AP รับซ่อมบ้านโครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนา ทรุดเกิน 10 ซม. ขณะที่สาธารณูปโภคซ่อมเสร็จแล้ว ด้าน วสท.ระบุดินทรุดเรื่องปกติ คาดถมดินสูงเกินไปทำให้พื้นทรุดตัวมาก ยันโครงสร้างบ้านแข็งแรง แฉทุกโครงการไม่ตอกเสาเข็ม ใช้เข็มสั้นตอกโรงจอดรถ ลานซักล้างหลังบ้าน แนะตอกเสาเข็มเพิ่มป้องกันปัญหาพื้นทรุดในอนาคต
ภายหลังลูกบ้านโครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนา (The Royal Viena) รัชวิภา ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรื่องบ้านทรุดกว่า 200 หลัง โดยตัวแทนลูกบ้านระบุว่า ถนนของหมู่บ้านทรุดตัวและดึงหน้าบ้านของลูกบ้านลาดเอียงลง ในส่วนของพื้นบ้านมีการทรุดตัว โดยเฉพาะบริเวณหน้าบ้านและหลังบ้านไม่มีเสาเข็ม เป็นแอ่งกระทะ พื้นปูดบวม ประตูรั้วบ้านปิดไม่ได้ ตัวบ้านบางส่วนมองเห็นเป็นโพรงลึก โดยเริ่มมีปัญหาพื้นถนนทรุดตัวเห็นชัดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และค่อยๆ ทรุดตัวลงเรื่อยๆ มีบ้านที่ทรุดหนัก 69 หลัง บ้านที่มีรอยร้าวแผลเล็กน้อยทรุดไม่มาก 213 หลัง ซึ่ง สคบ.ได้เข้าไปทำการตรวจสอบเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา
ด้านนายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP กล่าวถึงปัญหาการทรุดตัวของโครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนา ว่า ปัญหาการทรุดตัวน่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ การทรุดตัวโดยปกติของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ปกติจะทรุดตัวปีละ 1-2 เซนติเมตร และดินทรุดตัวจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 แม้ว่าพื้นที่ภายในโครงการจะไม่ท่วม แต่พื้นที่โดยรอบท่วม ประกอบกับโครงการติดกับคลองเปรมประชากร จึงทำให้พื้นดินทรุดตัวมากดังกล่าว ซึ่งโครงการดังกล่าวพัฒนามานานเริ่มสร้างเสร็จและโอนหลังแรกเมื่อ 8-9 ปีที่ผ่านมา
“เมื่อบริษัทได้รับแจ้งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 และ 10 พฤศจิกายน 2557 โดยพบว่าบ้านที่มีการทรุดตัวเกินกว่า 10 เซนติเมตร มีจำนวน 41 หลัง ที่เหลือเป็นการทรุดตัวน้อยกว่า 10 เซนติเมตร ซึ่งบ้านในโครงการดังกล่าวพื้นที่ซักล้าง และส่วนพื้นที่จอดรถจะก่อสร้างแบบอัดพื้นแข็งไม่ได้ตอกเสาเข็ม เททับด้วยซีเมนต์เวลาผ่านไปพื้นจึงทรุดตัวตามการทรุดตัวของ กทม.” นายวิษณุ กล่าว
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือที่ผ่านมาได้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ บ้าน และสาธารณูปโภค โดยบ้านบริษัทกำหนดว่าหากทรุดตัวเกินกว่า 10 เซนติเมตร จะซ่อมให้โดยบริษัทจะจ่าย 70% ของค่าซ่อม ส่วนอีก 30% ลูกบ้านเป็นผู้จ่าย แนวทางการซ่อมแซมแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ 1.บริษัทจ่ายเงินให้ลูกบ้านเป็นผู้หาช่างมาซ่อมเอง 2.ใช้ช่างซ่อมของบริษัท ลูกค้าแสดงความจำนงซ่อมเอง 23 หลัง ส่วน 18 หลังบริษัทซ่อมให้ รวมเป็นเม็ดเงินที่บริษัทต้องจ่ายประมาณ 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการทรุดตัวไม่ถึง 10 เซนติเมตร ซึ่งบริษัทไม่ได้รับซ่อม ส่วนการซ่อมสาธารณูปโภคส่วนกลาง ได้แก่ ถนน สโมสร สระว่ายน้ำ กล้องวงจรปิด และซุ้มหน้าโครงการ รวมเป็นเงิน 13.3 ล้านบาท ปัจจุบันซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากทาง สคบ.และผู้เชี่ยวชาญได้เข้าทำการสำรวจ ตรวจสอบเรียบร้อย และมีข้อสรุปอกมาว่าจะให้บริษัทดำเนินการแก้ไขอะไรบ้าง บริษัทพร้อม และยินดีที่จะรีบดำเนินการ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป
วสท.ระบุดินทรุดตัวปกติ ยันโครงสร้างบ้านแข็งแรง
ด้านนายสิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ปัญหาของโครงการดังกล่าวเกิดจากการทรุดตัวของดินตามปกติ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า โครงสร้างหลักของบ้านใช้เสาเข็มยาว แข็งแรงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาการทรุดตัวที่เกิดขึ้นเป็นส่วนของลานซักล้างหลังบ้าน และพื้นที่จอดรถหน้าบ้าน ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนเกือบทุกโครงการจะตอกเสาเข็มสั้นหรือบางโครงการไม่ตอกเสาเข็ม แต่ใช้วิธีอัดพื้นแข็ง และเทซีเมนต์ทับ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ซักล้าง และลานจอดรถจะทรุดตัวเกือบทุกโครงการ
การที่โครงการดังกล่าวทรุดตัวลงมาก 50-60 เซนติเมตร อาจเกิดจากการถมดินที่สูงเกินไปจึงทำให้เกิดการทรุดตัวมากดังกล่าว ซึ่งบางหลังมีการต่อเติมเพิ่มพื้นรับนำหนักมากทำให้พื้นทรุดมาก บางหลังส่วนที่ต่อเติมนำมายึดกับตัวโครงสร้างหลักทำให้เกิดการแตกร้าว
อย่างไรก็ตาม จะต้องดูว่าการทรุดตัวเริ่มเข้าที่หรืออยู่ตัวหรือยัง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะอยู่ตัว หรือจะมีการทรุดตัวเพิ่มเติมหรือไม่ โดย วสท.จะลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านภายในโครงการบ้านกลางกรุง เดอะ รอยัล เวียนาอีกครั้ง ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทำได้ด้วยการรื้อพื้นโรงจอดรถ ลานซักล้างเพื่อตอกเสาเข็มบริเวณที่ทรุดตัวจะช่วยได้ ซึ่งปัจจุบันการตอกเสาเข็มไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีเทคโนโลยีในการตอกใหม่ๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใหญ่จนทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการตอกเยอะเช่นในอดีต
นายสิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า ข้อควรแนะนำสำหรับผู้ที่จะซื้อบ้านใหม่ หากไม่ต้องการให้พื้นลานจอดรถ และลานซักล้างหลังบ้านทรุดตัวในอนาคต ควรตรวจดูแปลนของบ้านว่าตอกเสาเข็มหรือไม่ หากไม่ได้ตอกเสาเข็มควรเจรจากับทางโครงการ หรือจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ทางโครงการตอกเสาเข็ม หรือใช้เสาเข็มยาวเพื่อป้องกันปัญหาการทรุดตัวในอนาคต
ดีบีเอสฯ เชื่อปัจจัยลบระยะสั้นแนะทยอยซื้อหุ้น AP สะสม
แม้จะเกิดปัญหาใหญ่ต่อลูกบ้าน แต่บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า ผลกระทบ : เป็นลบในแง่ภาพลักษณ์มากกว่าตัวเงิน เพราะเราเห็นว่าค่าซ่อมแซมจะไม่มากเทียบกับกำไรสุทธิต่อปีของบริษัทที่ประมาณ 3 พันล้านบาท อีกทั้งเรื่องนี้อาจจะมีความยืดเยื้อได้หากประนีประนอมไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทเข้ามาช่วยรับผิดชอบก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และการสืบสวนหาสาเหตุก็อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าบริษัทควบคุมได้หรือไม่ได้ เช่น หากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็เป็นเหตุสุดวิสัย แต่หากเป็นเรื่องโครงสร้างทางบริษัทก็ควรจะรับผิดชอบมากขึ้น
ดีบีเอส เห็นว่าเรื่องข้างต้นเป็นปัจจัยลบที่เข้ามาในระยะสั้น สำหรับข่าวดีที่เพิ่งผ่านมาคือ ประสบความสำเร็จในการขายคอนโดมิเนียมในงาน AP Space Connect (รวมกับการทำ Soft Launch ก่อนหน้า) ได้ยอดขายสะสมทั้งหมด ณ 28 มิ.ย.58 เป็น 11.3 พันล้านบาท มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ครึ่งปีแรกว่าจะขายคอนโดได้ 6.7 พันล้านบาท ในอัตรา 69% และใกล้เป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 15 พันล้านบาท และครึ่งปีหลังเตรียมเปิดขายคอนโดอีก 4 โครงการ เราคิดว่าในยามที่ภาวะตลาดหุ้นฯ มีความผันผวนสูง จะยิ่งตอบรับในทางลบต่อหุ้นที่มีข่าวไม่ดีเข้ามา แต่คาดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้น จึงแนะนำ ทยอยซื้อสะสม เมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลงมา เพราะยังมองว่า AP เป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี