xs
xsm
sm
md
lg

ICAO ปักธงแดง ประเทศไทย ใครกันเป็นคนผิด ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกว่า งง ที่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ติดสัญญลักษณ์ธงแดง ให้กับประเทศไทย ในเว็บไซต์ของ ICAO เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา

ธงแดง คือ เครื่องหมายแสดงว่า กรมการบินพลเรือนของประเทศไทย ไม่สามารถแก้ไขปัญหา “ ข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย “ ( Significant Safety Concern : SSC ) ได้ภายในกำหนดเวลา 90 วัน

ก่อนหน้านั้น พลอากาศเอกประจิน ได้รับรายงานจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งเดินทางไปพบกับประธานไอเคโอว่า ทางซีซีเอโอพอใจกับแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง และจะไม่ประกาศในเว็บไซต์สาธารณะของไอเคโอ โดยจะคงเรื่องข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ (SSC) ไว้ก่อน

ไม่รู้ว่า เป็นเพราะการสื่อสารที่ผิดพลาด หรือ ใครหลอกใคร เพราะ ประธานไอเคโอ ก็พูดชัดเจนว่า จะคงเรื่อง SSC ไว้ก่อน

ข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยที่เป็นเรื่องสำคัญซึ่งกรมการบินพลเรือนสอบตกคือ กระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate - AOC) หรือ การออกใบอนุญาตให้สายการบินต่างๆ ซึ่งไอเคโอ เห็นว่า ไม่ได้มาตรฐาน ต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่

ว่ากันว่า ในช่วงที่กรมการบินพลเรือน มีอธิบดีชื่อ นายวรเดช หาญประเสริฐ ซึ่งอยู่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคือ นายชัชชาติ สุทธิพันธุ์ กรมการบินพลเรือน “ปล่อยผี” ออกใบอนุญาตการบินถึง 42 ใบ ภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือน

การออกใบอนุญาตการบินจำนวนมากเช่นนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เป็นเรื่อง “ คุณขอมา” จากนักการเมือง เหมือนกับเรื่อง การสร้างสนามบิน ในหลายๆ จังหวัดทางภาคอีสาน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่นักการเมืองในพื้นที่มีอำนาจ กดดันให้กรมการบินพลเรือนสร้าง

ข้าราชการประจำซึ่งคำนึงถึงตำแหน่งหน้าที่ ผลประโยชน์ส่วนตัว จึงจำเป็นต้องสนองความต้องการเหล่านี้ ยังไม่นับการแสวงหาประโยชน์ด้วยการค้าใบอนุญาตเสียเอง

โดยปกติ การตรวจสอบมาตรฐานการบิน เพื่อออกใบอนุญาต ต้องใช้เวลานานไม่ต่อกว่า 6 เดือน ต่อราย แต่กรมการบินพลเรือน ซึ่งอ้างว่า มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานการบินเพียง 11 คน สามารถออกใบอนุญาตจำนวนมาก ภายในระยะเวลาอันสั้น

เป็นเรื่องผิดวิสัย และเป็นชนวนให้ ไอเคโอตั้งข้อสงสัยจนต้องตรวจสอบจนพบว่า กระบวนการออกใบอนุญาตของกรมการบินพลเรือนไม่มีมาตรฐาน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงเรื่องการปลอดภัยในการทำการบิน

กรมการบินพลเรือน ต้องรื้อกระบวนการออกใบอนุญาตใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 8-9 เดือน ไม่ใช่ 90 วัน อย่างที่มีคนบอกพลอากาศเอกประจิน และต้องทบทวนตรวจสอบใบอนุญาตที่ออกไปก่อนหน้านี้ว่าได้มาตรฐานหรือไม่

การแก้ไขปัญหามาตรฐานการออกใบอนุญาต ตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับการบินอื่นๆ ตามโจทย์ที่ไอเคโอตั้งไว้ ก็ต้องอาศัยข้าราชการประจำของกรมการการบินพลเรือนทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะเป็นผู้ที่รู้เรื่องดีที่สุด

นายวรเดช ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการบินพลเรือนเมื่อปีที่แล้ว มาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง คมนาคม ได้รับการมอบหมายจากพลอากาศเอกประจิน ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เสนอให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน ที่พลอากาศเอกประจินเป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้ไอเคโอพิจารณา

จะมองว่า เป็นการเอาคนที่สร้างปัญหาไว้มาแก้ปัญหา หรือ เอาคนออกข้อสอบ คนตรวจข้อสอบ ที่ไอเคโอ ไม่รับรองผลการสอบ มาออกข้อสอบชุดใหม่ ก็แล้วแต่มุมมอง แต่ผลที่จะเกิดขึ้นต่อไป เป็นความรับผิดชอบที่พลอาอากาศเอกประจินไม่สามารถปฏิเสธได้



กำลังโหลดความคิดเห็น