xs
xsm
sm
md
lg

การเลือกตั้ง : โอกาสแสวงหาอำนาจของนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หนึ่งปีกว่าที่ คสช.ยึดอำนาจ และตั้งรัฐบาลบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 และจากวันนั้นถึงวันนี้รัฐบาลได้บริหารประเทศมา 10 เดือนกว่า

ถึงแม้ว่าเวลาที่ผ่านไปไม่นานนัก แต่ก็นานพอที่จะทำให้นักการเมืองซึ่งยึดถือการเลือกตั้งเป็นแก่นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้แสดงอาการอึดอัดและมีทีท่าว่าจะหมดความอดทน ทั้งนี้จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ทางการเมืองดังต่อไปนี้

1. ได้มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้านการปกครองที่เป็นอยู่ และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยไม่คำนึงว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความพร้อมหรือไม่มากน้อยเพียงไร

2. มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ในทำนองเดียวกับกลุ่มแรก

3. บางประเทศในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว

ถ้าพิจารณาจากปรากฏการณ์ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเกิดจากฐานแห่งความคิด และความต้องการอันเดียวกันคือ ต้องการให้ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามา แต่มิได้ลงลึกไปถึงว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โปร่งใส และยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน และด้วยเหตุใดที่สำคัญเหนืออื่นใด ผู้เรียกร้องทั้ง 3 กลุ่มนี้ไม่เคยทำความเสียหายอันเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาประเมิน และเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจว่ารัฐบาลไหนก่อความหายนะให้แก่ประเทศชาติโดยรวมมากน้อยกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะเวลา 10 กว่าปีนับถอยหลังจากนี้ไป

ทำไมนักการเมืองจึงต้องการให้มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เห็นแล้วว่าที่ผ่านมา การเลือกตั้งในภาวะที่ประชาชนไม่มีความพร้อมที่จะรองรับการเกิดขึ้นระบอบประชาธิปไตยได้ก่อปัญหา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมาตลอดนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา และดูเหมือนจะมากที่สุดในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อนโยบายประชานิยมได้ถูกนำมาใช้เพื่อชัยชนะทางการเมือง ภายใต้ระบอบทักษิณ

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น หาคำตอบได้ไม่ยาก ถ้าท่านผู้อ่านย้อนไปดูความเป็นมาของการเมืองไทย ก็จะพบปรากฏการณ์เกี่ยวกับบุคลากรซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองดังต่อไปนี้

บุคลากรซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ทั้งในระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตยอาจแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้

1. ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งในแง่ลบ และแง่บวก ผู้ประกอบการที่ว่านี้มีอยู่ในทุกภาคส่วนของวงการทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ผู้นำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม และสถาบันการเงิน เป็นต้น

2. นักการเมืองผู้แสวงหาอำนาจ ทั้งจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง

3. ข้าราชการระดับสูง ซึ่งมีทั้งได้รับประโยชน์ และถูกลงโทษจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่ละครั้ง

บุคลากรทั้ง 3 ประเภทนี้ เป็นปัจจัยหลักที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้น ยุคใดสมัยที่บุคคล 3 ประเภทที่เบื่อหน่าย และมีความคิดเห็นสวนทางกัน รัฐบาลที่บริหารประเทศก็จะรวมหัวกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และให้การสนับสนุนกลุ่มบุคคลที่พวกเขาเห็นด้วย และคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเกื้อหนุนให้เป็นรัฐบาล ก็สามารถทำได้ทั้งผ่านการเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงโดยการยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาล

ส่วนวิธีการจะทำให้รัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่พ้นไปจากการเป็นรัฐบาล และการหนุนให้ใครขึ้นมาเป็นนั้นขึ้นอยู่กับยุคสมัยนั้นๆ เป็นสำคัญ

วันนี้และเวลานี้ รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเกิดจากการที่ คสช.ยึดอำนาจหลังจากมีความวุ่นวายทางการเมือง อันเกิดจากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศล้มเหลว และขาดเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเหตุให้ประชาชนในนามของ กปปส.ได้ออกมาต่อต้านและขับไล่

แต่เมื่อบริหารประเทศมาได้ไม่ถึงปี รัฐบาลชุดนี้ส่อเค้าว่าจะพบกับความวุ่นวายทางการเมือง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจข้าวของแพง และผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมมีแนวโน้มว่าจะปิดตัวลง เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เห็นทีรัฐบาลนี้อาจพบกับเสียงก่นด่าแทนเสียงสรรเสริญก็เป็นไปได้ ในช่วงที่ดาวเสาร์เดินหน้าเล็งดาวอังคารและมฤตยูทับลัคนาดวงเมืองตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม-30 กันยายน 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น