xs
xsm
sm
md
lg

"สุรินทร์"หนุนกองทัพเพิ่มศักยภาพ รองรับยุทธศาสตร์ศก.-ความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 ก.ค.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานเปิดงาน การประชุมทางวิชาการกองทัพเรือ ครั้งที่ 8 เรื่องบทบาทมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทย โดยมี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ร่วมปาฐกถาพิเศษ
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความสลับซับซ้อน รวมถึงระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีแนวโน้มว่า มีหลายขั้วอำนาจมากขึ้น ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความสำคัญต่อนานาประเทศ ทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเป็นภูมิภาคที่โอบล้อมด้วยมหาสมุทรรองรับเส้นทางการเดินเรือ ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงาน และอาหารที่สำคัญ จึงทำให้ประเทศมหาอำนาจ มุ่งเข้ามาแสดงบทบาทในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
สถานการณ์เช่นนี้ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญของกองทัพเรือ ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม และให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากทะเล
นายสุรินทร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า กองทัพต้องพัฒนาศักยภาพทางทหารในอนาคต จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ซึ่งประเทศไทย มีสภาวะเศรษฐกิจในภาวะล่อแหลม ต้องติดกับดักจนเป็นประเทศที่มีรายได้เศรษฐกิจปานกลาง และจะอยู่ในสภาพนี้ไปอีกนาน ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมโดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะขายแต่แรงงานด้อยประสิทธิภาพอีกต่อไปไม่ได้ และตัองเร่งพัฒนาขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจให้ได้
ส่วนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนั้น สืบเนื่องจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เศรษฐกิจกำลังมุ่งไปสู่จีน กับอินเดีย และเราในฐานะอาเซียน ต้องเป็นหนึ่งเพื่อแย่งเอามูลค่าเศรษฐกิจ และการลงทุนมาที่อาเซียนให้ได้
นายสุรินทร์ กล่าวว่า จากการประชุมที่ได้เข้าร่วมที่ประเทศจีน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้ได้รับรู้ว่า อาเซียนมีความสำคัญกับเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คิดไว้ ทุกๆประเทศมหาอำนาจในโลก ก็อยากมาเป็นหุ้นส่วน และมีความสำคัญในภูมิภาคอาเซียน
นายสุรินทร์ ได้ให้ความเห็นทิ้งท้าย การปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ ว่า ประเทศไทยอยู่ในระหว่าง 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก บริเวณช่องแคบมะละกา เป็นจุดสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีการขนส่งสินค้า ที่ถืออยู่ในระดับสูงสุด ร้อยละ 58 ของเศรษฐกิจโลก อยู่ที่นี่ การดูแลพื้นที่ดังกล่าว จึงมีความจำเป็น และไทยเองอยู่ในส่วนนั้นด้วย โดยเฉพาะบริเวณอันดามัน ระยอง และ ประจวบคีรีขันธ์ ที่จะต้องดูแลความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า
นอกจากนี้ทรัพยากรทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก มีทรัพยากรอยู่จำนวนมาก ส่วนประเทศมหาอำนาจต่างจับจ้องที่จะเข้ามามีส่วนร่วม และการประชุม 18 ประเทศอาเซียน ที่มีนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุม เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทางอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ก็ได้ประกาศว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล เพราะเห็นว่ามีทรัพยากรทางทะเลจำนวนมาก และพื้นที่เกาะมากกว่า 1 หมื่น 7 พันเกาะ
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวอีกว่า ผู้นำอาเซียนในอนาคตจะเผชิญกับประเด็นใหญ่ 2 ประเด็นคือ ปัญหาโรฮีนจา ที่มีประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคน ที่ยังไม่มีสัญชาติ ที่จะทำให้ช่องแคบมะละกา เกิดปัญหาคล้ายโจรสลัดโซมาเลีย ที่ดักปล้นเรือสินค้า โดยขณะนี้ต่างชาติกำลังเพ่งเล็งอาเซียนอยู่ว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งถือเป็นบททดสอบทางด้านความมั่นคงของผู้นำอาเซียน
สำหรับปัญหาทะเลจีนใต้ ที่มีปัญหาระหว่างหลายประเทศนั้น หากไม่แก้ปัญหา จะกลายเป็นปาเลสไตน์ ที่มีการแย่งพื้นที่ และทรัพยากรระหว่างกัน ซึ่งในเวทีอาเซียนแต่ละครั้ง จีนพยายามยกเรื่องนี้ให้เป็นการพูดคุยแค่เฉพาะประเทศคู่กรณี ในน่านน้ำทะเลจีนใต้เท่านั้น แต่ประเทศสมาชิกของผู้นำอาเซียน จะหยิบยกมาหารือในวงประชุมอาเซียนทุกครั้ง ซึ่งแม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้งก็ตาม แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบตามมา ในขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ต่างเตรียมรับมือ โดยมีการพัฒนาขีดความสามารถ และศักยภาพทางกองทัพ และยุทโธปกรณ์ เช่น การมีเรือดำน้ำ เป็นต้น ส่วนไทยวันนี้ต้องถามว่า ควรที่จะมีแล้วหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายสุรินทร์ได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยควรสร้างอำนาจต่อรองกับต่างประเทศ ทั้งความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และการสร้างทรัพยากรมนุษย์ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในเวทีระหว่างประเทศให้ความสนใจในการสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนระหว่างกัน
" เราไม่มีเรื่องกับใคร แต่ต้องประคองตัวให้เรามีศักยภาพ ให้เพื่อนมีความเคารพนับถือ ยำเกรงเรา และสามารถมีอำนาจต่อรอง รวมถึงทำให้เห็นว่า เรารับมือได้หากมีการรบ แต่เราก็ไม่เคยคิดที่จะรุกรานใคร เพียงแต่รักษาอธิปไตย ที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุดเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นภารกิจที่ทหารเรือตัองดำรงหน้าที่นี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป ถ้าเราจะให้ประเทศเดินหน้าต้องเลิกเล่นกีฬาสี การเมืองภายในประเทศต้องเลิก เราต้องมียุทธศาสตร์ในการที่จะดึงประโยชน์ของประเทศให้เทียบกับในภูมิภาคได้แล้ว คำถามคือ วันนี้เราพร้อมที่จะเล่นเกมนี้ไหม ที่ทุกอย่างของโลกต่างมาบรรจบกันในเวทีอาเซียน และประเทศไทย หากจะไปถึงจุดนั้นต้องใช้ความพร้อมอย่างไรบ้าง เราห้ามไม่ให้กระแสโลกาภิวัฒน์มาที่เราไม่ได้ เราหยุดอนาคตที่ไม่แน่นอนไม่ได้ เสด็จเตี่ย บิดาแห่งกองทัพเรือ เคยบอกว่า วันนี้เราเคราะห์ดี แต่ต่อไปจะเป็นอย่างไร เราไม่รู้ แต่ถึงไม่รู้ก็ต้องเดินไป อนาคตกำลังมา เราต้องเตรียมพร้อม พัฒนาบุคลากรให้ดีเยี่ยม คนดีมีความรู้ ต้องได้แสดงบทบาท พร้อมที่จะอยู่ในเวทีประชาคมโลกให้ได้อย่างสมภาคภูมิ" อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว
ทั้งนี้ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ประเทศไทยอยู่ในระหว่าง 2 มหาสมุทรใหญ่ คือมหาสมุทรแปซิฟิก และ มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีบริเวณช่องแคบมะละกา เป็นจุดสำคัญในการส่งออกจากตะวันออกกลาง ไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และส่งออกจากเอเชียแปซิฟิกไปยังยุโรป จุดสำคัญจุดนี้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะศักยภาพของกองทัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเท่าที่จำเป็น ประเทศไทยในพื้นที่ทางทะเล ตั้งแต่จังหวัดระนอง จนถึงสตูล เป็นเสมือนบริเวณช่องแคบมะละกา เช่นกัน ดังนั้นกองทัพ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเหมาะสม
เมื่อถามถึงความจำเป็นที่กองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทางกองทัพ และหน่วยงานด้านความมั่นคง จะต้องศึกษา และวิเคราะห์ให้ดี โดยคำนึงถึงภารกิจระหว่างประเทศ และเสถียรภาพว่า จะสามารถเพิ่มสมรรถนะในส่วนนี้ให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ได้อย่างไร รวมถึงความรับผิดชอบ และการดูแล ซึ่งในอดีตเราเคยมีเรือดำน้ำแล้ว และนำไปต่อที่ญี่ปุ่น ซึ่งอยากให้กองทัพพัฒนาศักยภาพให้รอบด้าน โดยเฉพาะบุคลากร ว่ามีความรู้ความสามารถแค่ไหน เพราะปัจจุบันโลกวิวัฒนาการไปมาก การรักษาทรัพยากรทางทะเล จึงจะต้องดูแล โดยประเทศไทยต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น