ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“บ้าน” นับเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงที่คนคนหนึ่งอาจจะซื้อได้เพียงหลังเดียวในชีวิต ทำให้ต้องคิดแล้วคิดอีก เลือกแล้วเลือกอีก ทั้งทำเลซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของบ้าน และชื่อเสียงของผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์
แต่ใช่ว่าทุกคนจะสมหวังกับบ้านที่ตัวเองเลือกเสมอ เพราะที่ผ่านมาปรากฏข่าวคราวปัญหาหรือที่เรียกว่า “ทุกข์ของคนซื้อบ้าน” ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง บางรายประสบปัญหา บ้านไม่ได้คุณภาพ ตั้งแต่ปัญหาเล็กไปจนถึงปัญหาใหญ่ ซึ่งต้องบอกว่าอยู่ที่ดวงจริงๆ เพราะแทบจะไม่มีผู้ประกอบการรายไหนไม่มีปัญหาเรื่องงานก่อสร้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อเกิดปัญหาแล้วรีบเข้าไปดำเนินการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้ลูกบ้านหรือไม่ หากรีบดำเนินการแก้ไข ซ่อมให้ก็ถือว่าดี มีจริยธรรมในการประกอบการวิชาชีพ แต่หากปฏิเสธการรับผิดชอบก็นับเป็นทุกข์ของคนซื้อบ้านขนานแท้
“AP” อ่วม บ้านกลางกรุงทรุดกว่า 200 หลัง
โครงการบ้านที่มีปัญหาราย ล่าสุด โครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนนา (The Royal Viena) รัชวิภา ที่เกิดการทรุดกว่า 200 หลัง โดยตัวแทนลูกบ้านระบุว่า ถนนของหมู่บ้านทรุดตัวและดึงหน้าบ้านของลูกบ้านลาดเอียงลง ในส่วนของพื้นบ้านมีการทรุดตัว โดยเฉพาะบริเวณหน้าบ้านและหลังบ้านไม่มีเสาเข็ม เป็นแอ่งกระทะ พื้นปูดบวม ประตูรั้วบ้านปิดไม่ได้ ตัวบ้านบางส่วนมองเห็นเป็นโพรงลึก โดยเริ่มมีปัญหาพื้นถนนทรุดตัวเห็นชัดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และค่อยๆ ทรุดตัวลงเรื่อยๆ
สรุปรวมก็คือ มีบ้านที่ทรุดหนัก 69 หลัง บ้านที่มีรอยร้าวแผลเล็กน้อยทรุดไม่มาก 213 หลัง และได้ร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งสคบ.ได้เข้าไปทำการตรวจสอบเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา
นายสิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ให้ข้อมูลว่า ปัญหาของโครงการดังกล่าวเกิดจากการทรุดตัวของดินตามปกติ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า โครงสร้างหลักของบ้านใช้เสาเข็มยาว แข็งแรงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาการทรุดตัวที่เกิดขึ้น เป็นส่วนของลานซักล้างหลังบ้านและพื้นที่จอดรถหน้าบ้าน ซึ่งพื้นที่ทั้งสองส่วนเกือบทุกโครงการจะตอกเสาเข็มสั้นหรือบางโครงการไม่ตอกเสาเข็มแต่ใช้วิธีอัดพื้นแข็งและเทซีเมนต์ทับ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ซักล้างและลานจอดรถจะทรุดตัวเกือบทุกโครงการ
การที่โครงการดังกล่าวทรุดตัวลงมาก 50-60 เซนติเมตร อาจเกิดจากการถมดินที่สูงเกินไปจึงทำให้เกิดการทรุดตัวมากดังกล่าว ซึ่งบางหลังมีการต่อเติมเพิ่มพื้นรับน้ำหนักมากทำให้พื้นทรุดมาก บางหลังส่วนที่ต่อเติมนำมายึดกับตัวโครงสร้างหลักทำให้เกิดการแตกร้าว
อย่างไรก็ตามจะต้องดูว่าการทรุดตัวเริ่มเข้าที่หรืออยู่ตัวหรือยัง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะอยู่ตัว หรือจะมีการทรุดตัวเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนแนวทางการแก้ไข ทำได้ด้วยการรื้อตอกเสาเข็มบริเวณที่ทรุดตัวจะช่วยได้ ซึ่งปัจจุบันการตอกเสาเข็มไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีเทคโนโลยีในการตอกใหม่ๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใหญ่จนทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการตอกเยอะเช่นในอดีต
นายสิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า ข้อควรแนะนำสำหรับผู้ที่จะซื้อบ้านใหม่ หากไม่ต้องการให้พื้นลานจอดรถและลานซักล้างหลังบ้านทรุดตัว หากโครงการไม่ได้ตอกเสาเข็มหรือใช้เสาเข็มสั้น ควรเจรจากับทางโครงการหรือจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ทางโครงการตอกเสาเข็มยาวเพื่อป้องกันปัญหาการทรุดตัวในอนาคต
ด้านนายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP กล่าวถึงปัญหาการทรุดตัวของโครงการ บ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนนา ว่า ปัญหาการทรุดตัวน่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ การทรุดตัวโดยปกติของพื้นที่กรุงเทพที่ปกติจะทรุดตัวปีละ 1-2 เซนติเมตร และดินทรุดตัวจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 แม้ว่าพื้นที่ภายในโครงการจะไม่ท่วม แต่พื้นที่โดยรอบท่วม ประกอบกับโครงการติดกับคลองเปรมประชากรจึงทำให้พื้นดินทรุดตัวมากดังกล่าว ซึ่งโครงการดังกล่าวพัฒนามานาน โดยสร้างเสร็จและโอนบ้านหลังแรกเมื่อ 8-9 ปีที่ผ่านมา
“เมื่อบริษัทได้รับแจ้ง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ 2 ครั้งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 และ 10 พฤศจิกายน 2557 โดยพบว่าบ้านที่มีการทรุดตัวเกินกว่า 10 เซนติเมตรมีจำนวน 41 หลัง ที่เหลือเป็นการทรุดตัวน้อยกว่า 10 เซนติเมตร ซึ่งบ้านในโครงการดังกล่าวพื้นที่ซักล้างและส่วนพื้นที่จอดรถจะก่อสร้างแบบอัดพื้นแข็งไม่ได้ตอกเสาเข็ม เททับด้วยซีเมนต์เวลาผ่านไปพื้นจึงทรุดตัวตามการทรุดตัวของกทม.”
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือที่ผ่านมาได้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ บ้าน และสาธารณูปโภค โดยบ้านบริษัทกำหนดว่าหากทรุดตัวเกินกว่า 10 เซนติเมตร จะซ่อมให้โดยบริษัทจะจ่าย 70% ของค่าซ่อม ส่วนอีก 30% ลูกบ้านเป็นผู้จ่าย แนวทางการซ่อมแซมแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ 1.บริษัทจ่ายเงินให้ ลูกบ้านเป็นผู้หาช่างมาซ่อมเอง 2.ใช้ช่างซ่อมของบริษัท ลูกค้าแสดงความจำนงซ่อมเอง 23 หลัง ส่วน 18 หลังบริษัทซ่อมให้ รวมเป็นเม็ดเงินที่บริษัทต้องจ่ายประมาณ 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการทรุดตัวไม่ถึง 10 เซนติเมตรซึ่งบริษัทไม่ได้รับซ่อม ส่วนการซ่อมสาธารณูปโภคส่วนกลาง ได้แก่ ถนน สโมสร สระว่ายน้ำ กล้องวงจรปิด และซุ้มหน้าโครงการ รวมเป็นเงิน 13.3 ล้านบาท ปัจจุบันซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากทาง สคบ.และผู้เชี่ยวชาญได้เข้าทำการสำรวจ ตรวจสอบเรียบร้อย และมีข้อสรุปอกมาว่าจะให้บริษัทดำเนินการแก้ไขอะไรบ้าง บริษัทพร้อมและยินดีที่จะรีบดำเนินการ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป
“พฤกษา” ตอกเสาเข็มพลาดไม่ได้มาตรฐาน
ก่อนหน้าข่าวลูกบ้านเอพีเพียง 1 สัปดาห์ก็มีข่าวบ้านใน โครงการ เดอะ แพลนท์ บางแค ของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ตอกเสาเข็มไม่ได้มาตรฐานทำให้ตัวบ้านร้าว แต่การซ่อมแซมกลับล่าช้าตามช่างหลายครั้งกว่าจะมาซ่อมบ้านให้กระทั้งล่าสุดได้มาขุดหลุมเพื่อทดสอบเสาเข็ม แต่กลับไม่มาปิดหลุมรวมเวลานานนับ 10 เดือน ที่ผ่านมาได้พยายามติดต่อผ่านหลายช่องทาง โครงการ บริษัท Call Center แต่กลับเงียบเฉย จนกระทั่งลูกบ้านต้องออกมาตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป ซึ่งก็ได้ผลทางโครงการติดต่อกลับไปทันที และเรื่องรู้ไปถึงผู้บริหาร
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ การเข้าไปดูพื้นที่ในทันที โดยเบื้องต้นระบุว่าเสาเข็มไม่ได้มาตรฐาน และพร้อมที่จะรีบดำเนินซ่อมบ้านให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด โดยปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาตอกเสาเข็มให้ ทำให้ควบคุมงานไม่ทั่วถึง และโชคดีที่เกิดปัญหาเพียงหลังเดียว
“แสนสิริ” -“ควอลิตี้เฮ้าส์” ก็เจอปัญหา
ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวบ้านไม่ได้มาตรฐานออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ บ้านเศรษฐสิริ ประชาชื่น ที่แตกลายงา ราคาบ้าน 10 ล้านบ้าน ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน), บ้านลัดดารมย์ ชัยพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ ราคา 8 ล้านบาทของบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นราทั้งหลัง , บ้านทาวน์โฮม Garden Square สุขุมวิท 77 น้ำรั่วซึมราขึ้นทั้งหลัง บ้านราคา 15 ล้านของบริษัทแสนสิริ, บ้าน Palazzo หลังคาโรงจอดรถหล่นใส่รถ ของเอพี, บ้านสราญสิริ แจ้งวัฒนะ - ติวานนท์ มีรูรั่วรอบบ้าน ของแสนสิริ
นอกจากนี้ มีอีกหลายโครงการที่ไม่ได้กล่าวถึง
ทั้งนี้ ความผิดพลาดในงานก่อสร้างย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ความใส่ใจ บริหารหลังการขาย การดูแลลูกค้าเมื่อมีปัญหา กระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหา รีบส่งทีมช่างช่วยซ่อมบ้านให้กับลูกค้าเร็วแค่ไหนต่างหากที่จะทำให้ความรู้สึกของลูกบ้านดีขึ้นมาได้หลังจากที่บ้านมีปัญหา และที่กลายเป็นข่าวขึ้นมาส่วนใหญ่แล้วเกิดจากพนักงานไม่สนใจ ไม่รีบแก้ไขปัญหาให้ลูกบ้าน จนต้องร้องเรียนผ่านสื่อ ผ่านโซเชียลมีเดียทำให้ข่าวสารกระจายได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ปัญหาได้รับการดูแลทันที พร้อมกับภาพลักษณ์ที่เสียหายของบริษัท
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรรีบดำเนินแก้ไข หรือซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แล้วเสร็จ ดีกว่าที่จะให้ลูกค้าออกมาร้องเรียนผ่านสื่อต่างๆ เพราะสุดท้ายก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้