xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองระงับคำสั่งปิด"พีซทีวี" นัดตัดสินคดีไร่ส้มวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ ( 17ก.ค.) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางจะออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำ ที่ 1141/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 1525/2556 กรณีบริษัทไร่ส้ม จำกัด ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวชื่อดัง เจ้าของบริษัทฯ ยื่นฟ้องบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ศาลสั่งให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ชำระเงินค่าโฆษณาเกินเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมผลิตรายการโทรทัศน์ ในชื่อรายการ "คุยคุ้ยข่าว" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 หรือสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ในช่วงปี 2548-2549 พร้อมส่วนลดคืน เป็นเงิน 253,026,691.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 215,199,633.76 บาท
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวบริษัทไร่ส้มฯได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 51 และต่อมาศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 56 ว่า บริษัทอสมท.ฯ ผิดจริง และให้จ่ายเงินให้กับบริษัทไร่ส้ม เป็นเงิน 55.777 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันถัดจากวันฟ้อง จนชำระเสร็จสิ้นโดยให้ชำระเสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด
ซึ่งแยกเป็นเงิน ชำระค่าส่วนลดทาง การค้าในอัตราร้อยละ 30 จากยอดเงิน 138 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าโฆษณาเกินเวลาที่ อสมท.ได้จากบริษัทไร่ส้ม จำนวน 49 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ย 6.48 ล้านบาทเศษ รวมเป็นเงิน 55.5 ล้านบาท ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินที่ อสมท ใช้เวลาเกินส่วนแบ่งตามข้อตกลง เป็นเงิน 245,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 8,255 บาท รวมเป็นเงิน 253,255 บาท จากที่เรียกไปทั้งหมดกว่า 166 ล้านบาท
หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่จะออกมาในวันนี้ ถือว่าเป็นการปิดฉากคดีนี้ที่มีการต่อสู้กันมานานถึง 8 ปี
อย่างไรก็ตาม ปมเงินค่าโฆษณาดังกล่าวปัจจุบันเป็นคดีอยู่ในศาลอาญา โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนายสรยุทธ นางสาวมณฑา ธีระเดช นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธการตลาด บมจ. อสมท. และผู้ถูกกล่าวหาอื่นรวม 4 ราย ในคดีอาญา ฐานยักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จนได้รับความเสียหาย 138,790,000 บาท ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2502 โดยศาลอาญาให้ประกันตัว นายสรยุทธ ในวงเงินประกัน 2 แสนบาท

**ระงับคำสั่งถอนใบอนุญาตพีซทีวี

วานนี้ (16ก.ค.) ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งทุเลาการบังคับใช้ คำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของ บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม พีซทีวี ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาส่งผลให้ พีซทีวี สามารถกลับมาออกอากาศตามปกติได้
ทั้งนี้ ศาลได้ให้เหตุผลว่า คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตพีซทีวี ของ กสทช. เป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะ กสทช.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่มีผลกระทบต่อสิทธิของ บริษัทพีซ เทเลวิชั่น จำกัด และผู้ฟ้องคดีรวม 6 ราย อย่างร้ายแรง ซึ่งก่อนที่ กสทช.จะออกคำสั่งดังกล่าว จำเป็นที่ต้องให้บริษัทพีซฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงพยานหลักฐานตามข้อ 12 (1) ของประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกากระทำความผิดในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่มีโทษทางปกครอง พ.ศ. 2556 ที่กำหนดว่า ในการรวบรวมข้อเท็จจริงให้ กสทช.แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ถูกร้องเรียนทราบถึงคำร้องเรียน
พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาให้ผู้ถูกร้องเรียนได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาอันควร แต่ไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนดขึ้นเองไว้โดยเฉพาะ และมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ทีก่ำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กสทช. เพียงแต่รวบรวมเอกสารตามคำร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อ กรมทหารสื่อสาร ฉบับลงวันที่ 22 เม.ย. 58 ที่แจ้งว่ารายการ “มองไกล”ซึ่งออกอากาศ เมื่อวันที่18 เม.ย. เวลา 09.00-11.00 น. มีเนื้อหาขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 97/2557 และ ฉบับที่ 103/2557 และได้มีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 58 ถือเป็นการดำเนินการโดยเร่งรัด
"ไม่ปรากฏหลักฐานในสำนวน หรือในชั้นไต่สวนว่า กสทช. ได้เปิดโอกาสให้บริษัทพีซฯได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน จึงถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของ กสทช. ที่ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน และเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30(1) (3) และ (5) นั้น ไม่อาจรับฟังได้ เพราะตามประกาศ กสทช.ฯ มิได้มีข้อยกเว้นให้ กสทช. มีอำนาจพิจารณาเพื่อออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ต้องให้โอกาสคู่กรณีได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานได้ และหากคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ ดังกล่าว ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ย่อมทำให้บริษัทพีซฯ ต้องหยุดให้บริการ มีผลกระทบต่อรายได้ที่จะได้รับจากผู้สนับสนุน และมีผลกระทบต่อพนักงานบริษัท ที่มีประมาณ 100 คนเศษ
ที่จะต้องถูกเลิกจ้าง ทำให้ได้รับความเดือดร้อนยากแก่การเยียวยาแก้ไข แม้ภายหลังจะมีการไปออกอากาศทางอินเตอร์เนต ก็ไม่อาจเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าวได้ และการที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่า จะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือบริการสาธารณะแต่อย่างใด
แต่ทั้งนี้ให้บริษัทพีซฯ ปฏิบัติตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ ฉบับที่ 103/2557 เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และปฎิบัติตามขอบเขต เงื่อนไขการอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ข้อ 14 โดยเคร่งครัด ภายใต้การควบคุมดูแลของ กสทช. ด้วย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำสั่งในครั้งนี้ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้บริหารพีซทีวี ในฐานะผู้ฟ้องคดี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.พ.เหวง โตจิราการ นางธิดา ถาวรรัตน์ นายสมหมาย อัสราษี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก เดินทางมารับฟังคำสั่งกันอย่างพร้อมเพรียง และแสดงความดีใจ เมื่อศาลมีคำสั่งดังกล่าว

** "ตู่"พักรายการ"มองไกล"ผ่านทีวี

นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า คาดว่าทางสถานีจะมีความพร้อมในการกลับมาออกอากาศอีกครั้ง ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ โดยตนได้แจ้งต่อศาลเพื่อแสดงเจตนาไม่ให้ทั้งฝ่ายพีซทีวี หรือ กสทช. รู้สึกว่าใครเป็นฝ่ายแพ้ หรือชนะ รายการ "มองไกล" ที่ตนเป็นผู้ดำเนินรายการ และทำให้พีซทีวี ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก็จะไม่มีการกลับมาออกอากาศทางสถานีพีซทีวีอีก จนกว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่บรรยากาศที่สามารถกลับมาพูดคุยกันได้ แต่จะยังคงออกอากาศทางอินเตอร์เนต ต่อไป และคิดว่า เมื่อตนได้แสดงเจตนาเช่นนี้แล้ว ทาง กสทช. ก็น่าจะพิจารณาในเรื่องการไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
กำลังโหลดความคิดเห็น