xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ชงโมเดล"รัฐบาลแห่งชาติ" 2พรรคบริหาร-คสช.คุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง กระแสข่าวที่สมาชิก สปช. จะเสนอคำถามประชามติ ให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีคนกลางว่า เคยได้ยินว่า น.พ.ประเวศ วะสี เป็นผู้เสนอ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่เคยได้ยินว่าสมาชิก สปช. เป็นผู้เสนอ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ไม่ใช่หน้าที่ของ สปช. หน้าที่ของ สปช. คือวางแนวทางการปฏิรูปประเทศ และตนก็อยากทราบเหมือนกันว่า สมาชิก สปช.คนไหนเป็นผู้เสนอ ส่วนการเสนอหัวข้อประชามติ ก็ยังไม่ได้มีการหารือกัน เพราะการทำประชามติเป็นไปตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ขณะที่การตั้งชมรม สปช.เพื่อติดตามการปฏิรูปประเทศ ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เนื่องจากยังไม่ถึงเวลา
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่าไม่เคยได้ยินว่า สมาชิก สปช. จะเป็นผู้เสนอทำประชามติ ให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และนายกฯคนกลาง โดยส่วนตัวเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่เหมาะสม ที่ผ่านมา 1 ปีเศษ เรามีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ทำหน้าที่ประคับประคองผลักดันการปฏิรูปจนเสร็จ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว พอมีการเลือกตั้ง ก็ต้องให้รัฐบาลชุดใหม่ที่ได้รับเลือกเข้ามาได้ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ถือเป็นการคืนประชาธิปไตยให้กลับมา ไม่จำเป็นต้องมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
ส่วนหัวข้อการทำประชามตินั้น ตนมองว่าไม่ควรจะมีการเสนอคำถามที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญอีก เพราะหากมีประเด็นที่ขัดแย้งกันเอง ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมา การทำประชามติ ควรตั้งคำถามในประเด็นที่ประชาชนต้องได้รับผลกระทบโดยตรง อย่าง การเผชิญภัยแล้งปีนี้ น้ำขาดแคลนมาก ก็อาจตั้งคำถามประชามติว่า ควรทำเขื่อนแก่งเสื้อเต้นหรือไม่

** ชง พท.-ปชป.บริหาร คสช.คุม

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง ข้อเสนอจากทั้งพรรคเพื่อไทย และ สปช.บางส่วน เกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และการตั้งรัฐบาลร่วมกันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองว่า หากทำได้ก็จะดี แต่ไม่เชื่อว่านักประชาธิปไตย จะร่วมมือ หรือทำงานร่วมกับเผด็จการ แต่ถ้าถามว่า ทำได้จะดีหรือไม่ ตนว่าดี เพราะนักการเมืองเข้าใจการเมือง แต่ทหารไม่มีความเชี่ยวชาญทางการเมือง หากสามารถทำให้การเมือง และทหารลงตัวได้ เป็นเรื่องวิเศษมาก เพราะจะลงตัวทั้งการเมือง และความมั่นคง โดย คสช. ยังดูแลด้านความมั่นคง มีอำนาจเหนือรัฐบาล เพื่อดูแลไม่ให้การเมืองก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก แต่ใช้อำนาจจัดการให้สงบเรียบร้อยได้ แล้วก็ช่วยแก้ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองให้ได้
นายวันชัย กล่าวว่า หากทหาร กับการเมืองต้องตกลงร่วมกันเรื่องทำงาน การปรองดอง และการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม แก้ปัญหาคอร์รัปชัน การถ่วงดุล ตรวจสอบอำนาจรัฐ การปฏิรูปตำรวจ จะถือว่าเป็นรัฐบาลสร้างชาติ สร้างแผ่นดิน ตกลงร่วมกันเป็นสัญญาประชาคม ทหารคอยดูแลความเรียบร้อย ภาคการเมือง ก็ทำงานแก้ปัญหา มาจับมือทำสัตยาบัน แล้วมุ่งมั่นให้สำเร็จ ซึ่งจะเป็นภาพพจน์ที่ดี ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หยุดการทะเลาะ มุ่งไปสู่สัมฤทธิ์ผลภายใต้การควบคุมของคสช. แต่ตนคิดว่า การเมืองคงไม่ร่วมกับทหาร เพราะจะมองเรื่องของพรรคเป็นสำคัญ สุดท้ายจะกลับสู่วงจรอุบาทว์ แต่ถ้ายอมสละความเป็นพรรค มุ่งทำหลักใหญ่ให้การเมืองเดินไป จะเป็นเรื่องดีมาก และถ้าไม่ทำตอนนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะทำอีกแล้ว
" นายกฯ อาจต้องแสดงความจริงใจ พูดคุยกับทุกพรรคให้เห็นร่วมกัน ทำเป็นสัญญาประชาคม ก่อนก้าวสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้ายังขัดแย้งกัน คสช. ต้องมีอำนาจในการทุบโต๊ะได้ ถ้าทำได้ จะดีทุกภาคส่วน และควรทำในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่รอหลังการเลือกตั้ง" นายวันชัยกล่าว
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่เป็นข้อขัดแย้งต้องหยุดก่อน มุ่งไปสู่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ให้เป็นความเห็นพ้องต้องกันแล้วรีบทำ ถ้าเป็นนิรโทษกรรมเล็กน้อย ทำได้ทำเลย แต่นิรโทษกรรมที่ทำให้ขัดแย้ง อย่าทำ นายกฯ อาจต้องลองพูดกับพรรคการเมืองอย่างจริงจัง แต่ถ้าทำได้ก็จะดี โดยสามารถดึงตัวแทนพรรคการเมืองไปเป็นรัฐบาลเพื่อทำงานร่วมกัน แต่ทหารยังกำกับดูแลอยู่ ถ้าทำได้จริง ตนเห็นด้วยจะเรียกว่าเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ หรือรัฐบาลแห่งชาติก็ได้ แต่ต้องมีอำนาจทุบโต๊ะได้ เพื่อไม่ให้นักการเมืองแสวงประโยชน์ และต้องไม่ใช่การฮั๊วกัน เพราะประชาชนทั้งประเทศมองอยู่ ซึ่งในส่วนของสปช. ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ และตนไม่เคยได้ยิน แต่ได้รับทราบความเห็นนี้จากนายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นแนวทางประนีประนอม ร่วมกัน ลดความหวาดระแวง ถ้าได้ผลก็ดี ทำไม่ได้ผล ก็แก้ได้ แต่ต้องไม่ทำอะไรที่กระทบต่อเรื่องที่ประชาชนเคยต่อต้านไม่เช่นนั้นประชาชนก็ไม่ยอม
"เรื่องนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมือง ผมคิดว่าถ้าตกลงกันได้โดยมีหลักการที่ชัดเจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้สัญญาประชาคมว่าจะเดินทิศทางไหน ทุกคนจะพอใจ แต่เชื่อว่าพรรคการเมืองคงไม่ยอมลดอัตตาลงมาร่วมกับทหาร"
นายวันชัย กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตอนนี้มีบางคนพยายามแก้ไขข้อบังคับเพื่อให้เป็นการลงมติลับ โดยมีการเคลื่อนไหวกันแล้ว ซึ่งตนถือว่า ขัดต่อจารีตประเพณีของรัฐูธรรมนูญทุกฉบับ เพื่อให้สาธารณชนรับทราบจุดยืนของแต่ละคน เพราะฉะนั้นการลงมติโดยเปิดเผย เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ถ้าอยากให้ลับ เพราะมีลับลมคมใน ลับๆ ล่อๆ หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีวาระซ่อนเร้น ถ้ามีการเสนอ ตนจะคัดค้านอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ หากมีการเสนอตามขั้นตอน ต้องผ่านวิปก่อนนำไปสู่ที่ประชุมใหญ่ โดยการเคลื่อนไหวที่จะให้มีการแก้ข้อบังคับเพื่อลงมติลับนั้น เป็นผู้ใหญ่ใน สปช. 4-5 คน ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการขยับเขยื้อนแล้ว แต่ตนยังประเมินว่า สปช. ส่วนใหญ่คงไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแหกประเพณีปฏิบัติ จะได้รับการต่อต้าน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

**ชี้เป็นแนวคิดของ สปช.หลงอำนาจ

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวเสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า ตนเคยพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ มาตั้งแต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามเขียนเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก โดยใช้เสียงพิเศษ 2 ใน 3 ของสภาฯ ที่ระบุเช่นนี้ เพื่อเปิดทางไปสู่รัฐบาลแห่งชาตินั่นเอง แม้สังคมคัดค้านหนัก แต่แนวคิดนี้ยังคงอยู่ ไม่มีการตัดออก หรือแก้ไข เพราะเขาเชื่อว่า หากนำทุกพรรคการเมืองเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ จะสามารถขจัดความขัดแย้งลงไปได้ โดยไม่ดูบริบท แนวคิด อุดมการณ์การเมืองของแต่ละพรรค ถามว่าหากเป็นจริง ใครได้ประโยชน์
" ผมว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติทางการเมืองดีกว่า การจับพรรคการเมืองมาคลุมถุงชน หากเป็นอดีต คงสามารถทำได้ง่าย แต่ในภาวการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่าทำได้ยาก เพราะแต่ละพรรคมีอุดมการณ์ และแนวคิดต่างกัน การปล่อยข่าว หรือจุดพลุเรื่องรัฐบาลแห่งชาติในช่วงเวลานี้ คงไม่ใช่ทางออก"
เมื่อถามว่า เป็นการปล่อยข่าวของ สปช. บางสาย ที่คาดหวังให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมือง โดยเซ็ตซีโร่ กันใหม่หรือไม่ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ตนไม่มองว่าจะเป็นประโยชน์กับคนแดนไกล แต่ที่แน่ๆ เป็นประโยชน์กับคนแดนใกล้มากกว่า คือ สปช. บางกลุ่ม บางขั้ว ที่จะหมดวาระ แต่ยังเสพติดอำนาจ ก็พยายามตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้น เพื่อแสดงให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า เขายังสามารถที่จะชี้นำความคิดทางสังคมผ่านสื่อได้ เพื่อจะได้ไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญต่อ เช่น ส.ว.หรือในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หากเป็นรัฐบาลแห่งชาติจริง อาจจะได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน ครม.
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนตัวให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ. ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯนั้น นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะเปลี่ยนม้ากลางศึกในเวลานี้ อีกทั้งการยอมรับ บุคลิก และบารมียังห่างกันมาก แต่หากหลังการเลือกตั้งแล้ว และรัฐธรรมนูญยังระบุเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้ เมื่อถึงเวลานั้น ใครที่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ในมือได้ 2 ใน 3 ของสภาฯต่างหาก จะเป็นตัวชี้วัดว่า ใครจะเป็นนายกฯ แน่นอน

**"จ้อน"ปัดไม่เคยเสนอตั้งรบ.แห่งชาติ

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สปช. จะเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติว่า ตน ไม่ทราบว่ากระแสข่าวดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ยืนยันว่า สปช. ไม่เคยเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ และในคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส่งให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 8 คำขอ ก็ไม่มีเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม เคยมีสมาชิกบางส่วนพูดถึงเรื่องการหาทางออกให้กับประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ในลักษณะให้มีรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุด 2 พรรค ร่วมเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศจะเดินหน้าได้โดยไม่เกิดวิกฤติเหมือนช่วง10 ปีที่ผ่านมา แบบที่เรียกว่าแกรนด์คอลิชั่น (grand coalition) แตกต่างจากแนวทางเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งเป็นเพียงการพูดคุยในวงเล็กๆ เท่านั้น ยังไม่มีใครคิดนำเสนอต่อสาธารณชน เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น