xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดพลิกคดี : อสมท.VSบ.ไร่ส้ม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้กลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ได้เคยวินิจฉัยให้ อสมท. คืนเงินค่าส่วนลดทางการค้า 30% ที่บริษัทไร่ส้มได้ชำระเป็นค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาให้กับอสมท. รวมทั้งให้ อสมท.ชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาตามข้อตกลงในสัญญาให้แก่บริษัทไร่ส้ม รวมเป็นเงินกว่า 55 ล้านบาท ถือเป็นการพลิกคดีจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่จากเดิมบริษัทไร่ส้มเป็นฝ่ายชนะคดี กลับกลายเป็นฝ่ายแพ้คดีแทน เหตุผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีนี้จึงน่าสนใจ และยังเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ประกอบกิจการในเรื่องของความสุจริตและตรงไปตรงมา ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นได้ไม่คุ้มเสียดังเช่นในคดีนี้ ที่นอกจากจะเสียชื่อเสียงแล้ว เรื่องยังได้ดำเนินไปถึงการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาอีกด้วย

สำหรับการฟ้องร้องเป็นคดีปกครอง สืบเนื่องจาก อสมท.และบริษัทไร้ส้ม ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์รายการคุยคุ้ยข่าว โดยมีข้อตกลงให้ทั้งสองฝ่ายสามารถขายเวลาโฆษณาในรายการดังกล่าวได้เท่าๆ กัน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา กรณีมีการขายเวลาโฆษณาเกินจากที่กำหนดไว้ในสัญญาสามารถทำได้ แต่ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินให้แก่ อสมท.ตามอัตราที่กำหนดไว้ และต้องมีหนังสือขอซื้อเวลาเพิ่มเติมรวมทั้งขอส่วนลดทางการค้าต่อสำนักการตลาด ของ อสมท.เป็นกรณีไป

ต่อมา อสมท.ได้ตรวจสอบพบว่าบริษัทไร่ส้ม ได้มีการขายโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญามาโดยตลอด และเจ้าหน้าที่ของ อสมท. มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยปกปิดข้อมูล อสมท.จึงได้แจ้งให้บริษัทไร่ส้มชำระเงินค่าโฆษณาที่ขายเกินเวลาให้แก่ อสมท. โดยไม่มีการหักส่วนลด 30%ให้ เนื่องจาก บริษัทไร่ส้ม ไม่ได้มีหนังสือขอซื้อเวลาเพิ่มเติมและขอส่วนลดมายังสำนักการตลาด จากนั้นบริษัทไร่ส้มก็ได้ชำระเงินค่าโฆษณาที่เกินเวลาดังกล่าวให้แก่ อสมท.เต็มจำนวนโดยไม่มีการหักส่วนลด 30 % แต่บริษัทไร่ส้มเห็นว่าค่าโฆษณาส่วนเกินดังกล่าวต้องได้รับส่วนลด 30%ด้วย เพราะแม้ไม่ได้มีหนังสือขอซื้อเวลาและขอส่วนลดแต่บริษัทไร่ส้มก็ได้ส่งใบคิวโฆษณาให้แก่ อสมท.ล่วงหน้าทุกครั้ง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็จะทราบว่ามีรายการโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่งเวลาตามสัญญา อีกทั้งทาง อสมท. เองก็มีการขายโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาเช่นกัน อสมท.จึงต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาดังกล่าวให้แก่บริษัทไร่ส้มด้วยเช่นกัน บริษัทไร่ส้มจึงนำเรื่องมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง

คดีนี้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในประเด็นข้อโต้แย้งของทั้งสองฝ่าย 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก เรื่องเขตอำนาจศาล โดย อสมท. ได้โต้แย้งว่าตนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มิใช่เป็นหน่วยงานทางการปกครอง หรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ที่จะให้การโต้แย้งอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลที่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ต้องดำเนินการในศาลชั้นต้นเท่านั้น อสมท.จึงไม่อาจยกเรื่องอำนาจศาลขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้

ประเด็นที่สองการที่ อสมท.ไม่หักส่วนลดค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาในอัตราร้อยละ 30 ให้บริษัท ไร่ส้ม เป็นการผิดสัญญาหรือไม่ เเละ อสมท. มีหน้าที่ตามสัญญาต้องคืนเงินส่วนลดที่รับชำระมาเเล้วให้บริษัท ไร่ส้มหรือไม่

กรณีนี้ ศาลพิเคราะห์ว่า ในสัญญาไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า การขายเวลาโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา จะได้รับส่วนลดหรือไม่ ในอัตราใด จึงเป็นเรื่องที่นอกเหนือข้อกำหนดในสัญญาที่ต้องตกลงกันเป็นกรณีไป ซึ่งในข้อเท็จจริงบริษัทไร่ส้มได้มีการโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญามาโดยตลอด และส่งเพียงใบคิวโฆษณาให้ฝ่ายออกอากาศโทรทัศน์ แต่ไม่มีหนังสือขอซื้อเวลาและขอส่วนลดมายังสำนักการตลาด ทั้งที่ก็ได้เคยทำหนังสือขอซื้อเวลาและขอส่วนลดแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งใบคิวเป็นเอกสารที่มีเพียงรายการและเวลาโฆษณา ไม่มีลายมือชื่อผู้รับผิดชอบ จึงไม่อาจถือเป็นหนังสือหรือเอกสารการซื้อเวลาโฆษณาและขอส่วนลดทางการค้าได้ อีกทั้งเมื่ออสมท. ตรวจพบและมีหนังสือเรียกให้ชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลา บริษัทไร่ส้มก็ได้ชำระเต็มจำนวนโดยไม่มีการโต้แย้งเรื่องส่วนลดในขณะนั้น ซึ่งหากเห็นว่าตนมีสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับส่วนลดก็สามารถที่จะชำระเงินโดยหักส่วนลดไว้ และให้ อสมท.ใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเองได้ การชำระเงินเต็มจำนวนของบริษัทไร่ส้มย่อมแสดงว่าไม่ติดใจในส่วนลดทางการค้าดังกล่าว เมื่อในสัญญาทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้มีการหักส่วนลดทางการค้า บริษัทไร่ส้มจึงไม่มีสิทธิที่จะได้ส่วนลดทางการค้าดังกล่าว ดังนั้นการที่ อสมท. ไม่หักส่วนลดค่าโฆษณาที่เกินเวลาให้บริษัทไร่ส้ม จึงไม่เป็นการผิดสัญญา และ อสมท. จึงไม่ต้องคืนเงินค่าส่วนลดดังกล่าวแก่บริษัทไร่ส้ม

ประเด็นที่สามอสมท.มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องชำระค่าโฆษณาที่เกินส่วนแบ่งเวลาตามสัญญาให้แก่บริษัทไร่ส้มหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลเห็นว่า แม้ตามสัญญากำหนดให้มีการแบ่งเวลาโฆษณาระหว่างคู่สัญญาในสัดส่วนเท่าๆกัน แบบไทม์แชร์ริ่ง (Time Sharing) คือ 50:50ซึ่งหมายถึงการที่ อสมท.ตกลงให้บริษัทไร่ส้มผลิตรายการเพื่อออกอากาศโดยไม่ต้องชำระค่าเช่าเวลา โดยมีข้อตกลงแบ่งเวลาให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจำหน่ายเวลาโฆษณาได้ในเวลาที่เท่าเทียมกัน โดยแต่ละฝ่ายจะจำหน่ายในราคาใดก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา รวมทั้งสามารถจำหน่ายเวลาโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดในสัญญาได้ โดยจะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินตามอัตราที่กำหนดในสัญญา

กรณี อสมท. ซึ่งมีการขายโฆษณาเกินเวลาเช่นเดียวกันนั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดในสัญญาข้อใดที่จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินให้แก่บริษัทไร่ส้มคู่สัญญา ทั้งนี้เพราะ อสมท. เป็นเจ้าของสถานีและเป็นเจ้าของเวลาออกอากาศ ซึ่งถือเป็นการใช้เวลาออกอากาศของ อสมท. เอง ทั้งการขายโฆษณาที่เกินเวลาของ อสมท. ก็ไม่ได้กระทบกับเวลาที่บริษัทไร้ส้มได้รับสิทธิตามสัญญา และมีผลกระทบกับการบริหารจัดการเวลาของอสมท.เองเท่านั้น กรณีจึงมิใช่การล้ำเข้าไปในเวลาโฆษณาของบริษัทไร่ส้มตามคำฟ้อง ดังนั้น อสมท.จึงไม่ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาตามสัญญาให้แก่บริษัทไร่ส้ม

ประเด็นสุดท้ายคือบริษัทไร่ส้มจะต้องชำระเงินค่าส่วนลดทางการค้าของค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาในกรณีเดือน ก.ค.2549ให้แก่ อสมท.หรือไม่ ศาลเห็นว่า แม้บริษัทไร่ส้มจะไม่แจ้งขอซื้อเวลาโฆษณาเพิ่มเติมและขอส่วนลดไปยังสำนักการตลาด แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการทำสัญญาโฆษณาของเดือน ก.ค.2549โดยมีข้อกำหนดว่า อสมท. ตกลงยินยอมให้ส่วนลดทางการค้าแก่บริษัทไร่ส้ม และแม้จะพบว่าสัญญาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของ อสมท.ได้เป็นผู้เสนอให้ส่วนลดทางการค้าแก่บริษัทไร่ส้ม ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของ อสมท.ก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้สัญญาที่ตกลงกันแล้วเป็นโฆษะ ซึ่ง อสมท. ก็ได้ฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวต่อศาลแพ่งเพื่อให้รับผิดชดใช้เงินดังกล่าวแล้ว ดังนั้น บริษัทไร่ส้มจึงไม่ต้องชำระเงินค่าส่วนลดทางการค้าเฉพาะของเดือน ก.ค.2549 ให้แก่ อสมท.(คดีหมายเลขแดงที่ อ.697/2558)

เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์สำคัญในเรื่องของความโปร่งใสและตรงไปตรงมาของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น