่งบาน เป็นซุปเปอร์พาวเว่อร์ เทียบเท่ากับบ้านฟาร์มโชคชัย (4)
เรื่องนี้มองเผินๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่อดพูดถึงไม่ได้ก็คือ ตำแหน่ง ผบก.รน. หรือผู้บังคับการตำรวจน้ำ ในอดีตเคยถูกมองว่าเป็นขุมทรัพย์กันมาแล้ว ทั้งน้ำมันเถื่อน ของหนีภาษี และบทพิสูจน์ ก็คือกรณีของ พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อนอดีต ผบก.รน. 1 ในเครือข่ายเจ้าพ่อสอบสวนกลางพล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ ดังนั้น การนำนายตำรวจที่มีความใก้ลชิดมากำกับดูแลหน่วยงานที่ขึ้นชื่อเคยเป็นขุมทรัพย์มาก่อนก็จำเป็นต้องมีผลงานปราบปรามขบวนการผิดกฏหมายให้เห็นเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง หาไม่แล้วก็คงไม่พ้นนิยายเรื่องนกกระสาตัวใหม่
ตำแหน่งที่คาใจที่สุด และต้องการคำชี้แจงถึงเหตุผลอย่างเป็นที่สุดก็คือ การสลับ พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง หรือ "โอ๋ สืบ 6" จาก ผบก.อก.สพฐ .ตร. มาเป็น ผบก.กองวินัย
ประวัติของ "โอ๋ สืบ 6" มีความเป็นมาอย่างไรคงไม่ต้องอธิบายกันมาก แต่ภายหลังคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. มีมติเห็นชอบไปแล้ว วันเดียวกันที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.2314/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 และผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ในฐานะผู้เสียหายเป็นโจทก์ และโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง หรือ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา หรือ โอ๋ สืบ 6 เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สร้างความเสียหายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาร่วมกันกระทำ หรือกระทำการใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 ประกอบมาตรา 83 และ 90
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษา เมื่อวันที่ 23 พ.ค.51 ว่าจำเลยมีความผิด มาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาทแต่ไม่เคยปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อน จึงรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์พิจารณายืนตามศาลชั้นต้น
ส่วนคำสั่งศาลฎีกา ระบุว่า จากการตรวจสำนวนแล้วจำเลยต่อสู้ว่า นายต่อตระกูล ยมนาค อนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. กระทำการขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2550 และระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยการฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน 2547 กรณีที่นายต่อตระกูล นำแผ่นวีซีดี. ที่บันทึกภาพเหตุการณ์ที่จะเป็นหลักฐานไปให้กับสถานีโทรทัศน์ เอเอส.ทีวีฯ นั้น เห็นว่าการนำวีซีดี. หลักฐานไปให้กับโจทก์ร่วม และสถานีโทรทัศน์เอเอส.ทีวี ได้กระทำก่อนที่ นายต่อตระกูล จะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ขณะที่จำเลยก็ไม่ได้ต่อสู้หรือโต้แย้งในประเด็นนี้แต่แรก และในการไต่สวน ป.ป.ช. เปิดโอกาสให้จำเลยนำเสนอพยานหลักฐานเข้าต่อสู้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น จำเลยยังเป็นนายตำรวจยศ พ.ต.อ. จึงยากที่ใครจะมากลั่นแกล้ง
ขณะที่การไต่สวนในชั้นป.ป.ช. ยังมีหลักฐานที่เป็นแผ่นวิซีดี บันทึกภาพ และเสียง ขณะที่มีการสนทนาของจำเลย และกลุ่ม นายจรัล จงอ่อน กับพวกซึ่งเป็นจำเลยอยู่ในเหตุการณ์ โดยมีการพูดคุยกันจริงตามภาพบันทึกเหตุการณ์ เมื่อพิจารณาคำพูดในแผ่นวีซีดี. แล้วจำเลยเคยรู้จัก และมีอำนาจสั่งการเหนือนายจรัล กับพวกมาก่อน เชื่อได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็น เพราะอยู่ในพื้นที่และสถานการณ์เดียวกัน การที่ นายจรัล กับพวกซึ่งไมมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ทำร้ายผู้อื่นโดยจำเลยไม่เข้าระงับเหตุการณ์ จึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สร้างความเสียหายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 157 คำให้การของจำเลย ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน
อ่านกันชัดๆ เสร็จแล้วคงต้องย้อนไปดูมติ ก.ตร. กันอีกครั้ง
มีข้อมูลน่าตกใจยิ่งไปกว่าก็คือ ในที่ประชุมแต่งตั้งนายพลนอกฤดู เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เป็นผู้นำชื่อ “โอ๋ สืบ 6”เสนอต่อที่ประชุม ก.ตร. โดย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่มี ก.ตร. ท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า อาจจะมีปัญหาในภายหลัง เพราะ พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง หรือ โอ๋ สืบ 6 มีประวัติต้องคดีตามมาตรา 157 ทำให้ขาดความเหมาะสม เพราะงานหลักของกองวินัยตำรวจ ควรมีนายตำรวจภาพลักษณ์ หรือความประพฤติที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ แต่มติส่วนใหญ่กลับมองว่า ไม่มีปัญหาอะไร กลุ่มผู้สนับสนุนยังคงเดินหน้าต่อไป
มาถึงวันนี้ก็คงต้องมองกลับไปยังส่วนบนของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตกลงว่า หลักการทำงานและหลักการบริหารบุคคลากร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สตช. และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ท่านมีวิสัยทัศน์ หรือต้องการให้องค์กรตำรวจเดินหน้าไปในทิศทางใด
ความวิปริต อาเพศที่เกิดขึ้น จะบอกว่าเป็นเพราะขาดข้อมูล ไม่เอาไหน ไร้น้ำยา หรือไม่ซื่อสัตย์ เชื่อว่าพฤติการณ์ต่างจะเป็นตัวให้สังคมเป็นผู้ชี้
กรณีของ “โอ๋ สืบ 6”เมื่อศาลฎีกา เห็นพ้องตามศาลอุทธรณ์คือ ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญาไว้ 2 ปี เรื่องราวต่างๆ จะกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง และแน่นอนว่า เมื่อส่งไปยังกองวินัยตำรวจ ซึ่ง “โอ๋ สืบ 6”เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่นั่น ผลจะเป็นอย่างไร ใครสั่งสอบใคร ตัดสินลงโทษหรือบรรเทาโทษกันอย่างไร สังคมสีกากี คงปั่นป่วนหาคำตอบหาความน่าเชื่อถือ ให้กับคนไทยทั้งประเทศไม่ได้
สุดท้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นได้แค่ “สำนักงานตำรวจแห่งตำบล”หลากหลายเรื่องราวกลายเป็นเรือที่วนอยู่ในกะลา ปฏิรูปก็ยังไม่ทำ พฤติกรรมเก่าๆ ยังพอกพูนไม่มีวันจบสิ้น...นี่ยังไม่รวมเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ท่านไม่หือ ไม่อือ ไม่แคร์อะไรอีกต่อไปแล้ว
อย่าบอกนะว่า เรื่องถอดยศ “ทักษิณ”เมื่อไม่มี ผบ.ตร. หน้าไหนกล้าตัดสิน สุดท้ายจะมาตกในมือ“โอ๋ สืบ 6”