ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทำท่าจะจอดตั้งแต่ยังไม่ทันได้แจว สำหรับโปรเจ็กต์ “เรือดำน้ำ” มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทที่จะนำมาเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพเรือไทย ซึ่งแม้ว่า พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ยังสงวนท่าทีว่าเป็นการ “ชะลอ” มากกว่าการ “พับแผน” หรือยกเลิกก็ตาม
แต่การที่ “พี่ใหญ่” อย่าง “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ดึงเรื่องไว้โดยไม่ชงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 สัปดาห์ติดต่อกัน หลังจากที่มีการ “จุดพลุ” เรื่องนี้มาเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เท่ากับเป็นการตีอาณัติสัญญาณ “ถอย” อย่างชัดเจน
โดย “บิ๊กป้อม” ให้เหตุผลว่า ต้องการให้กองทัพเรือศึกษาและสร้างการรับรู้ให้ให้ชัดเจนเสียก่อนถึงความคุ้มค่าของงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำ กับผลประโยชน์ทางทะเลมูลค่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี
ส่วน “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า เป็นความต้องการของ “กองทัพเรือ” ที่อยากจะนำข้อมูลที่ศึกษาชี้แจงให้ประชาชน และหลายฝ่ายเข้าใจเสียก่อน
แต่ก็ไม่วายที่จะเอ่ยอ้างถึงคำปาฐกถาพิเศษของ “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตเลขาธิการอาเซียนว่า แม้นายสุรินทร์ไม่ได้เอ่ยถึงเรือดำน้ำ แต่สิ่งที่พูดก็สนับสนุนให้เห็นว่าเรามีความจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อดูแลเส้นทางทางทะเล และผลประโยชน์ทางทะเลของเรา
อย่าลืมว่าปาฐกถาของ “สุรินทร์” กล่าวในงานประชุมทางวิชาการกองทัพเรือครั้งที่ 8 ในหัวข้อบทบาทมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไทย ซึ่งจัดที่หอประชุมกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือเป็นเจ้าภาพ และมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธี
จึงเป็นธรรมดาที่ “องค์ปาฐก” ต้องพูดเชิงสนับสนุนอย่างมีนัยยะเช่นนั้น
ขณะที่ พล.ร.อ.ไกรสร แม้จะต้องยอมถอยตามบัญชาของ “ลูกพี่” แต่ก็ย้ำถึงความจำเป็น ที่กองทัพเรือไทยต้องมี “เรือดำน้ำ” เพื่อปกปักษ์รักษาผลประโยชน์ทางทะเล แต่ไม่ใช่แค่ 2 ล้านล้านบาทตามที่ “บิ๊กป้อม” กล่าวอ้าง แต่มหาศาลถึง 24 ล้านล้านบาทต่อปีต่างหาก
ถึงกับเกทับ “ลูกพี่” เพื่อจะบอกว่า งบ 3.6 หมื่นล้านแค่ขี้ปะติ๋ว
ดูเหมือนท่าทีของ “รัฐบาลทหาร” จะตีธงถอย แต่เหล่าขุนทหารก็ต่างยืนยันถึงความจำเป็นของ “เรือดำน้ำ” จำนวน 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทอย่างหนักแน่นเช่นเดิม โดยเฉพาะ พล.ร.อ.ไกรสร ที่แม้จะสั่งการให้ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วย ผบ.ทร. ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ รับไม้ต่อในการทำเอกสารชี้แจงต่อสาธารณชน และสื่อมวลชน ไปแล้ว
แต่ พล.ร.อ.ไกรสร ก็ย้ำหนักหนาว่า “เราต้องเชื่อใจกัน และเคารพในการทำหน้าที่ของใครของมัน เพราะเรือดำน้ำเป็นผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับมากกว่า เพราะเป็นอาวุธที่มีศักยภาพสูงในการป้องกันทางทะเล ทั้งอ่าวไทย และอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยที่มีพื้นที่กว่า 3 แสนตารางไมล์ จากข้อมูลในการศึกษาของกองทัพเรือพบว่า ผลประโยชน์มีมูลค่ามากถึง 24 ล้านล้านบาท ต่อปี ซึ่งถือว่ามีมูลค่ามหาศาล เมื่อเทียบกับเรือดำน้ำที่จะซื้อจำนวน 3 ลำ มูลค่า แค่ 3.6 หมื่นล้านบาท และสามารถใช้งานได้ถึง 30 ปี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ถือว่าคุ้มค่ามากที่สุด”
ในความเป็นจริงแทบทุกฝ่ายยอมรับว่าการที่ “กองทัพเรือไทย” จะมี “เรือดำน้ำ” เสริมศักยภาพในการดูแลป้องกันประเทศนั้น ก็มีความจำเป็นในระดับหนึ่ง แต่จังหวะเวลาหรือ “ไทม์มิ่ง” ตอนนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ภัยแล้ง ต่างๆนานาที่กำหนดประดังประเดเข้ามา และรัฐบาลเองก็ยังไม่ได้แสดงศักยภาพว่า สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้เลยแม้แต่ปัญหาเดียว จึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาเงินภาษีไปปู้ยี้ปู้ยำในเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์
ซึ่งก็เป็น พล.ร.อ.ไกรสร เองที่ยอมรับโดยดุษฎีว่า “เราเลือกเวลาซื้อผิดไปหน่อยเท่านั้นเอง”
เรื่องของ “เรือดำน้ำ” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการ “โยนหินถามทาง” ตามสไตล์รัฐบาลชุดนี้
ทั้งคำพูดของ ผบ.ทร.และท่าทีของ “บิ๊กทหาร” สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล คสช.ค่อนข้างให้ความสำคัญกับ “กระแสสังคม” ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เมื่อรู้ว่าสังคมไม่เอาด้วยก็ยอมที่พับเก็บโครงการในฝันใส่ลิ้นชัก เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ถึงฝั่งฝันของ “ราชนาวีไทย” ต่อไป
เพราะหากรัฐบาลและกองทัพเชื่ออย่างหนักแน่นเหมือนในช่วงที่มีข่าวออกมาใหม่ๆถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสมของโครงการคงเดินหน้าต่อไป โดยไม่ฟังเสียงทัดทานของสังคม แต่เวลานี้หลายเรื่องยังมะรุมมะตุ้มเป็นปมที่รัฐบาล คสช.ยังคลายไม่ออก การจะเอาเรื่อง “เรือดำน้ำ” มาให้ฝ่ายตรงข้ามล่อเป้าเพิ่มไปอีก ก็ดูจะไม่เป็นผลดี จึงสั่งถอยกลับไปอยู่ในที่ตั้งเสียก่อน
ซึ่งรายงานข่าวจาก “กองทัพเรือ” ระบุว่า จริงๆแล้วโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำประเทศจีน จำนวน 3 ลำ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ยังไม่ได้ล้มหายตายจากไป และคงเดินตามแผนเดิม เพียงแต่ให้มีการเอกสารชี้แจงต่อสาธารณชน เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคม และสร้างความเข้าใจให้กับสื่อมวลชนเสียก่อน ซึ่งขั้นตอนใช้เวลาไม่นาน เพราะกองทัพเรือมีข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียทั้งหมดอยู่แล้ว สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา ครม.เมื่อใดเท่านั้น
เท่ากับว่า ตอนนี้ก็เพียงหยุดรอจังหวะไทม์มิ่งดีๆ คราวนี้มีบทเรียนสำหรับ “ไอ้โม่ง” ที่อยู่หลังฉากแล้วว่า อย่ากระโตกกระตากแบบนี้อีก จะได้ลุล่วงสะดวกโยธินมากกว่าครั้งนี้
ส่วนที่สุดแล้วมี “เรือดำน้ำ” ไว้ให้คนอื่นเกรงใจเพื่อผลประโยชน์ชาติ หรืออยากให้มีการซื้อขายเพื่อผลประโยชน์ใคร
ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป