xs
xsm
sm
md
lg

ทร.ถกบทบาทมหาอำนาจ “สุรินทร์” ย้ำพัฒนากองทัพ ศึกษาเรือดำน้ำให้ดี จี้เคลียร์อุยกูร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แฟ้มภาพ)
ผบ.ทัพเรือเปิดประชุมวิชาการ ทร. ถกบทบาทมหาอำนาจที่มีผลต่ออาเซียน-ไทย รับยุคนี้มีหลายขั้วอำนาจหวังแสดงบทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญทั้งความมั่นคง-ศก. ทร.ต้องรักษาผลประโยชน์ชาติ “สุรินทร์” ย้ำกองทัพต้องพัฒนาศักยภาพ ชี้ซื้อเรือดำน้ำต้องวิเคราะห์ให้ดีเพิ่มสมรรถนะให้ต่างประเทศยอมรับอย่างไร แนะแจงสังคมโลกปมอุยกูร์ ชี้ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ เชื่อเลขาฯ สมช.ไปจีนเป็นเรื่องดี แต่ระวังกระทบกิจการภายในจีน

วันนี้ (14 ก.ค.) ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานเปิดงาน การประชุมทางวิชาการกองทัพเรือ ครั้งที่ 8 เรื่องบทบาทมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคเชียตะวันออกเฉียงใต้และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทย โดยมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ร่วมปาฐกถาพิเศษ ณ หอประชุมกองทัพเรือ

ผู้บัญชาการทหารเรือกล่าวว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อน รวมถึงระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีแนวโน้มว่ามีหลายขั้วอำนาจมากขึ้น ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความสำคัญต่อนานาประเทศ ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเป็นภูมิภาคที่โอบล้อมด้วยมหาสมุทรรองรับเส้นทางการเดินเรือ ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานและอาหารที่สำคัญ จึงทำให้ประเทศมหาอำนาจ มุ่งเข้ามาแสดงบทบาทในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญของกองทัพเรือ ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากทะเล

นายสุรินทร์ ปาฐกถาพิเศษว่า กองทัพต้องพัฒนาศักยภาพทางทหารในอนาคต จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลา ประเทศไทยมีสภาวะเศรษฐกิจในภาวะล่อแหลมต้องติดกับดักจนเป็นประเทศที่มีรายได้เศรษฐกิจปานกลาง และจะอยู่ในสภาพนี้ไปอีกนาน ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมโดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ เราจะขายแต่แรงงานด้อยประสิทธิภาพอีกต่อไปไม่ได้ และต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจให้ได้ ส่วนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนั้น สืบเนื่องจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ที่เศรษฐกิจกำลังมุ่งไปสู่จีนกับอินเดีย และเราในฐานะอาเซียนต้องเป็นหนึ่งเพื่อแย่งเอามูลค่าเศรษฐกิจและการลงทุนมาที่อาเซียนให้ได้

นายสุรินทร์กล่าวว่า จากการประชุมที่ได้เข้าร่วมที่ประเทศจีนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้ได้รับรู้ว่าอาเซียนมีความสำคัญกับเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คิดไว้ ทุกๆ ประเทศมหาอำนาจในโลกก็อยากมาเป็นหุ้นส่วนและมีความสำคัญในภูมิภาคอาเซียน

นายสุรินทร์ได้ให้ความเห็นตอนท้ายการปาฐกถาพิเศษว่า ประเทศไทยอยู่ในระหว่าง 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก บริเวณช่องแคบมะละกา เป็นจุดสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีการขนส่งสินค้า ที่ถืออยู่ในระดับสูงสุด ร้อยละ 58 ของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่นี่ การดูแลพื้นที่ดังกล่าวจึงมีความจำเป็นและไทยเองอยู่ในส่วนนั้นด้วย โดยเฉพาะบริเวณอันดามัน ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ ที่จะต้องดูแลความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ทรัพยากรทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก มีทรัพยากรอยู่จำนวนมาก ส่วนประเทศมหาอำนาจต่างจับจ้องที่จะเข้ามามีส่วนร่วม และการประชุม 18 ประเทศอาเซียนที่มีนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทางอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ก็ได้ประกาศว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล เพราะเห็นว่ามีทรัพยากรทางทะเลจำนวนมากและพื้นที่เกาะมากกว่า 17,000 เกาะ

อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าวอีกว่า ผู้นำอาเซียนในอนาคตจะเผชิญกับประเด็นใหญ่ 2 ประเด็น คือ ปัญหาโรฮีนจา ที่มีประมาณ 1 ล้าน 5 แสนคนที่ยังไม่มีสัญชาติ ที่จะทำให้ช่องแคบมะละกาเกิดปัญหาคล้ายโจรสลัดโซมาเลียที่ดักปล้นเรือสินค้า โดยขณะนี้ต่างชาติกำลังเพ่งเล็งอาเซียนอยู่ว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ถือเป็นบททดสอบทางด้านความมั่นคงของผู้นำอาเซียน

สำหรับปัญหาทะเลจีนใต้ที่มีปัญหาระหว่างหลายประเทศนั้น หากไม่แก้ปัญหาจะกลายเป็นปาเลสไตน์ที่มีการแย่งพื้นที่และทรัพยากรระหว่างกัน ซึ่งในเวทีอาเซียนแต่ละครั้งจีนพยายามยกเรื่องนี้ให้เป็นการพูดคุยแค่เฉพาะประเทศคู่กรณีในน่านน้ำทะเลจีนใต้เท่านั้น แต่ประเทศสมาชิกของผู้นำอาเซียนจะหยิบยกมาหารือในวงประชุมอาเซียนทุกครั้ง แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้งก็ตาม แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะได้รับผลกระทบตามมา ในขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่างเตรียมรับมือโดยมีการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพทางกองทัพ และยุทโธปกรณ์ เช่น การมีเรือดำน้ำ เป็นต้น ส่วนไทยวันนี้ต้องถามว่าควรที่จะมีแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายสุรินทร์ได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยควรสร้างอำนาจต่อรองกับต่างประเทศทั้งความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และการสร้างทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในเวทีระหว่างประเทศให้ความสนใจ ในการสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนระหว่างกัน

“เราไม่มีเรื่องกับใคร แต่ต้องประคองตัวให้เรามีศักยภาพ ให้เพื่อนมีความเคารพนับถือยำเกรงเรา และสามารถมีอำนาจต่อรอง รวมถึงทำให้เห็นว่าเรารับมือได้หากมีการรบ แต่เราก็ไม่เคยคิดที่จะรุกรานใคร เพียงแต่รักษาอธิปไตยที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุดเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นภารกิจที่ทหารเรือตัองดำรงหน้าที่นี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป ถ้าเราจะให้ประเทศเดินหน้าต้องเลิกเล่นกีฬาสี การเมืองภายในประเทศต้องเลิก เราต้องมียุทธศาสตร์ในการที่จะดึงประโยชน์ของประเทศให้เทียบกับในภูมิภาคได้แล้ว คำถามคือวันนี้เราพร้อมที่จะเล่นเกมนี้ไหม ที่ทุกอย่างของโลกต่างมาบรรจบกันในเวทีอาเซียน และประเทศไทยหากจะไปถึงจุดนั้นต้องใช้ความพร้อมอย่างไรบ้าง เราห้ามไม่ให้กระแสโลกาภิวัฒน์มาที่เราไม่ได้ เราหยุดอนาคตที่ไม่แน่นอนไม่ได้ เสด็จเตี่ย บิดาแห่งกองทัพเรือ เคยบอกว่าวันนี้เราเคราะห์ดี แต่ต่อไปจะเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่ถึงไม่รู้ก็ต้องเดินไป อนาคตกำลังมา เราต้องเตรียมพร้อม พัฒนาบุคลากรให้ดีเยี่ยม คนดีมีความรู้ต้องได้แสดงบทบาท พร้อมที่จะอยู่ในเวทีประชาคมโลกให้ได้อย่างสมภาคภูมิ” อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าว

นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยอยู่ในระหว่าง 2 มหาสมุทรใหญ่ คือ มหาสมุทรเอเชียแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีบริเวณช่องแคบมะละกา เป็นจุดสำคัญในการส่งออกจากตะวันออกกลางไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และส่งออกจากเอเชียแปซิฟิกไปยังยุโรป จุดสำคัญจุดนี้จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะศักยภาพของกองทัพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ประเทศไทยในพื้นที่ทางทะเลตั้งแต่จังหวัดระนองจนถึงสตูล เป็นเสมือนบริเวณช่องแคบมะละกาเช่นกัน ดังนั้นกองทัพจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเหมาะสม

เมื่อถามถึงความจำเป็นที่กองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทางกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ดี โดยคำนึงถึงภารกิจระหว่างประเทศและเสถียรภาพว่าจะสามารถเพิ่มสมรรถนะในส่วนนี้ให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆได้อย่างไร รวมถึงความรับผิดชอบและการดูแล ซึ่งในอดีตเราเคยมีเรือดำน้ำแล้ว และนำไปต่อที่ญี่ปุ่น ซึ่งอยากให้กองทัพพัฒนาศักยภาพให้รอบด้าน โดยเฉพาะบุคลากรว่ามีความรู้ความสามารถแค่ไหน เพราะปัจจุบันโลกวิวัฒนาการไปมาก การรักษาทรัพยากรทางทะเล จึงจะต้องดูแล โดยประเทศไทยต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมต่อไป

อดีตเลขาธิการอาเซียนยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประเทศไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ไปยังประเทศจีนว่า เรื่องนี้ประเทศไทยต้องชี้แจงให้สังคมโลกเข้าใจถึงสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว และเห็นด้วยที่รัฐบาลให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าไปดูการปฏิบัติของจีนที่จะดำเนินการกับชาวอุยกูร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องนำผลการปฏิบัตินั้นมาชี้แจงให้สังคมโลกเข้าใจต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องระวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไปกระทบต่อกิจการภายในของจีนด้วย อย่างไรก็ตาม มองว่ากระแสโลกให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งไทยจะต้องให้ความกระจ่างและตอบสังคมโลกให้ได้

เมื่อถามถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า ได้ติดตามการพูดคุยสันติสุขจากทั้งสองฝ่าย เห็นว่าได้หยุดชะงักไป แต่เชื่อว่าทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้เห็นต่าง เตรียมที่จะพูดคุยกันอยู่แล้ว เพราะสังคมโลกต่างจับตามองอยู่ว่าจะมีการพูดคุยหาทางออกร่วมกันอย่างไร ทั้งนี้เชื่อว่าการพูดคุยเท่านั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุดซึ่งจะสร้างความเข้าใจในพื้นที่ให้เกิดความสงบสุขได้


กำลังโหลดความคิดเห็น