xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปัก “ธงแดง” 3 เดือนที่ว่างเปล่า เจอซวยซ้ำ “แจ๊ดแดง” ทำเสียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก ฝุ่นตลบเรื่องมาตรฐานการบินที่ไทยสอบตกยังอีรุงตุงนัง ไม่ทันข้ามสัปดาห์ด้วยซ้ำ อดีตนายตำรวจใหญ่ที่ได้ดีเพราะพี่ให้ ดันเจอรวบคา สนามบินญี่ปุ่นเหตุพกปืนขึ้นเครื่อง ทำเอา “บิ๊กตู่” อารมณ์บ่จอย สั่งสอบเอาปืนผ่านสนามบินไทยไปได้อย่างไร?

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ “บิ๊กตู่” จะเสียงเข้มปลอบขวัญให้เชื่อว่าการติดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) หรือไอซีเอโอ เป็นคนละเรื่องกับการจับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) หรือ “บิ๊กแจ๊ด” เรื่องหนึ่งเป็นเรื่ององค์กร แต่อีกเรื่องเป็นกรณีความผิดส่วนบุคคล ก็ตาม

แต่ความจริงที่เป็นระเบิดเวลาที่รอรัฐบาลบิ๊กตู่อยู่เบื้องหน้าก็คือ ในปีหน้าไอซีเอโอ แจ้งมาแล้วว่าจะเข้ามาตรวจสอบการกำกับดูแลระบบรักษาความปลอดภัยสากลด้านการสร้างความปลอดภัยภายในสนามบิน ให้เตรียมตัวรอไว้ได้เลย

หากเกิดกรณีอภิสิทธิ์ชนอย่าง “บิ๊กแจ๊ด” ที่สามารถพกพาปืนผ่านการตรวจสอบของสนามบินสุวรรณภูมิอย่างไร้ปัญหา ฉะนี้แล้ว คณะรัฐบาลของบิ๊กตู่จะปลดชนวนไม่ให้เกิดการระเบิดตูมสนั่นซ้ำจากการเข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยภายในสนามบินของไอซีเอโอในปี หน้า ได้อย่างไรเล่า?

ถึง “บิ๊กตู่” จะทำใจดีสู้ปัญหา แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับบิ๊กแจ๊ดและการที่ไอซีเอโอ จะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยภายในท่าอากาศยานของไทย สร้างความวิตกกังวลให้กับ “บิ๊กจิน” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อย่างยิ่ง “.... ยอมรับว่ามีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ....”

อย่างไรก็ตาม นาทีนี้ บิ๊กจินทำได้แต่เพียงการยืนยันว่าท่าอากาศยานของไทย รวมถึงสายการบินที่เดินทางออกจากประเทศไทยได้ดำเนินการตามมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบการร้องเรียนและตรวจพบการนำสิ่งของต้องห้ามออกนอกประเทศ ส่วนการพกอาวุธออกนอกประเทศนั้น บิ๊กจิน บอกว่า สามารถทำได้ แต่ต้องมีการแจ้งใบอนุญาตพกอาวุธ และผ่านกระบวนการนำออกนอกประเทศอย่างถูกต้อง แต่กรณีดังกล่าวไม่มีการแจ้งพกอาวุธออกนอกประเทศแต่อย่างใด

เรื่องที่เกิดขึ้นชวนให้เกิดข้อสงสัยหลายประเด็นและเกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยภายในสนามบิน ก็คือ เมื่อไม่มีการแจ้งพกอาวุธออกนอกประเทศ และตอนขาเข้าญี่ปุ่นก็ตรวจไม่พบ ถ้าเช่นนั้น บิ๊กแจ๊ด เพิ่งไปซื้อปืนดังกล่าวที่ญี่ปุ่นและพกพานำกลับมาไทยจึงมีการตรวจเจอตอนขาออกจากญี่ปุ่นจะกลับไทย อย่างนั้นหรือ?

แล้วที่ บิ๊กแจ๊ด บอกว่าปืนนี้เพื่อนซื้อให้และไม่รู้ว่าอยู่ไหนลืมไปนานแล้ว ไม่รู้ว่ามาอยู่ในกระเป๋าเดินทางตั้งแต่เมื่อไหร่ จะเชื่อได้หรือไม่?

แล้วถ้าหากปืนอยู่ในกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ตอนขาออกจากสุวรรณภูมิไปญี่ปุ่น สแกนไม่พบ ก็หมายความว่าเครื่องสแกนซีทีเอ็กซ์ ที่กระทรวงคมนาคม ซื้อมาในราคาแพงระยับจนเป็นคดีข้อหาสินบนข้ามชาติ ไม่สามารถตรวจอาวุธได้ดังคำโฆษณา ใช่หรือไม่?

และถ้าหากปืนอยู่ในกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ตอนขาไป เหตุไฉนตอนขากลับจึงไปอยู่ในกระเป๋าติดตัวขึ้นเครื่อง แล้ว บิ๊กแจ๊ด ก็ปัดว่าไม่รู้มาอยู่ได้ไง?

คำอธิบายทั้งหลายทั้งปวงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ล้วนแต่สับสนปนเป และนี่แหละจะทำให้มองเห็นอนาคตรำไรว่าเมื่อไอซีเอโอ เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อไหร่ ไทยคงสอบตกตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

ฝีมือหรือผลงานจากการเดินเรื่องปลดธงแดง จากที่ไอซีเอโอขึ้นหราให้รับรู้กันในหมู่สมาชิกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 และไอซีเอโอให้โอกาสกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม ของไทย แก้ปัญหาให้เห็นผลภายใน 3 เดือน ก็พิสูจน์แล้วว่าสอบตก เมื่อเจอมาตรการขึ้นธงแดงประเทศไทยต่อสายตาคนทั้งโลก ทำเอา “บิ๊กจิน” มึนตึ๊บ

จะไม่ให้ บิ๊กจิน มึนงงได้อย่างไร เมื่อมาเจอกับการสื่อสารแบบไปไหนมาสามวาสองศอกระหว่างการสนทนากับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปชี้แจงกับไอซีเอโอ ซึ่งไม่รู้สื่อสารกันอีท่าไหน บิ๊กจินจึงยิ้มแก้มปริ ออกข่าวใหญ่โตเรารอดแล้วได้ไม่ทันตดหายเหม็น เว็บไซต์ของ ไอซีเอโอ ก็โชว์ธงแดงหราหน้าชื่อประเทศไทย ทำเอาบิ๊กจินที่หลงดีใจได้ชั่วข้ามวันถึงหน้าแหกเป็นริ้วๆ ร้อนถึงบิ๊กตู่ต้องออกมาปลุกปลอบให้กำลังใจมุ่งมั่นทำงานกันต่อไป

เรื่องมันเป็นยังไงกันแน่? เคลียร์กันให้ชัดอีกครั้ง เพราะต้องถือว่าธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวางระเบียบข้อบังคับสำหรับกิจกรรมการบินระหว่างประเทศระหว่างชาติ มีสมาชิก 190 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา นั้น มีความหมายและมีความสำคัญมากๆ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในวงกว้าง เพราะท่าทีของประเทศต่างๆ จะพัฒนาไปถึงขั้นเลวร้ายสุดคือห้ามไทยบินเข้าประเทศหรือไม่ก็มีพื้นฐานมาจากการตรวจสอบของไอซีเอโอเป็นตัวตั้ง

เรื่องของเรื่องก็คือ ตั้งแต่ต้น 2558 ปีมาแล้วที่ไอซีเอโอ เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน (เอสเอสซี) ของกรมการบินพลเรือน ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ข้อสรุปจากการตรวจสอบครั้งนั้นพบปัญหาสำคัญ 2 เรื่อง คือ การขนส่งสินค้าวัตถุอันตราย และการออกใบรับรองการบินให้กับสายการบิน (เอโอซี) ซึ่งตอนนั้นไอซีเอโอได้ปักธงแดงหน้าประเทศไทยเพื่อบอกกล่าวแก่ประเทศสมาชิกของไอซีเอโอให้รับรู้แล้ว พร้อมกับให้เวลาแก่ไทยแก้ไขปัญหา 90 วัน ให้เสร็จสิ้น แต่เมื่อครบกำหนดไทยไม่สามารถแก้ไขได้ ไอซีเอโอ จึงโชว์ธงแดงหน้าประเทศไทยต่อสาธารณะ ไม่ใช่จำกัดวงเฉพาะแต่ประเทศสมาชิกเท่านั้น

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้กรมการบินพลเรือนของไทยสอบตก ก็คือ ขั้นตอนการออกใบอนุญาตของกรมการบินพลเรือนซึ่งไอซีเอโอมองว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ มีสายการบินเกิดใหม่ที่ยื่นขออนุญาตมากมาย แต่อัตรากำลังคนในการออกใบอนุญาต กำกับดูแล มีอยู่เท่าเดิมไม่ถึง 10 คน แถมบางส่วนยังขาดใบรับรองอีกด้วย นอกจากปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ รูปแบบองค์กรไม่เป็นสากลแล้ว ยังมีปัญหากฎหมายและคู่มือปฏิบัติงานที่ล้าหลัง ฯลฯ เปรียบเปรยคล้ายๆ กับบริษัทห้องแถวต้องรับงานโปรเจ็กต์หมื่นล้าน ก็ต้องมีข้อสงสัยถึงฝีมือ ความสามารถ และมาตรฐานความเป็นสากล เป็นธรรมดา

อาจเรียกได้ว่ากรมการบินพลเรือนล้าหลังก้าวไม่ทันโลกอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วก็ว่าได้ ดังนั้น 3 เดือนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของกรมการบินพลเรือน ภายใต้การกำกับดูแลของ บิ๊กจินกับนายอาคม นั้น จึงเห็นได้ชัดว่าไม่สามารถ และเมื่อถึงเส้นตาย 18 มิ.ย. 2558 ธงแดงที่ปักหราหน้าประเทศไทยก็ยังคงอยู่ และไอซีเอโอก็เผยแพร่สถานะดังกล่าวของไทยออกสู่ต่อสาธารณะในวงกว้าง

นายอาคม ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นโดยสรุปรวมความได้ว่า เราไม่ได้สอบตก เรากำลังสอบอยู่เพราะการแก้ไขปัญหายังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และไอซีเอโอก็พอใจ ธงแดงนั้นก็ปักอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และผ่านไป 3 เดือน เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ลุล่วงก็ไม่ได้เอาลง ก็เท่านั้น

เป็นคำอธิบายอย่างไม่น่าเชื่อว่าคนระดับนายอาคม ซึ่งหมวกอีกใบเป็นถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะทำท่าแกล้งโง่ไม่รู้เรื่องว่า 3 เดือน แก้ไขปัญหาไม่ได้ มีความหมายว่าสอบตก หาใช่กำลังสอบอยู่ไม่

“ที่ผ่านมาไม่มีเรื่องการสื่อสารที่ผิดพลาดเกิดขึ้นแน่นอน เพราะไอซีเอโอ ไม่ได้ประกาศมาตรการอะไรเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยบอกว่าจะไปขอไม่ให้เขาติดธงแดง .... ไม่ใช่เราแก้ไม่ทัน แต่ช่วงระยะเวลา 90 วัน คือ ช่วงจัดทำแผน ไม่มีประเทศไหนสามารถใช้เวลาเพียงเท่านี้แก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ เราไม่เคยบอกว่าจะแก้เอสเอสซีให้เสร็จใน 90 วัน”

นายอาคม แถไปจนสีข้างถลอก

ขณะที่นายทหารอย่างบิ๊กจินเสียอีกที่กล้ายืดอกยอมรับ “....วันนี้ผลคือถูกปักธงแดง ก็ต้องยอมรับว่าเราสอบตก เราเป็นนักเรียนสอบตก ก็ต้องรับสภาพ แต่เป็นการปักธงแดงเฉพาะเรื่องเอโอซี (การออกใบรับรองการบินให้กับสายการบิน) เขาบอกว่าจะไม่ลงเว็บไซต์ เราเข้าใจว่าจะไม่ประกาศสาธารณะ แต่ตอนนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องมาดูอีกทีว่าจะแก้ไขอย่างไร ..... สาเหตุที่ทำให้ไทยสอบตกและถูกปักธงแดง เนื่องจากไทยยังไม่สามารถจัดทำคู่มือการตรวจสอบการออกใบอนุญาตการบินเสร็จทันกำหนด"

ส่วนที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า ไอซีเอโอจะไม่ประกาศสถานะไทยลงเว็บไซต์นั้น พล.อ.อ.ประจิน อธิบายว่า อาจเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างตนกับนายอาคมที่เป็นตัวแทนเดินทางไปหารือกับประธานไอซีเอโอ ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา และมีการส่งผลการหารือมาให้กับตน โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ไอซีเอโอพอใจกับท่าทีการแก้ปัญหาของไทย และหลังครบ 90 วัน จะไม่มีมาตรการอะไรกดดันไทยเพิ่มเติม ไม่ประกาศสถานะไทยต่อเว็บไซต์ด้วย ยกเว้นสถานะเอสเอสซี จะยังคงอยู่จนกว่าจะทำแผนแก้ไขสำเร็จ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่รู้ว่าใครพูดหรือฟังไม่รู้เรื่องกันแน่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวลุกลามเรื้อรังมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ต้องถามว่า แล้วจะยังไงต่อ?

หากว่า 3 เดือนที่ผ่านมามีไว้สำมะหาอะไร เหตุไฉนผลลัพธ์จึงออกมาเช่นนี้ ก็ต้องถามต่ออีกว่า มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี อย่างเหลือล้น จะมีไว้สำมะหาอะไร หากนายกรัฐมนตรีจะไม่ใช้อำนาจนั้นแก้ไขเรื่องนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤต

อย่าลืมว่า ขาที่ค้ำยันเศรษฐกิจไทยในเวลานี้เหลือแต่เพียงการท่องเที่ยวเท่านั้น หากอุตสาหกรรมการบินมีปัญหา เชื่อแน่ว่า มีเรื่องให้หวาดเสียว เศรษฐกิจจะทรุดหนักลงกว่านี้หรือไม่ รัฐบาลบิ๊กตู่จะได้อำลาเวทีแบบไปดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญ

สำหรับมาตรการปลดล็อกที่กระทรวงคมนาคม ขอให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหามีอะไร และแผนพาชาติรอดคราวนี้ต้องทำอะไรกันบ้าง มาดูกัน

ตามแผนแก้ไขปัญหามาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน (เอสเอสซี) ของกรมการบินพลเรือน ตามข่าวคราวที่ปรากฏ จะมีอยู่ 3 ระยะ คือ ระยะสั้น เป็นการแก้ไขคู่มือการออกใบอนุญาตการบิน และการสรรหาบุคลากรเข้ามาช่วยตรวจใบรับรองสายการบินใหม่ ซึ่งตามกำหนดเดิมในวันที่ 11 ก.ค. 2558 จะต้องเร่งตรวจสอบสายการบิน 41 สายการบิน แบ่งเป็นในประเทศ 28 สายการบิน และต่างประเทศ 13 สายการบิน ซึ่ง บิ๊กจิน บอกว่างานเร่งด่วนนี้ จะต้องว่าจ้างบุคลากรจากต่างประเทศที่มีใบอนุญาตเข้ามาร่วมตรวจสอบ

แผนระยะปานกลาง จะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือน การวางแผนกำลังคน การติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารและติดตามคุณภาพมาตรฐานสายการบิน และการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะเสนอรัฐบาลให้ใช้มาตรา 44 เร่งปรับโครงสร้างและแก้กฎหมายอย่างเร่งด่วน

ในการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือน ตามแผนจะแยกองค์กรเป็น 4 องค์กร คือ 1.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจการบินทั้งสายการบิน และสนามบินสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2.กรมการท่าอากาศยาน สังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่บริหารสนามบินของกรมการบินพลเรือนเดิม 28 แห่ง 3.สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของเรือและอากาศยานที่ประสบภัย และ4.สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือผู้รอดชีวิต

ส่วนแผนระยะยาว จะเป็นเรื่องการวางยุทธศาสตร์และการวางนโยบาย การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ทั้งในเรื่องนโยบาย และการบริหาร กำกับดูแล

แผนข้างต้นเหมือนจะฟังดูดี แต่ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ แผนเหล่านี้จะนำไปสู่การแก้ไขและปลดล็อกธงแดงได้จริงเพียงใด ดังเช่น เป้าหมายเร่งตรวจสอบออกใบรับรองสายการบินใหม่ให้เสร็จในเดือนต.ค.นี้ และเชิญไอซีเอโอมาประเมินใหม่ในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค.ปีนี้ จะเป็นไปได้ในทางความเป็นจริงหรือไม่ หากอยากทำให้เร็วแต่ไม่น่าเชื่อถือก็คงไร้ประโยชน์ อีกทั้งแผนระยะกลางและระยะยาวไอซีเอโอเห็นว่ายังไม่ชัดเจน

เวลานี้แผนดังกล่าว จึงยังไม่ได้นำเสนอต่อคสช. และครม. แต่อย่างใด

แต่จะใจเย็นเหมือนแม่น้ำก็คงไม่ไหว เพราะหลังจากไอซีเอโอ ปักธงแดงไทย หลายหน่วยงานก็เตรียมเข้ามาตรวจสอบ โดย 3 องค์กรระดับโลก ซึ่งมีมาตรฐานการตรวจสอบที่สูงกว่าไอซีเอโอเสียอีก

เริ่มจากวันที่ 25 มิ.ย.นี้ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (เอียซ่า) จะออกแถลงท่าทีทางการบินต่อไทยหลังถูกปักธงแดง จากนั้นวันที่ 13-19 ก.ค. 2558 องค์การการบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) จะเดินทางมาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย รวมทั้งองค์การความปลอดภัยการบินพลเรือนของออสเตรเลีย (คาซ่า) อีกด้วย

บิ๊กจิน คงต้องลุ้นจนเหงื่อตกอีกหลายยกว่าไทยจะรอดหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ความด้อยประสิทธิภาพ ไม่เป็นมืออาชีพของหน่วยงานรัฐ ที่ทำให้ไทยตกมาตรฐานการบินครั้งนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยสั่งห้ามไทยเพิ่มเที่ยวบินและเส้นทางบินใหม่รวมทั้งยกเลิกการบินแบบเช่าเหมาลำมาแล้ว และจีน เคยขอเข้ามาตรวจสอบ 6 สายการบินจากไทย แม้แต่การบินไทย ก็ถูกตรวจสอบอย่างถี่ยิบไปแล้วกว่า 50 ครั้ง ในรอบ 4-5 เดือน จากปกติที่ถูกสุ่มตรวจเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง แค่นั้น

ส่วนสายการบินอื่นที่จะเพิ่มเส้นทางบิน หรือขออนุญาตบินก็ต้องเจอมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสายการบินขนาดเล็กที่บินแบบเช่าเหมาลำก็ถูกตัดเส้นทางบินออกไปเลย เช่น เอเชียนแอร์ ที่ต้องลดเที่ยวบินลงและไม่สามารถขอเพิ่มเส้นทางบินใหม่ได้ หรือสายการบินเอเชียแอตแลนติก แอร์ไลน์ ก็ต้องยกเลิกแผนการรับเครื่องบินใหม่ หรือสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ที่ประกาศหยุดบินเส้นทางกรุงเทพ-ซัปโปโร ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป เพราะไทยถูกไอซีเอโอปักธงแดง และต้องขออนุญาตทำการบินได้เพียงระยะสั้นทุก 1 เดือน ทำให้ยากต่อการขายและทำการตลาด

นอกจากนั้น สายการบินหลักๆ กำลังดิ้นรนหาทางช่วยตัวเอง เช่น การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ นกแอร์ นกสกู๊ต บางกอก แอร์เวย์ส กำลังเตรียมดึงหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IOSA) มาตรวจมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการบิน ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะปลดล็อกให้หลุดพ้นขวากหนามทางธุรกิจ

วิกฤตครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก และมีชะตาอนาคตเศรษฐกิจของประเทศและความอยู่รอดของรัฐบาลบิ๊กตู่ เป็นเดิมพัน


องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) หรือไอซีเอโอ ติดธงแดงประเทศไทยผ่านหน้าเว็บไซต์ ประจานฝีมือการแก้ปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น